ไลฟ์สไตล์

สารสกัดเปลือกเงาะสู่ส่วนผสมเครื่องสำอาง

สารสกัดเปลือกเงาะสู่ส่วนผสมเครื่องสำอาง

19 เม.ย. 2560

อาจารย์ ม.รังสิต วิจัยสารสกัดจากเปลือกเงาะ พัฒนาเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางได้ นำไปสู่การพัฒนาเป็นส่วนผสมที่ปลอดภัย ลดการนำเข้าสารเคมี-เครื่องสำอางต่างประเทศ

        ผศ.ดร.ปรานอม ขาวเมฆ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ผลไม้ซึ่งเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ และสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพหลายชนิด รวมถึงอุตสาหกรรมน้ำผลไม้ในประเทศไทย มีการนำผลไม้หลายชนิดมาผ่านกระบวนการแปรรูปเพิ่มมากขึ้น ผลพลอยได้จากการแปรรูปคือ เปลือก เยื่อผิว และเมล็ดของผลไม้ ส่วนใหญ่ถูกนำมาใช้ผลิตปุ๋ยชีวภาพ และเลี้ยงสัตว์ ทำให้มีมูลค่าลดลง การนำกลับมาใช้ใหม่ของผลพลอยได้นี้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญ ขึ้นอยู่กับชนิดและวัตถุประสงค์การนำไปใช้

สารสกัดเปลือกเงาะสู่ส่วนผสมเครื่องสำอาง

ผศ.ดร.ปรานอม ขาวเมฆ

        ทั้งนี้ งานวิจัยที่ได้ทำการศึกษาองค์ประกอบทางเคมี การศึกษาคุณสมบัติของการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ การศึกษาสมบัติการยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส และการผลิตครีมบำรุงผิวของสารสกัดจากเปลือกเงาะ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางที่ปลอดภัยต่อไป ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าสารเคมี และเครื่องสำอางจากต่างประเทศ

        “จากงานวิจัยพบว่า เมื่อนำสารสกัดในส่วนต่างๆ จากเปลือกเงาะ มาทดสอบฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระ โดยใช้วิตามินซีและวิตามินอีเป็นสารเปรียบเทียบพบว่า สารสกัดจากเปลือกเงาะ มีค่า IC50 อยู่ในช่วง 0.01 ถึง 0.13 ppm ส่วนวิตามินซี และวิตามินอี มีค่า IC50 เท่ากับ 1.52 และ 0.59 ppm ตามลำดับ ซึ่งจะพบว่าสารสกัดจากเปลือกเงาะ ให้ผลในการต้านอนุมูลอิสระที่ดีกว่าวิตามินซีและวิตามินอีค่อนข้างสูง”ผศ.ดร.ปรานอม กล่าว 

สารสกัดเปลือกเงาะสู่ส่วนผสมเครื่องสำอาง

        ผศ.ดร.ปรานอม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังพบว่าสารสกัดจากเปลือกเงาะเหล่านี้ยังช่วยยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ผิวมีสีหมองคล้ำ จากการศึกษาองค์ประกอบ ทางเคมีพบว่า สารประกอบที่น่าจะเป็นสารที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพนี้ คือ ascorbic acid, 3,4-dihydroxybenzoic acid และ 3,4-dihydroxybenzaldehyde จากการค้นข้อมูลโดยใช้ฐานข้อมูล Science Direct ยังไม่พบว่ามีงานวิจัยใดสามารถแยก ascorbic acid ได้จากสารสกัดของเปลือกเงาะ

สารสกัดเปลือกเงาะสู่ส่วนผสมเครื่องสำอาง

        นอกจากนี้ ยังพบว่าครีมบำรุงผิวที่ผสมสารสกัดหยาบจากเปลือกเงาะ เมื่อนำไปทดสอบการระคายเคืองผิว และทดสอบความชุ่มชื้นต่อผิวในอาสาสมัคร 25 คน เป็นเวลานาน 30 วัน พบว่า ไม่เกิดอาการระคายเคืองหรืออาการแดงต่อผิวหนัง ผลการทดสอบความชุ่มชื้นพบว่า ครีมบำรุงผิวที่ผสมสารสกัดจากเปลือกเงาะสามารถเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวได้ดี โดยมีความชุ่มชื้นอยู่ในช่วง 36.2 ± 0.1 ถึง 61.0 ± 0.1 % ส่วนครีมที่ไม่ได้ผสมสารสกัดจากเปลือกเงาะมีความชุ่มชื้นอยู่ในช่วง 31.1 ± 0.1 ถึง 57.7 ± 0.1 % สารสกัดจากเปลือกเงาะจึงมีศักยภาพที่จะสามารถนำมาพัฒนาเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางได้

สารสกัดเปลือกเงาะสู่ส่วนผสมเครื่องสำอาง