ปูก้ามดาบ สีสันประดับป่าชายเลน
ปูก้ามดาบคือตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลน เพราะหากที่ใดมีความสมดุลทั้งดิน น้ำ และพรรณไม้ ก็จะมีปูก้ามดาบอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
หากเปรียบนกเงือก คือดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ทางชีวภาพของผืนป่า “ปูก้ามดาบ” ก็คือตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลน เพราะหากที่ใดมีความสมดุลทั้งดิน น้ำ และพรรณไม้ก็จะมีปูก้ามดาบอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
เช่นเดียวกับป่าชายเลนหรือป่าโกงกางซึ่งอยู่ติดกับชายทะเลใกล้ท่าเทียบเรือตำมะลัง อ.เมือง จ.สตูล บนพื้นที่กว่า 200 ไร่ ปัจจุบันได้ถูกพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอยู่ในความดูแลของสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 34 (ตำมะลัง-สตูล) มีเส้นทางเดินที่ถูกสร้างขึ้นสูงกว่าพื้นดินประมาณ 2 เมตร รอบผืนป่า เพื่อให้ประชาชนเดินออกกำลังกาย และศึกษาธรรมชาติที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากเช่นลิง ค่างแว่นถิ่นใต้ นกหลากหลายชนิด และที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือ ปูก้ามดาบ ซึ่งสามารถพบเห็นได้ง่ายกลางป่าโกงกางแห่งนี้
ปูก้ามดาบ หรือ ปูเปี้ยว (Fiddler crabs, Ghost crabs) เป็นปูทะเลขนาดเล็ก มีลักษณะกระดองเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ก้านตายาว กระดองมีสีสันสวยงาม เช่นสีแดง สีฟ้า สีเหลือง สีเทาอมดำ โดยเฉาะตัวผู้จะมีก้ามข้างหนึ่งใหญ่มาก บางชนิดมีขนาดใหญ่และยาวพอๆ กับกระดองเลยทีเดียว ลักษณะเด่นดังกล่าวเลยกลายที่มาของชื่อเรียก ปูก้ามดาบ ซึ่งก้ามของปูตัวผู้เหล่านี้ จะใช้เป็นอาวุธโบกไปมาเพื่อข่มขู่ศัตรูหรือผู้บุกรุกที่เข้ามาในเขตอาณาเขตของมัน และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือเอาไว้เรียกร้องความสนใจจากตัวเมียในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ขณะที่ปูตัวเมียก้ามทั้ง 2 ข้างจะมีขนาดเล็กเท่ากัน
การเดินทางมาชมปูก้ามดาบที่นี่ต้องมาในช่วงเวลาที่น้ำลง เพราะรูปูจะโผล่ขึ้นมาเหนือผืนดิน จะเห็นปูก้ามดาบหลากหลายสีสันจำนวนมากออกมาหาอาหาร ไม่ห่างจากรูของมันมากนัก ซึ่งปูเหล่านี้มีสัญชาติญานการระวังภัยสูงมาก ฉะนั้นการที่สามารถดูและศึกษาพฤติกรรมของปูก้ามดาบให้ได้อย่างละเอียด จะต้องค่อยๆ เดินและใช้ความเงียบ เพราะหากมันตกใจกลัวจะวิ่งหนีลงรูอย่างรวดเร็ว
ปูก้ามดาบ แม้ไม่ถูกจัดให้เป็นเมนูอาหารทะเลเช่นปูชนิดอื่น แต่ก็เสี่ยงที่จะถูกคุกคามเนื่องจากมีคนนิยมจับไปเลี้ยงกันมากเพราะความสวยงามแปลกตา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ จึงต้องเข้ามาบูรณาการร่วมกันเพื่อสร้างจิตสำนึกและอนุรักษ์ปูก้ามดาบเหล่านี้ให้คงอยู่ โดยเฉพาะการรักษาสภาพป่าโกงกางให้ให้มีความเป็นธรรมชาติมากที่สุด เพราะปูก้ามดาบ คือหนึ่งในดัชนีชีวัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าชายเลนที่สำคัญ / เรื่อง-ภาพ จรูญ ทองนวล NationPhoto