
ภูมิแพ้...โรคใกล้ตัว
สารก่อภูมิแพ้ เป็นสารที่กระตุ้นให้เกิดอาการทางภูมิแพ้ได้แก่ โรคหอบหืด โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และโรคผื่นภูมิแพ้ทางผิวหนัง สารก่อภูมิแพ้ที่สำคัญที่สุดในประเทศไทยได้แก่ ตัวไรฝุ่น รองลงมาคือแมลงสาบ เกสรหญ้า เชื้อรา แมว และสุนัข
ตัวไรฝุ่น
ตัวไรฝุ่นเป็นแมลงขนาดเล็กที่มี 8 ขา มองไม่เห็นด้วยตา อาหารที่สำคัญของตัวไรฝุ่นคือ สะเก็ดผิวหนังมนุษย์ จึงพบตัวไรฝุ่นมากตามที่นอน หมอน ผ้าห่ม พรม ผ้าม่าน และเฟอร์นิเจอร์ สารก่อภูมิแพ้ของไรฝุ่นจะสามารถคงอยู่ในที่ที่มีสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมได้ถึง 18 เดือน
การขจัดตัวไรฝุ่นและสารก่อภูมิแพ้จากตัวไรฝุ่น
1.1 การคลุมที่นอนและเครื่องนอนต่างๆ สามารถทำได้โดยใช้พลาสติกหรือผ้ากันไรฝุ่น วิธีนี้เป็นเพียงการป้องกันไม่ให้ไรฝุ่นและสารก่อภูมิแพ้มาถึงตัวผู้ป่วย แต่ตัวไรฝุ่นยังสามารถเจริญเติบโตใต้ผ้าคลุมด้วย จึงควรใช้ที่นอนใหม่และซักปลอกหมอนหรือผ้าห่มด้วยน้ำร้อนเพื่อเป็นการทำลายตัวไรฝุ่น
1.2 การซักล้าง ควรซักผ้าปูที่นอน ปลอกหมอนและผ้าห่มด้วยการต้มที่อุณหภูมิมากกว่า 55 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 30 นาที ทุกๆ 1-2 สัปดาห์
1.3 ไม่ควรปูพรมทั้งชนิดที่เป็นขนสัตว์และใยสังเคราะห์ หลีกเลี่ยงการใช้เฟอร์นิเจอร์บุนวมที่หุ้มด้วยผ้าหรือขนสัตว์
1.4 หนังสือและเสื้อผ้าควรเก็บในตู้ที่ปิดมิดชิด
1.5 ไม่ควรมีของเล่นชนิดยัดภายในด้วยนุ่น ใยสังเคราะห์ หรือมีขนปุกปุย
แมลงสาบและสารแพ้จากแมลงสาบ
แมลงสาบเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่พบเป็นอันดับที่สองในประเทศไทย แมลงสาบต้องการอุณหภูมิที่อบอุ่น ความชื้น และอาหารจำพวกแป้ง จึงพบแมลงสาบมากในห้องครัวและห้องน้ำ โดยเฉพาะในที่ที่ มีคนอยู่กันอย่างหนาแน่น การควบคุมกำจัดแมลงสาบและสารก่อภูมิแพ้ในแมลงสาบ ทำได้ค่อนข้างยาก วิธีที่แนะนำได้แก่
2.1 การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ รวมทั้งการกำจัดเศษอาหารเหลือค้าง
2.2 การใช้กับดักแมลงสาบหรือเหยื่อพิษ
แมวและสุนัข
การควบคุมและขจัดสารก่อภูมิแพ้จากแมวและสุนัข
3.1 หากทำได้ งดเลี้ยงสัตว์เหล่านี้ ร่วมกับการทำความสะอาดแหล่งสะสมของสารก่อภูมิแพ้ วิธีนี้เป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุด
3.2 การใช้เครื่องกรองอากาศประสิทธิภาพสูง อาจช่วยลดปริมาณสารก่อภูมิแพ้เหล่านี้ได้ แต่ประสิทธิภาพในการกำจัดจะไม่ดี ถ้ายังมีสัตว์เลี้ยงอยู่ในบ้าน
3.3 หากไม่สามารถกำจัดสัตว์เลี้ยงออกไปได้ การอาบน้ำสัตว์เลี้ยงทุกสัปดาห์และการแยกสัตว์เลี้ยงไว้ภายนอกตัวบ้านจะช่วยลดปริมาณสารก่อภูมิแพ้ได้
เกสรพืช
1.1 เกสรหญ้า (grass pollen) เช่น หญ้าแพรก (Bermuda grass) หญ้าขน (para grass) กก (sedge) หญ้าพง (Johnson grass) ธูปฤาษี (cattail) เป็นต้น
1.2 เกสรวัชพืช เช่น ผักโขม (carelessweed)
1.3 สปอร์ของเฟิร์นชนิดต่างๆ
1.4 เกสรไม้ยืนต้น เช่น กระถินณรงค์ (Australian wattle) สนทะเล ไมยราบ มะม่วง ชมพู่ เป็นต้น
การหลีกเลี่ยงที่ทำได้
1. อาบน้ำชำระร่างกาย ล้างจมูกและล้างตา หลังจากไปในที่ที่สงสัยว่ามีเกสรพืช
2. สวมแว่นตาและปิดกระจกรถ เมื่อออกไปในบริเวณที่มีเกสรพืชมากๆ
3. เครื่องปรับอากาศหรือเครื่องกรองอากาศในที่อยู่อาศัย จะช่วยลดปริมาณสารก่อภูมิแพ้กลุ่มนี้ได้
สปอร์ของเชื้อรา
เชื้อรามักชอบอยู่ตามที่ชื้นและอับทึบหรือที่มีใบไม้แห้งร่วง ทับถมกันอยู่ จึงควรระวังดังนี้
1.อย่าให้ต้นไม้ใหญ่ที่มีใบหนาทึบขึ้นบังตัวบ้าน เพราะจะทำให้อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เกิดความอับชื้น
2.กำจัดใบไม้ที่ร่วงทับถมอยู่บนพื้น และเศษหญ้าชื้นแฉะในสนามทิ้งไป
3.หลีกเลี่ยงการปลูกพืชไว้ในตัวบ้าน
4.ทำความสะอาดห้องน้ำบ่อยๆ โดยเฉพาะกระเบื้องปูพื้นและผนัง ม่านพลาสติก ใต้อ่างล้างมือ โอ่งน้ำ โถส้วม และตามซอกมุม ซึ่งมักพบราดำอยู่
5.ทำความสะอาดห้องครัว ตู้เก็บอาหาร ตู้เย็นอย่างสม่ำเสมอ กำจัดอาหารที่เน่าเสียและมีเชื้อราขึ้น
6.ตากรองเท้า เสื้อผ้าและร่มที่เปียกชื้นให้แห้งสนิท
โรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม โทร.0-5322-4861