ไลฟ์สไตล์

ลุ้น! ผุด 2 กองทุน อุ้ม!" พนง.มหาวิทยาลัย"

ลุ้น! ผุด 2 กองทุน อุ้ม!" พนง.มหาวิทยาลัย"

05 พ.ค. 2560

   ถก 4 ฝ่าย "ทปสท.-CHES-สปสช.-สกอ." หนุนผุด "2 กองทุน" มีสปสข.ดูแล รองรับพนง.มหาวิทยาลัย 110,000 คน

        ถก 4 ฝ่าย "ทปสท.-CHES-สปสช.-สกอ." หนุนผุด "2 กองทุน" มีสปสข.ดูแล รองรับพนง.มหาวิทยาลัย 1.1 แสนคน  ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ สมศักดิ์ศรี มีความมั่นคง เล็งชง"หมอธี"พิจารณา แนะใช้รูปแบบเดียวกับ"อปท."ได้ผลมาแล้ว

          เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2560  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)ในการประชุมร่วม 4 ฝ่ายได้มีการประชุมหารือร่วมกัน ระหว่าง นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการสปสช. นายรัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย(ทปสท.) นายวีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ(CHES) และนางพัทนันท์ หรรษาภิรมย์โชค รองเลขาธิการ (CHES) พร้อมด้วยคณาจารย์ส่วนหนึ่งซึ่งเป็นตัวแทนบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา

          ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ   ประธาน ทปสท.เปิดเผย“เวบไซด์คมชัดลึก” ว่าที่ประชุมร่วม 4 ฝ่าย ได้มีการหารือถึงประเด็นสิทธิประโยชน์ ด้านการรักษาพยาบาลของพนักงานมหาวิทยาลัย ที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 110,000 คน โดยพนักงานฯต้องใช้สิทธิการรักษาพยาบาลผ่านประกันสังคม ซึ่งพนักงานฯ ต่างออกมาร้องเรียนเรื่องด้อยมาตรฐานการรักษา ทั้งด้า่นให้การบริการ และคุณภาพยา ทั้งที่จ่ายเงินเข้าระบบมากกว่าราชการ ดังนั้น กลุ่มพนังงานมหาวิทยาลัยจึงมีแนวคิดในการจัดตั้งกองทุนสุขภาพด้านการรักษาพยาบาล โดยให้สปสข.เป็นผู้บริหารกองทุนฯ

         นพ.ประจักษวิช เล็บนาค  รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ตามมาตรา 9 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 สามารถออกพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งกองทุนสุขภาพพนักงานมหาวิทยาลัยได้ ดังเช่นกรณีที่สปสช.เคยทำกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท)ได้สำเร็จมาแล้ว โดยในขั้นแรกจะต้องให้ระดับนโยบาย คือรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงเห็นชอบร่วมกันในหลักการก่อน

        ด้านดร.สุภัทร จำปาทอง เลาขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวว่า ตนก็เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว จึงมอบหมายให้ตัวแทนบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา ที่เข้าร่วมประชุมในฐานะคณะทำงานประสานงานกับทางสปสช.จัดทำขั้นตอนรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อให้ตนนำเสนอนพ.ธีระเกียรติ  เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) ซึ่งหากรัฐมนตรีเห็นชอบจะได้ดำเนินการต่อ ซึ่งแนวทางที่ต้องดำเนินการอาจต้องออกเป็น พ.ร.บ.สิทธิประโยชน์และสวัสดิการบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา 

         ผศ.ดร.รัฐกรณ์  กล่าวเสริมว่า โดยรวมเรื่องกองทุนการรักษาพยาบาลและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้ด้วยกัน  ซึ่งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็เป็นอีกหนึ่งข้อเรียกร้องของพนักงานมหาวิทยาลัย เนื่องจากปัจจุบันการให้แต่ละสถาบันดำเนินการจัดตั้งกองทุนเองทำให้กระจัดกระจาย เป็นเบี้ยหัวแตก กลายเป็นกองทุนที่เล็ก ได้ผลตอบแทนต่ำ จึงควรนำมารวมกันแล้วจัดตั้งเป็นกองทุนบำเหน็จบำนาญพนักงานมหาวิทยาลัยขึ้นมาใหม่ หรือหาแนวทางให้พนักงานมหาวิทยาลัยสามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.)ได้ ซึ่งรายละเอียดและขั้นตอนเกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะมีการนัดหารือร่วมกับตัวแทนกบข. เพื่อหาแนวทางร่วมกันในโอกาสต่อไป

        “ผมคิดว่าหากสามารถดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวได้ ก็จะเป็นการตอบโจทย์ข้อเรียกร้องของพนักงานมหาวิทยาลัย ได้มากกว่าการผลักดันร่างพ.ร.บ.ระเบียบการบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งมีทั้งข้าราชการและพนักงานออกมาคัดค้านอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวนอกจากไม่ตอบโจทย์พนักงานมหาวิทยาลัยแล้ว ยังไปกดขี่ ลดศักดิ์ศรีและความมั่นคงของข้าราชการลงอีกด้วย”ประธาน ทปสท. กล่าวสรุป