มารู้จัก!!หลักสูตรควายไทย (คลิป)
จากคำพูดที่ว่า"ขายควาย ส่งลูกเรียน" จนควายจะไม่เหลือในหมู่บ้านทำให้เกิดโครงการหลักสูตรควายไทย ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจให้แก่ชาวบ้านหันมาเลี้ยงควายเพื่ออนุรักษ์
ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงสัตว์ขุนทอง อำเภอบัวใหญ่ จ.นครราชีมา ได้จัดตั้งโครงการหลักสูตรควายไทย เพื่ออนุรักษ์ควายไทย"อำพัน นามบุญลือ" ประธานกลุ่มเลี้ยงสัตว์ขุนทอง เล่าว่า เมื่อก่อนชาวบ้านมักจะขายควาย ส่งลูกเรียนกันทั้งนั้น จนควายจะไม่เหลือในหมู่บ้านนี้แล้ว จากคำพูดที่ว่า "ขายควาย ส่งลูกเรียน" ทำให้เกิดโครงการนี้ หลักสูตรควายไทยเพื่ออนุรักษ์ควายไทย ขึ้นมา
ตัวโครงการนี้ทำหน้าที่ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจให้แก่ชาวบ้าน สอดแทรกการเรียนการสอนเกี่ยวกับควายไทยลงในหลักสูตรการเรียนการสอนปกติแบบบูรณาการไว้ด้วย โดยเริ่มสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่3 ตัวอย่างหลักสูตรการเรียนการสอนแบบบูรณาการในวันนี้จะเป็นวิชาศิลปะ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ดุษฎี ศรีฤทธิ์ นักวิชาการองค์การบริหารส่วนตำบลขุนทอง ได้เป็นผู้สอนในวันนี้ ได้ให้ชาวบ้านวาดรูปควายกับวิถีชีวิตของตนตามจินตนาการของแต่ละคนออกมา นอกจากการส่งเสริมความรู้และจินตนาการของชาวบ้านแล้ว ยังช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ที่ช่วยกันวาดรูปออกมา
อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์ควายไทย เป็นประเพณีที่สืบสานกันไปรุ่นต่อรุ่น มีการสอนการใช้ควายไถนาแบบโบราณ ให้เด็ก ๆ ได้ลงมือไถนากันจริง ๆ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้กันอย่างรวดเร็ว เพราะเมื่อได้ลงมือทำด้วยตัวเองแล้ว ทำให้จดจำวิธีการไถนาได้ง่ายและเข้าใจมากกว่าการสอนในรูปแบบทฤษฎีแต่เพียงในห้องเรียน ทุก ๆ คนในหมู่บ้านให้ความร่วมมือกันอย่างดี เด็ก ๆ มักสนุกสนานกับการออกมาทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวและเพื่อนบ้าน ทำให้คุณภาพชีวิตของคนในหมู่บ้านดีขึ้นด้วย นอกจากวิชาศิลปะแล้ว ยังสอนในรายวิชาอื่นๆด้วย อาทิ เช่น วิชาคณิตศาสตร์ วิชาวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
ทองสา แสงบุรัง ชาวบ้านอาชีพทำไร่ ได้เล่าว่าเมื่อก่อนครอบครัวของนางก็ทำนามาตลอด และเลี้ยงควายด้วย ปัจจุบันก็ยังเลี้ยงอยู่มี 2-3 ตัว และยังใช้ควายในการประกอบอาชีพทำไร่ แต่ไม่ใด้ใช้ไถนาเหมือนในอดีต ทุกเช้าจะใช้ควายไถไร่มันสัมปะหลังวันละ 1-2 งาน
“ จนถึงทุกวันนี้ยังใช้ควายไถแบบโบราณอยู่ทุกเช้าแต่ไม่ค่อยได้ไถนา จะไปไถไร่อ้อยไร่มันสัมปะหลังมากกว่า ไถได้วันละงานสองงานก็ยังดี ยังอนุรักษ์มันไว้อยู่ก่อนหน้านี้คนส่วนใหญ่จน จะส่งลูกเรียนก็ยอมขายควายทิ้งไปเปล่าๆเสียโครงการจัดตั้งขึ้นมาก็ดี จะได้อนุรักษ์ควายไว้" นางทองสากล่าว
(ขวา) ทองสา แสงบุรัง
สำหรับโครงการเลี้ยงควายไทยจะใช้ระบบปิด และเลี้ยงแบบธรรมชาติอย่างถูกวิธีทำให้ควายที่นี่มีสุขภาพดี และยังง่ายต่อการจัดการดูแลอย่างเป็นระบบอีกด้วย ชาวนาที่จะรวมกลุ่มกันมาเข้าโครงการเสียค่าสมาชิกแรกเข้าคนละ 100 บาท โครงการมีควายให้ยืมไปเลี้ยง 1-2 ตัวเพื่อใช้ทำไร่ ทำนา และได้มูลสัตว์ไปขายให้ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน เอามาทำเป็นปุ๋ยอัดเม็ด และขายกลับคืน ให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกในราคาถูก แถมมีประสิทธิภาพ เหมาะกับพื้นที่ดินทำนาของแต่ละพื้นที่
โดยขั้นตอนแรกต้องเริ่มจากการที่ชาวบ้านต้องเข้ามาเป็นสมาชิก เอาดินในพื้นที่ของตนมาให้ ศูนย์ฯประเมินว่าควรใช้ปุ๋ยสูตรไหน จากนั้นนำมูลสัตว์มาให้ ศูนย์ฯเพื่อทำปุ๋ยให้ตรงกับดิน ปุ๋ยจากโครงการจะช่วยปรับสภาพดิน และวัชพืชจะไม่ขึ้น แถมมีราคาที่ถูกช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกร ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีในการฆ่าแมลงอีกด้วย หากเทียบราคาจากปุ๋ยยูเรีย กิโลกรัมละ7-800 บาท ปุ๋ยจากโครงการมีราคาเพียง กิโลกรัมละ 200 บาทเท่านั้นเอง ซึ่งเป็นผลดีอย่างมากต่อเกษตรกรไทย
ปัจจุบันควายไทยในตำบลขุนทองที่อยู่ในโครงการมีมากถึง 93 ตัวในเวลา 3-4 ปี จากจุดเริ่มต้นเพียงไม่กี่ตัว โดยการให้สมาชิกกลุ่มได้เข้ามาเป็นสมาชิกและให้ยืมควายไป เมื่อควายออกลูกได้ 18 เดือน จึงนำลูกควายมาคืนให้โครงการ ด้วยระบบนี้จึงทำให้ชาวบ้านให้ความร่วมมือกันอย่างดี ยังช่วยในเรื่องปัญหาการเงินของชาวบ้านอีกด้วย ปัจจุบันมีกลุ่มที่แยกตัวออกไปและได้ใช้ระบบเดียวกันนี้พัฒนาชุมชนของตัวเองได้อย่างยั่งยืน
"ศุกฤษณพงศ์ ศิริศักดิ์" นายกองค์การบริหารส่วนตำบลขุนทอง อำเภอ บัวใหญ่ จังหวัด นครราชสีมา กล่าวว่า การให้ชาวบ้านร่วมกลุ่มมาเป็นสมาชิกไม่ใช่เรื่องยาก เมื่อทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่าเราทำแล้วเราจะได้อะไร ส่งผลดีอย่างไร กับตัวชาวบ้าน การร่วมกลุ่มชาวบ้านเมื่อก่อนจะร่วมกลุ่มกันมาขอเงินไปแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุเสียมากกว่า แต่ในปัจจุบันชาวบ้านแห่งนี้จะรวมกลุ่มกันเพื่อมาขอการสนับสนุน ซึ่งส่งผลดีอย่างมากเพราะมันทำให้ชุมชนพัฒนาขึ้นมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ