ไลฟ์สไตล์

ขันติธรรม

ขันติธรรม

10 ก.ย. 2552

ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน ต้องยอมรับว่า นายกรัฐมนตรีถูกใส่ร้ายป้ายสีอย่างรุนแรง หลายเรื่อง

 อาตมาจึงขอหยิบยกเรื่อง สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เคยถูกพวกเดียรถีย์ คนพาล ปัญญาโฉดเขลา ให้ร้ายป้ายสีอย่างรุนแรง เพื่อทำลายพระพุทธเจ้า

 ตัวอย่างเรื่องหนึ่ง (พระธัมมปทัฏฐกถาแปล ภาค ๗ เรื่องของพระองค์ : พระศาสดาถูกพวกมิจฉาทิฏฐิด่า หน้า ๒๑๑-๒๑๖) คือ

  สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จไปประทับอยู่ใกล้กรุงโกสัมพี ซึ่งเป็นนครหลวงแห่งแคว้นวังสะ ได้มีพวกมิจฉาทิฏฐิ ผู้ไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัย ได้ติดตามบริภาษ  คือ ด่าว่าพระพุทธเจ้าต่างๆ นานา ด้วยถ้อยคำด่า ๑๐ อย่าง เป็นต้นว่า

 "เจ้าเป็นโจร เจ้าเป็นคนพาล เจ้าเป็นคนหลง เจ้าเป็นอูฐ  เจ้าเป็นโค เจ้าเป็นลา เจ้าเป็นสัตว์นรก เจ้าเป็นสัตว์เดรัจฉาน สุคติไม่มีสำหรับเจ้า ทุคคติเท่านั้น เจ้าพึงหวัง"

 จน พระอานนท์เถรเจ้า พระพุทธอุปัฏฐากทนไม่ไหว  จึงกราบทูลขอให้เสด็จไปสู่เมืองอื่น พระพุทธองค์ ก็ได้ตรัสถามท่าน พระอานนท์ว่า ถ้าไปเมืองนั้น แล้วมีคนเขาด่าอีกล่ะ เธอจะไปไหน

 พระอานนท์ก็กราบทูลพระองค์ ว่า ไปเมืองอื่นต่อๆ ไปอีก พระองค์ก็ตรัสอย่างเดิมอีก จนสุดท้าย พระองค์ตรัสว่า

 “อานนท์ การทำอย่างนั้น ไม่ควร อธิกรณ์เกิดขึ้นที่ใด  เมื่อมันสงบแล้ว ในที่นั้นแหละ การไปสู่ที่อื่นจึงควร ; อานนท์ ก็พวกใดล่ะที่ด่า”

 พระอานนท์ กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชนทั้งหมด ตลอดจนกระทั่งพวกทาส และกรรมกร ที่พากันด่าพระเจ้าข้า”

 พระพุทธองค์ จึงตรัสกะพระอานนท์ ว่า “อานนท์ เราเป็นเช่นกับช้าง ที่เข้าสู่สงคราม, การอดทนต่อลูกศรที่แล่นมาจาก ๔ ทิศ เป็นภาระของช้างที่เข้าสู่สงคราม ฉันใด, ชื่อว่า การอดทนถ้อยคำที่ชนทุศีลแม้มาก กล่าวแล้ว เป็นภาระของเรา ฉันนั้น เหมือนกัน”

 เมื่อทรงปรารภพระองค์แสดงธรรม ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ ในนาควรรค ว่า
 “เราจักอดกลั้นคำล่วงเกิน เหมือนช้างอดทนลูกศร ที่ตกจากแล่งในสงคราม ฉะนั้น, เพราะชนเป็นอันมาก เป็นผู้ทุศีล ชนทั้งหลาย ย่อมนำสัตว์พาหนะ ที่ฝึกแล้ว ไปสู่ที่ประชุม, พระราชาย่อมทรงสัตว์พาหนะที่ฝึกแล้ว, บุคคล ผู้อดกลั้นคำล่วงเกินได้ ฝึก (ตน) แล้ว เป็นผู้ประเสริฐ ในมนุษย์ทั้งหลาย, ม้าอัสดร ๑ ม้า สินธพผู้อาชาไนย ๑ ช้างใหญ่ชนิดกุญชร ๑ ที่ฝึกแล้ว ย่อมเป็นสัตว์ประเสริฐ, แต่บุคคลที่มีตนฝึกแล้ว ย่อมประเสริฐกว่า (สัตว์พิเศษนั้น)”

 นี่คือตัวอย่าง ผู้นำสูงสุดในพระพุทธศาสนา คือ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีพระทัยหลุดพ้นแล้ว จากสรรพกิเลสทั้งปวง ทรงไม่หวั่นไหวต่อถ้อยคำล่วงเกิน ด้วยขันติธรรม และด้วยพระสติปัญญาอันเห็นชอบ

"พระราชญาณวิสิฐ (หลวงป๋า)"