คืนน้ำใสให้คลองแสนแสบ
กรมควบคุมมลพิษ แก้ไขปัญหาน้ำในคลองแสนแสบ เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่สะอาดและปลอดภัย มีภูมิทัศน์สวยงาม
ขึ้นชื่อว่า “คลองแสนแสบ” เชื่อว่าหลายๆ คน คงคุ้นหูและชินตากับวิถีชีวิตการเป็นอยู่ของผู้คนที่ผูกพันกับสายน้ำแห่งนี้ ซึ่งเดิมทีคลองแห่งนี้ เป็นเส้นทางขนส่งอาวุธยุทธภัณฑ์กำลังรบและเสบียงอาหารในสมัยสงครามอานามสยามยุทธ แต่ทว่าหลังจากนั้นมาคลองแห่งนี้ ใช้เป็นช่องทางเรือโดยสารให้ผู้คนสัญจรไปมาในชีวิตประจำวันเพราะสะดวก รวดเร็ว และอากาศปลอดโปร่ง
แต่ปัจจุบัน คลองแสนแสบมีสภาพน้ำเน่าเสีย สิ่งแวดล้อมถูกทำลาย ภูมิทัศน์ทั้ง 2 ฝั่งคลองไม่น่าดู ซึ่งสาเหตุของปัญหาไม่ได้มาจากชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม หรือ สถานประกอบการเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่มาจากหลายปัจจัย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมควบคุมมลพิษ จึงได้เดินหน้าบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการพัฒนา ปรับปรุง และแก้ไขปัญหาน้ำในคลองแสนแสบและบริเวณโดยรอบ ให้เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่สะอาดและปลอดภัย มีภูมิทัศน์ที่สวยงามและเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำของกรุงเทพมหานคร เพื่อประโยชน์ต่อชุมชน ประชาชน และนักท่องเที่ยว โดยดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการเพื่อให้คลองแสนแสบใสสะอาดตามนโยบายรัฐบาล
ทั้งนี้ ภายใต้แผนปฏิบัติการดังกล่าว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมควบคุมมลพิษ ได้ดำเนินงานตามแผนงานที่ 1 การปรับปรุงคุณภาพน้ำ : การบังคับใช้กฎหมาย และให้ความรู้ด้านการจัดการน้ำเสียแก่ผู้ประกอบการ โดยมีความคืบหน้าของผลการดำเนินการ ดังนี้
1.การตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษ โดยเข้าตรวจสอบการระบายน้ำทิ้ง และบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษประเภทอาคารและที่ดินจัดสรร ริมคลองแสนแสบ แล้ว 434 แห่ง จาก 631 แห่ง (เดือนตุลาคม 2558 – มีนาคม 2560) คิดเป็นร้อยละ 69 ของแผนที่กำหนด พบว่ามีแหล่งกำเนิดมลพิษระบายน้ำทิ้งออกสู่สิ่งแวดล้อมเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด จำนวน 288 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 70
เจ้าพนักงานควบคุมมลพิษ จึงได้ดำเนินการมาตรการทางปกครอง ออกคำสั่งให้ปรับปรุงแก้ไข ซ่อมแซมระบบบำบัดน้ำเสียภายในระยะเวลาที่กำหนด พร้อมตรวจติดตามการปฏิบัติตามคำสั่ง และเก็บตัวอย่างน้ำทิ้งอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้ ยังมีแหล่งกำเนิดมลพิษที่ฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง และอยู่ในขั้นดำเนินการปรับเป็นรายวันแล้ว จำนวน 20 แห่ง
นอกจากนี้ กรมควบคุมมลพิษยังได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีความรู้ทักษะเพิ่มขึ้นในการดูแลระบบบำบัดน้ำเสียให้ได้มาตรฐาน โดยลงพื้นที่ให้คำแนะนำเชิงลึกในการดูแล และแก้ไขระบบบำบัดน้ำเสีย ให้คำแนะนำด้านกฎหมาย ให้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งลงพื้นที่ให้คำแนะนำแล้ว จำนวน 20 แห่ง ส่วนผลการบังคับใช้กฎหมาย : แหล่งกำเนิดมลพิษปฏิบัติตามกฎหมายในการระบายน้ำทิ้ง คิดเป็นร้อยละ 37.6 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิม ร้อยละ 30
2.การจัดอบรมเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ แล้วจำนวน 4 ครั้ง
ครั้งที่ 1 จัดสัมมนากลุ่มเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษ ประเภทโรงแรม อาคารชุด โรงพยาบาล ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ตลาด และที่ดินจัดสรร เมื่อวันที่ 22, 27 และ 28 กรกฎาคม 2559 มีผู้เข้าร่วม จำนวน 544 คน
ครั้งที่ 2 จัดสัมมนากลุ่มเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษ ประเภทอาคารสำนักงาน โรงเรียน และที่ดินจัดสรร เมื่อวันที่ 19 – 20 ธันวาคม 2559 มีผู้เข้าร่วม จำนวน 300 คน
ครั้งที่ 3 จัดสัมมนาให้ความรู้ด้านแนวทางการจัดการแก้ไขระบบบำบัดน้ำเสีย เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายให้แก่ผู้ประกอบการ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2559 มีผู้เข้าร่วม จำนวน 144 คน
ครั้งที่ 4 จัดการประชุมเพื่อให้ความรู้ สร้างจิตสำนึก ให้แก่เจ้าของสถานประกอบการ ชุมชน และประชาชนทั่วไป ที่อยู่ในพื้นที่คลองแสนแสบ ทั้ง 21 เขต ของ กทม. ในวันที่ 25 มกราคม 2560 โดยมี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ เป็นประธานเปิดการประชุม มีผู้เข้าร่วมจำนวน 861 คน
3.จัดประชุมหารือบูรณาการการแก้ไขปัญหาคลองแสนแสบ โดยจัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร กรมการปกครอง กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมที่ดิน กรมเจ้าท่า กรมอนามัย และสำนักงานเขต 21 เขต ในพื้นที่ริมคลองแสนแสบ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2560 เพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางการจัดการน้ำเสียคลองแสนแสบ และแนวทางการจัดการขยะมูลฝอยริมคลองแสนแสบ โดยที่ประชุมมีมติให้กรมควบคุมมลพิษทบทวนแผนดำเนินการและนำแนวทางดังกล่าวไปบูรณาการกับแผนปฏิบัติการฟื้นฟูคุณภาพน้ำคลองแสนแสบของกรุงเทพมหานคร เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งกรมควบคุมมลพิษ อยู่ระหว่างการปรับแผนดำเนินการเป็นระยะ 1 ปี 5 ปี และ 20 ปี เพื่อให้เป็นไปตามที่ คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกำหนด
ทั้งนี้ จากการดำเนินงานดังกล่าวข้างต้น ทำให้ประชาชน และผู้ประกอบการในพื้นที่ริมคลองแสนแสบได้รับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำ และเข้ามามีส่วนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในการฟื้นฟูคลองแสนแสบให้กลับมาใสสะอาด เมื่อดำเนินงานแล้วเสร็จตามแผนปฏิบัติการเพื่อให้คลองแสนแสบใสสะอาด แหล่งกำเนิดมลพิษในพื้นที่ริมคลองแสนแสบและคลองสาขา มีการระบายน้ำทิ้งออกสู่สิ่งแวดล้อมเป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด สามารถยกระดับคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบให้มีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และเป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่สะอาดปลอดภัย คุณภาพสิ่งแวดล้อมดี ให้ประโยชน์ต่อชุมชน ประชาชนและเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนสืบไป