ฟังเสียงผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ก่อนรัฐจะปรับปรุง
ปัจจุบันมีผู้ใช้สิทธิบัตรทองราว 49 ล้านคน!!! เมื่อรัฐบาลจะมีแนวนโยบายในการปรับปรุงบัตรทองไปในทิศทางไหนจึงจำเป็นต้องฟังเสียงจากผู้ใช้สิทธิด้วย
ตลอด 15 ปีนับตั้งแต่ปี 2545 ที่ประเทศไทยมี “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” หรือที่เรียกกันในยุคแรกว่า “30 บาทรักษาทุกโรค” ก่อนที่ปัจจุบันจะเปลี่ยนชื่อเล่นเป็น “บัตรทอง” ได้เพิ่มการเข้าถึงสิทธิรักษาพยาบาลให้แก่คนไข้จำนวนมาก ปัจจุบันมีผู้ใช้สิทธิบัตรทองราว 49 ล้านคน!!! เมื่อรัฐบาลจะมีแนวนโยบายในการปรับปรุงบัตรทองไปในทิศทางไหนจึงจำเป็นต้องฟังเสียงจากผู้ใช้สิทธิด้วย
เอกวัฒน์ สุวันทโรจน์ ดีไซเนอร์อิสระ อายุ 41 ปี ผู้ป่วยฮีโมฟีเลีย หนึ่งในผู้ใช้สิทธิบัตรทอง บอกว่า โรคฮีโมฟีเลีย หรือโรคเลือดออกง่าย เกิดจากกรรมพันธุ์ในลูกชาย และเป็นตั้งแต่เกิด จะมีอาการเลือดออกในข้อซ้ำซาก หากไม่ได้รับยาเลือดจะออกไม่หยุด
เมื่อ 20 ปีก่อนตอนที่ยังไม่มีหลักประกันสุขภาพฯให้คนไทย คนไข้โรคนี้ก็ต้องขวนขวายหายาเอง ซึ่งมีราคาค่อนข้างแพง ขณะเดียวกันผู้ป่วยก็ยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับโรคนี้มากนัก การเข้าถึงการรักษาจึงมีน้อย จนเมื่อ 10 ปีก่อนหลังมีหลักประกันสุขภาพฯ วันหนึ่ง นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในเวลานั้น ได้มาร่วมงานวันฮีโมฟีเลีย และบอกว่า “จะพยายามช่วยให้ผู้ป่วยฮีโมฟีเลียได้รับสิทธิการรักษาจากหลักประกันสุขภาพฯ”
เอกวัฒน์ เล่าว่า จากนั้นมาคนไข้ในสิทธิบัตรทองจึงได้รับการตรวจวินิจฉัยและได้รับยามาใช้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง เป็นการเปลี่ยนคุณภาพชีวิตผู้ป่วยโรคนี้อย่างมาก เนื่องจากคนไข้โรคนี้หากกระแทกโดนอะไรนิดหน่อยก็ต้องไปรอแพทย์ตรวจและรับยาบางครั้งใช้เวลาถึง 3 ชั่วโมง แต่ในช่วงเวลานั้นเลือดก็จะออกตลอดเวลา
เมื่อโรคนี้เข้าสู่สิทธิบัตรทอง คนไข้จะได้รับยาจากแพทย์มาไว้ที่บ้าน เมื่อมีอาการเลือดออกก็สามารถฉีดยาได้เองตั้งแต่เลือดเริ่มออกน้อยๆ เพราะหากเลือดออกมากก็จะยิ่งต้องใช้ยาปริมาณมากขึ้น จึงควรรีบฉีดยาตั้งแต่เลือดยังออกไม่มาก ปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่เป็นศูนย์สั่งจ่ายยาฮีโมฟีเลียให้คนไข้สิทธิบัตรทองได้ 49 แห่งทั่วประเทศ โดยเมื่อคนไข้ไปพบแพทย์ก็ได้รับยามาไว้ที่บ้าน บางคนรับ 3 เดือนครั้ง แต่บางคนก็รับบ่อยทุก 1 เดือนขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์
“เมื่อระบบจัดให้คนไข้มียาใช้ที่บ้านได้บวกกับคนไข้ไม่ต้องเสียค่ายาเอง โดยปัจจุบันบัตรทองจ่ายให้ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นรุนแรงเดือนละราว 3 หมื่นบาทต่อคน หากเทียบกับต่างประเทศอาจจะไม่มาก แต่ช่วยประคับประคองชีวิตคนไข้ให้สามารถดำเนินชีวิตประจำวัน ทำกิจกรรมต่างๆ และทำงานได้ จากการเข้าถึงบริการการรักษาในสิทธิบัตรทอง” เอกวัฒน์ กล่าวด้วยความตื้นตัน
การปรับปรุงระบบบัตรทอง เอกวัฒน์ มองว่า หากมีการปรับให้ดีขึ้นและไม่กระทบกับสิทธิของคนไข้ที่มีอยู่ก็เป็นเรื่องที่ดี ในส่วนของโรคฮีโมฟีเลียได้รับการเพิ่มสิทธิประโยชน์และงบประมาณทุกปี แต่ที่สำคัญ อยากให้มีการเพิ่มสิทธิให้แก่ผู้ป่วยฮีโมฟีเลียกลุ่มหนึ่งที่เมื่อใช้ยาที่ได้ตามสิทธิแล้วร่างกายสร้างแอนติบอดีขึ้นมา จึงไม่สามารถใช้ยาชนิดนั้นได้ จำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้ยาตัวอื่นที่มีราคาแพงขึ้นกว่ายาเดิมถึง 3 เท่า แม้สิทธิบัตรทองพยายามช่วยตรงจุดนี้แต่ยังไม่ครอบคลุมเต็มที่
ไม่ต่างจาก สุภาวดี เชื้อสิงห์โต อายุ 59 ปี ผู้ป่วยโรคหัวใจ ซึ่งใช้สิทธิบัตรทองเช่นเดียวกัน เล่าว่า เดิมที่บ้านมีอาชีพรับเหมาก่อสร้างและทำทัวร์ แต่หลังจากสามีเสียชีวิตก็ไม่ได้มีอาชีพอะไร อาศัยเงินที่พอมีเก็บอยู่ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งบ้านตั้งอยู่ใน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี จึงมีสิทธิรักษาพยาบาลบัตรทองอยู่ที่โรงพยาบาลปากเกร็ด ช่วงเวลาหนึ่งส่งต่อไปเข้ารับบริการรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ตอนนั้นอายุ 46 ปี มีอาการหายใจดังฟี้ดๆ เมื่อตรวจสุขภาพประจำปีแพทย์จึงส่งตรวจหัวใจ และรับยามารับประทานเรื่อยๆ เป็นเวลา 1 ปี
แต่เพราะโรงพยาบาลรามาฯ ค่อนข้างไกลจากบ้าน ทำให้เหนื่อยเมื่อต้องเดินทางไปโรงพยาบาล จึงขอย้ายมาเข้ารับการรักษาพยาบาลที่สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งอยู่บริเวณแยกแครายแทน โดยใช้สิทธิบัตรทองเช่นเดิม เนื่องจากมีหนังสือส่งตัวจากโรงพยาบาลปากเกร็ดที่เป็นโรงพยาบาลตามสิทธิ์ เมื่อมารักษาที่นี่แพทย์บอกว่าต้องผ่าตัด เนื่องจากลิ้นหัวใจรั่ว ก็เข้าคิวรอผ่าตัดเป็นเวลา 1 ปี
สุภาวดี บอกว่า เมื่อทราบว่าต้องผ่าตัดก็เข้าไปสอบถามเรื่องค่าใช้จ่ายกับเจ้าหน้าที่ เพื่อจะได้รู้ว่าตนเองควรเตรียมความพร้อมอย่างไร ต้องจ่ายส่วนต่างเท่าไหร่ ในใจก็กังวลเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะไม่ได้มีเงินเก็บมากมายอะไรนัก แต่เจ้าหน้าที่บอก 3.8 แสนบาท แต่โชคดีได้รับแจ้งว่าค่าใช้จ่ายส่วนนี้ครอบคลุมตามสิทธิบัตรทอง คนไข้จึงไม่ต้องจ่ายเงินเอง
“ก่อนเข้าไปถามเรื่องค่าใช้จ่ายก็กังวลนิดหน่อย คิดว่าจะอยู่จะไปจะได้รักษาหรือไม่ก็ตอนนี้ เพราะลำพังตัวเองคงไม่มีปัญญาหาเงินจำนวนหลายแสนมาเป็นค่าผ่าตัด ต้องตายแน่ถ้าไม่มีเงินจากบัตรทองมาช่วยเหลือ เมื่อบัตรทองดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายจึงเหมือนช่วยคนไข้ตายแล้วให้เกิดใหม่” สุภาวดี สะท้อนถึงบัตรทอง
หลังจากสุภาวดีเข้ารับการผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจแล้ว ต้องกินยาละลายลิ่มเลือดเป็นเวลา 1 เดือน หลังจากนั้นแพทย์นัดติดตามอาการทุก 6 เดือน โดยทุกครั้งที่เข้าใช้บริการก็ยังคงใช้สิทธิบัตรทอง ทุกวันนี้สุภาวดีเป็นจิตอาสาบริการคนไข้ที่โรงพยาบาล เช่น สระผม ตัดผม และร้องเพลง
สุภาวดี มีข้อเสนอต่อการปรับปรุงบัตรทองว่า ได้รับการฝากมาจากเพื่อนๆ ที่เข้ารับการผ่าตัดหัวใจหลายๆ คนว่า อยากให้พิจารณาเรื่องการส่งตัวกลับไปรักษายังโรงพยาบาลตามสิทธิหลังเข้ารับการผ่าตัดในโรงพยาบาลที่ถูกส่งตัวมา เนื่องจากบางครั้งยาที่ได้จากโรงพยาบาลที่ผ่าตัดจะไม่เหมือนกับยาที่โรงพยาบาลตามสิทธิ ทำให้คนไข้ไม่มีความต่อเนื่องในการได้ยาเดิม บางคนมีอาการเหนื่อยมากขึ้นเมื่อได้ยาใหม่จากโรงพยาบาลตามสิทธิ จึงอยากให้แก้ตรงจุดนี้ให้คนไข้สามารถไปรับยาจากโรงพยาบาลที่ผ่าตัดได้ไม่ต้องกลับมารับยาที่โรงพยาบาลตามสิทธิ
นี่เป็นเสียงสะท้อนหนึ่งจากผู้ใช้บริการสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะเห็นได้ว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยให้คนไข้ได้เข้าถึงการรักษาเมื่อยามเจ็บป่วย
ติดตามซีรีส์บัตรทอง ตอน 2 บัตรทอง...ผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข
0 พวงชมพู ประเสริฐ 0