สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จะจัดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเยาวชน (วทท. เพื่อเยาวชน) ครั้งที่ 12 ระหว่างวันที่ 3-4 มิถุนายน 2560 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ โดยพลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิด มอบโล่รางวัลแก่ผู้สร้างชื่อเสียงและทำคุณประโยชน์ให้แก่โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) รวมทั้งปาฐกถาพิเศษ
ในวันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน 2560 เวลา 09.00 – 10.00 น. ณ ห้อง Grand Hall 201- 202 ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจต่างๆ เช่น การบรรยายพิเศษ เรื่อง วิทยาศาสตร์กับการสื่อสาร การอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ตุ๊กตากลไก การเสวนา เรื่อง ทุนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนากำลังคน การเสวนา เรื่อง วิทยาศาสตร์พื้นฐานสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงธุรกิจ การแสดงทางวิทยาศาสตร์เรื่องหรรษาอากาศโชว์ การนำเสนอผลงานวิจัยแบบโปสเตอร์ และแบบบรรยาย (ภาษาอังกฤษ) การจัดแสดงนิทรรศการ เป็นต้น
ผลงานวิจัยของเยาวชนที่นำเสนอในงาน เช่น “ตัวแบบการจองเกินของเที่ยวบินที่มีที่นั่งหลายประเภท” ซึ่งปัจจุบันผลกระทบจากการจองเกิน หรือ Over Booking ได้เคยเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก นักคณิตศาสตร์เคยสร้างตัวแบบการจองเกิน เพื่อหาระดับการจองเกินที่เหมาะสม แต่ตัวแบบนี้มีข้อจำกัดคือ คำตอบที่ได้เป็นระดับการจองเกินของทั้งเที่ยวบินทั้งหมด ไม่ได้แยกตามประเภทที่นั่ง งานวิจัยนี้จึงได้พัฒนา ตัวแบบการจองเกินโดยนำเสนออัลกอริธึมในการหาระดับการจองเกินสำหรับแต่ละประเภทที่นั่งที่เหมาะสม และได้เสนอวิธีการแบ่งปริมาณที่นั่งเริ่มต้นของแต่ละประเภทเพื่อใช้ในการหาระดับการจองเกิน นอกจากนี้ได้ทำการเปรียบเทียบค่าคาดหวังของกำไรในแต่ละเที่ยวบินของวิธีที่นำเสนอและวิธีดั้งเดิม จากผลการศึกษาพบว่าในภาพรวมการแบ่งปริมาณที่นั่งเริ่มต้นด้วยวิธี SMP และอัลกอริธึมที่นำเสนอ เพื่อหาระดับการจองเกินให้ค่าคาดหวังของกำไรสูงกว่า
“แบบจำลองการไหลในหนึ่งมิติของสมการน้ำตื้นที่แม่น้ำยม จังหวัดแพร่” ซึ่งผลที่ได้จากการสร้างแบบจำลองสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการวางแผนรับมือปัญหาน้ำท่วมล่วงหน้าได้ โดยงานวิจัยนี้ได้จำลองระดับน้ำของแม่น้ำยมที่เอ่อล้นออกมาจากตลิ่ง โดยใช้สมการน้ำตื้นเพื่ออธิบายระดับน้ำในแม่น้ำยม โดยการคำนวณค่าของระดับน้ำ และอัตราการไหลของน้ำในแต่ละตำแหน่งของเขตพื้นที่ศึกษา จากนั้นนำผลที่ได้จากแบบจำลองมาสร้างกราฟเพื่อแสดงให้เห็นระดับน้ำในแม่น้ำยมในเขตพื้นที่ศึกษาในกรณีต่าง ๆ