"หมอปิยะสกล"แจงความจำเป็นต้องแก้กฎหมายบัตรทอง
"หมอปิยะสกล"ลั่นแก้กฎหมายบัตรทองไม่ริดรอนสิทธิ์เดิมของประชาชน แจงเหตุผลจำเป็นต้องปรับ ขออย่าเล่นนอกเวที ปลุกปั่นให้ระส่ำระสาย
หลังจากที่คณะกรรมการพิจารณาร่างพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.....(ฉบับที่...)ที่มีรศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธาน ได้ยกร่างพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.....(ฉบับที่....) ซึ่งเป็นการแก้ไขปรับปรุงพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545แล้วเสร็จและเข้าสู่ขั้นตอนของการประชาพิจารณ์ ขณะเดียวกันมีหลายกลุ่มออกมาแสดงความคิดเห็นไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาในการยกร่างพรบ.และประชาชนจำนวนมากเห็นว่าหลักประะกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทองหรือ 30 บาทรักษาทุกโรคดีอยู่แล้วทำไมต้องปรับแก้?
เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) กล่าวว่า ทคณะกรรมการพิจารณาร่างพรบ.ทำตามขั้นตอน กระบวนการที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น และอยู่ระหว่างการรับฟังและการทำประชาพิจารณ์ หากมีความคิดเห็นอย่างไรก็ให้ไปเสนอในเวทีดังกล่าว ซึ่งจะดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) หากเห็นว่าส่วนใดในการบยกร่างพรบ.แล้วไม่ดี ไม่เกิดประโยชน์ก็แสดงความคิดเห็นออกมาในเวทีนี้ แต่ขอย้ำว่าในร่างพรบ.ไม่ได้ริดรอนสิทธิ์เดิมใดๆของประชาชน แต่เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์ ได้สิทธิ์เท่ากับเดิมหรือดีกว่าเดิม
"การแก้กฎหมายนั้น เรื่องไหนที่คิดว่าไม่สมดุล ก็ไปเสนอแนะได้ ไม่ว่าจะเรื่ององค์ประกอบของบอร์ด เรื่องการจัดซื้อยา เป็นต้น ขอย้ำว่าการดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการตามรัฐธรรมนูญในมาตรา 77 ที่ระบุว่าการพิจารณากฎหมายต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ทุกอย่างทำตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีอคติใดๆ แต่ต้องการให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง ผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็นในการปรับกฎหมายก็ให้ไปแสดงในเวทีประชาพิจารณ์ ไม่เห็นความสำคัญของการแสดงความคิดเห็นนอกรอบและปลุกปั่นให้เกิดความระส่ำระสาย ซึ่งก็จะมีการรวบรวมความคิดเห็นจากการประชาพิจารณ์ มาประกอบการยกร่างกฎหมาย ก่อนเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกาและเข้าสู่กระบวนการขั้นตอนออกกฎหมาย”ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าว
ต่อข้อถาม ประชาชามองว่าบัตรทองดีอยู่แล้วทำไมต้องมีการปรับแก้กฎหมาย ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า บัตรทองดีอยู่แล้ว และการปรับแก้กฎหมายก็ไม่ได้ลดสิทธิ์ของประชาชน แต่ที่ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้กระบวนการดูแลประชาชนได้ดีขึ้น ถ้าหากไม่มีการปรับแก้กฎหมาย ปัญหาเดิมที่ต้องอาศัยม.44 ในการแก้ปัญหาแบบที่ผ่านมา ก็จะกลับมาอีก เมื่ออำนาจตามม.44 หมดลง อย่างเช่น กรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)และคณะกรรมการตรวจสอบและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ทักท้วงว่า เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่สามารถนำมาใช้เป็นการจ่ายชดเชยเบื้องต้นให้กับผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุข เพราะเป็นการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ ก็ได้มีการออกม.44 ให้สามารถใช้เงินส่วนนนี้ในการช่วยเหลือเยียวผู้ให้บริการได้ และข้อหนึ่งของการแก้พรบ.ก็มีการเพิ่มเติมให้สามารถนำเงินมาใช้ในการเยียวยาผู้ให้บริการได้ จากเดิมที่กฎหมายระบุว่าให้จ่ายชดเชยเฉพาะผู้รับบริการที่ได้รับควมเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข เป็นต้น