ตึกสวยบนถนนทรงวาด
เรื่อง/ภาพ ปิ่นอนงค์ ปานชื่น
คุ้นเคยกับชื่อถนนทรงวาดมาตั้งแต่เด็ก เป็นเพราะเกมเศรษฐีที่สอนให้เรารู้ว่าย่านนี้ที่ดินมีราคา ครั้นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้ศึกษาข้อมูลพบว่า ชื่อ “ทรงวาด” มีที่มาจากล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ทรงวาดถนนสายนี้ลงบนแผนที่ ทรงวาดจึงมีความหมายสำคัญยิ่งนัก
ในวันที่กรุงเทพฯได้ชื่อว่าการจราจรติดขัดเป็นอันดับต้นของโลก เราอยากจะชวนให้ทิ้งรถแล้วเดินชมตึกรามบ้านช่องบนถนนทรงวาด ที่มีความยาวเพียง 1,196 เมตร แต่ดูเหมือนว่าจะพาเราย้อนไปพบกับความงดงามของตึกรามบ้านช่อง ที่บอกเล่าเรื่องราวไปไกลไม่น้อยเลยทีเดียว
ตามประวัติกล่าวว่า ทรงวาด เป็นถนนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นผู้วาดแนวถนนลงบนแผนที่เพื่อลดความแออัดของพื้นที่ในย่านสำเพ็งหลังจากเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่
การตัดถนนทรงวาดแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรกเมื่อ พ.ศ. 2435 เริ่มจากถนนจักรเพชรถึงตรอกโรงกระทะ (ถนนเยาวพานิช) ช่วงที่สอง พ.ศ. 2450 จากตรอกโรงกระทะไปจดกับถนนเจริญกรุง มีความยาวราว 1,196 เมตร
ในสมัยนั้นทรงวาด จัดเป็นถนนสายสำคัญที่เชื่อมต่อกับท่าเรือกลไฟบรรทุกสิ่งของจากหัวเมืองต่างๆมาที่เมืองหลวง สองฝั่งถนนจึงเต็มไปด้วยร้านค้าจำหน่าย นำเข้า ส่งออก พืชผลทางการเกษตร ซึ่งสืบทอดมายังปัจจุบันซึ่งเน้นการขายส่งเป็นส่วนใหญ่
ด้วยเหตุนี้เอง เราจึงได้เห็นตึกเก่าสองฝั่งถนนประดับด้วยปูนปั้นรูปดอกไม้และผลไม้ ที่หลายคนเรียกขานกันว่า ตึกผลไม้ ซึ่งมีให้ชมกันหลายหลัง
ระหว่างทางเรายังได้พบกับสตรีทอาร์ต ของโปรเจคท์ “บุกรุก” ผลงานของศิลปินต่างๆที่สร้างรอยยิ้มให้กับผู้พบเห็นได้ผ่อนคลายจากอากาศร้อนๆ เช่น ผลงานช้างของ Roa ศิลปินชาวเบลเยี่ยม ภาพวาดจักรยานของ Aryz จากสเปน และภาพกราฟฟิตีโทนสีชมพูใกล้วัดปทุมคงคาของ Aitch ศิลปินหญิงจากโรมาเนีย
นอกจากนี้ยังมีตึกเก่าทรงเก๋ที่อยู่เคียงคู่กับร้านค้าอะไหล่รถยนต์ ใครที่ชอบเครื่องเคลือบตรากระต่าย มีทั้งหม้อ ปิ่นโตที่ชวนให้คิดถึงวัยเด็ก ร้านค้าส่งตั้งอยู่บนถนนเส้นนี้ (มีขายปลีกให้ด้วย)
เราเดินถ่ายภาพปูนปั้นประดับอาคาร ประตู หน้าต่าง จนมาถึงหัวมุมถนนที่บรรจบกับถนนราชวงศ์ได้พบตึกเก่าที่สวยงามจับใจ
อาคารหลังนี้เรียกขานกันว่า ตึกแขก เหตุที่มีชื่อนี้ก็เพราะว่าเดิมเป็นที่ตั้งของห้างเอ. ที. อี. มัสกาตี (A.T.E Maskati) บริษัทนำเข้าสินค้าของพ่อค้าชาวอินเดียชื่อว่า อับดุลตาเยบ มัสกาตี ประกอบกิจการนำเข้าผ้าจากโรงงานของบริษัท มัสกาตี ที่เมืองอาร์เมดาบัด ประเทศอินเดียแล้วนำมาขายในเมืองไทยและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ตึกแขกนี้ มีซุ้มหน้าต่างทรงโค้งแหลมแบบศิลปะโกธิก และประดับลวดลายฉลุลายลูกไม้แบบที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 5 ดูแล้วนึกย้อนไปถึงในยุคนั้นคงสวยงามสง่ามากๆ
มองปัจจุบันของทรงวาด แล้วนึกวาดรูปอดีต ตึกเก่าๆนั้นมีคุณค่าและเก็บงำเรื่องราวที่น่าค้นหาเสมอ
หมายเหตุ : อ้างอิง “เดินทอดน่องท่องย่านจีน” โดย โครงการย่านจีนถิ่นบางกอก