
กำแพงเพชร-ตาก-สุโขทัย
เที่ยวเมืองมรดกโลก สุดยอดน้ำตกทีลอซู
@ กำแพงเพชร
• ศูนย์หัตถกรรมเป่าแก้วบ้านโนนจั่น งานฝีมือของคนท้องถิ่น เป่าแก้วเป็นรูปสัตว์ ดอกไม้ ผลไม้ ส่งขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ
• อุทยานแห่งชาติคลองลาน ครอบคลุมพื้นที่ป่าคลองลานที่อุดมสมบูรณ์แห่งสุดท้ายของกำแพงเพชร มีภูเขาสูงทั้งทิวทัศน์และธรรมชาติสวยงามมาก ทั้งเป็นป่าต้นน้ำลำธาร มีจุดน่าแวะเที่ยว เช่น น้ำตกคลองลาน น้ำตกคลองน้ำไหล
• อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ได้รับการประกาศเป็น “มรดกโลก” ร่วมกับ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย เป็นบราณสถานขนาดใหญ่ สร้างด้วยศิลาแลง รูปแบบเป็นศิลปะร่วมสมัยระหว่างสุโขทัยและอยุธยา
@ ตาก
• น้ำตกทีลอซู น้ำตกสวยงามติดอันดับ 1 ใน 6 ของโลก อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ห่างที่ทำการ 1.8 กิโลเมตร เป็นน้ำตกหินปูนขนาดใหญ่ กว้างถึง 500 เมตร สูง 300 เมตร
• ดอยหัวหมด จุดชมทะเลหมอกยามเช้าที่สวยงาม
• อุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ เป็นน้ำตกหินปูนสูง 97 ชั้น มีน้ำไหลตลอดปี มีมุมบังคับที่ต้องเก็บภาพความสวยงามของน้ำตก
• ตลาดริมเมย ตลาดชายแดนไทย-เมียนมาร์ ตรงข้ามเมืองเมียวดีของเมียนมาร์ ข้ามแดนไปเมียนมาร์ได้ด้วยสะพานมิตรภาพไทย-พม่า
@ สุโขทัย
• อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ชมความอลังการของโครงสร้างเมืองเก่าที่รุงเรืองมากในอดีต ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกโลก” จากองค์การยูเนสโก
• ย่านทำทองโบราณ อ.ศรีสัชนาลัย ช่างทองท้องถิ่นสร้างสรรค์งานเครื่องประดับทองด้วยมือ โดยไม่ใช้เครื่องจักร ลวดลายประณีตเลียนแบบเครื่องประดับโบราณสมัยสุโขทัย ใช้เนื้อทอง 99.99% มีทั้งต่างหู สร้อยคอ สร้อยข้อมือ กำไล เข็มขัด กระเป๋า ผอบ มีเอกลักษณ์ด้วยการแต้มสีตามลวดลาย (การลงยา) นิยมเรียก“ทองสุโขทัย” หรือ “ทองทำมือ”
• อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย แวะชมโบราณสถานสำคัญ อาทิ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (วัดพระบรมธาตุเมืองเชลียง), วัดช้างล้อม ฐานเจดีย์มีช้างปูนปั้นยืนหันหลังชนผนังรอบเจดีย์ รวม 39 เชือก, วัดเจดีย์เจ็ดแถว งดงามด้วยศิลปะสุโขทัยแท้ ผสมศิลปะแบบศรีวิชัย
• ศูนย์ศึกษาอนุรักษ์เตาสังคโลก (เตาทุเรียง) อยู่ที่บ้านเกาะน้อย ชมโบราณวัตถุ เครื่องถ้วยสมัยโบราณหลังจากมีการขุดพบถ้วยสังคโลกทั้งสมบูรณ์และแตกหักจำนวนมาก ถือเป็นนิคมอุตสาหกรรมของเมืองศรีสัชนาลัยในยุคโบราณ
1. ศูนย์หัตถกรรมเป่าแก้วบ้านโนนจั่น จ.กำแพงเพชร
งานฝีมือของคนท้องถิ่น เป่าแก้วเป็นรูปสัตว์ ดอกไม้ ผลไม้ ส่งขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ
สภานที่ : 32 หมู่ 1 บ้านโนนจั่น, ตำบลทุ่งทอง อำเภอทรายทองวัฒนา จังหวัดกำแพงเพชร,
เบอร์โทร : -
เวลาทำการ : 08:00 - 18:00
2. อุทยานแห่งชาติคลองลาน จ.กำแพงเพชร
ครอบคลุมพื้นที่ป่าคลองลานที่อุดมสมบูรณ์แห่งสุดท้ายของกำแพงเพชร มีภูเขาสูงทั้งทิวทัศน์และธรรมชาติสวยงามมาก ทั้งเป็นป่าต้นน้ำลำธาร มีจุดน่าแวะเที่ยว เช่น น้ำตกคลองลาน น้ำตกคลองน้ำไหล
สภานที่ : ตำบล คลองน้ำไหล อำเภอ คลองลาน กำแพงเพชร
เบอร์โทร : -
เวลาทำการ : 06:00 - 18:00
3. อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร จ.กำแพงเพชร
สถานที่แห่งประวิติศาสตร์ที่ได้ยอมรับว่าเป็นหนึ่งในมรดกโลกจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาติ (UNESCO) โดยได้ประกาศได้เป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2534 และเป็นอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและศรีสัชนาลัยที่สร้างจากสมัยสุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์แห่งนี้แบ่งออกเป็นโบราณสถานฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง ซึ่งมีความแตกต่างกันในการใช้วัสดุก่อสร้าง โบราณสถานด้านตะวันออกของแม่น้ำปิงเป็นที่ตั้งเมืองกำแพงเพชร โบราณสถานสร้างด้วยศิลาแลงและมีขนาดใหญ่ ส่วนโบราณสถานฝั่งตะวันตกคือเมืองนครชุมก่อสร้างด้วยอิฐและมีขนาดเล็ก แต่รูปแบบศิลปะที่ปรากฏนั้นมีลักษณะร่วมสมัยระหว่างสุโขทัยและอยุธยา นอกจากนี้ยังมีโบราณสถานนอกเมืองกำแพงเพชรหรือเขตอรัญญิก ซึ่งเป็นที่อยู่ของสงฆ์เพื่อปฏิบัติวิปัสสนาอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือระยะทาง 2 กิโลเมตร
ผู้สนใจเข้าชมได้ทุกวันเวลา 08.00-17.00 น. ค่าเข้าชมชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท รถยนต์ 50 บาท รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อโทร. +66 5585 4736-7
สภานที่ : ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร
เบอร์โทร : 055 854 736
เวลาทำการ : 08:00 - 17:00
4. น้ำตกทีลอซู ตาก จ.ตาก
น้ำตกสวยงามที่สุดและยิ่งใหญ่ที่สุดของเมืองไทย ชาวกะเหรี่ยงเรียกน้ำตกนี้ว่า น้ำตกทีลอชู แปลว่าน้ำตกที่ยิ่งใหญ่ เป็นน้ำตกเขาหินปูนขนาดใหญ่ บนความสูงจากระดับทะเลปานกลาง 900 เมตร สายน้ำตกเกิดจากลำน้ำห้วยกล้อท้อทั้งสายที่ไหลแผ่ปกคลุมพื้นที่หน้าผากว้างก่อนทะยานลงสู่หน้าผาสูงชันลดหลั่นเป็นชั้นๆ สูงกว่า 300 เมตร เกิดเสียงดังกึกก้องท่ามกลางป่าดงดิบที่อุดมสมบูรณ์ สวยงามและสดชื่นท่ามกลางแมกไม้ขุนเขา
สภานที่ : ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1090 ต.อุ้มผาง อ.อุ้มผาง จ.ตาก 63170
เบอร์โทร : -
เวลาทำการ : 00:00 - 00:00
5. ดอยหัวหมด จ.ตาก
จุดชมทะเลหมอกยามเช้าที่สวยงาม
สภานที่ : ตำบล อุ้มผาง อำเภอ อุ้มผาง ตาก
เบอร์โทร : -
เวลาทำการ : 08:00 - 18:00
6. อุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ จ.ตาก
อุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญมีพื้นที่ครอบคลุมตำบลช่องแคบ ตำบลพบพระ ตำบลคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ และตำบลด่านแม่ละเมา ตำบลพะวอ ตำบลพระธาตุผาแดง ตำบลแม่กุ ตำบลแม่ตาว ตำบลมหาวัน อำเภอแม่สอด มีพื้นที่ 534,375 ไร่ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงชันสลับซับซ้อน เป็นพื้นที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง 1,765 เมตร สภาพทั่วไปส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณ ป่าเขาสน และทุ่งดอกกระเจียว ซึ่งเป็นดอกไม้ป่าตามธรรมชาติ แต่ที่อุทยานฯ แห่งนี้จะมีลักษณะแตกต่างจากที่อื่น นั่นก็คือเป็นดอกกระเจียวสีส้มสดโดยจะออกดอกระหว่างเดือนกรกฏาคม-ตุลาคมของทุกปีบริเวณที่ทำการอุทยานฯ
ไฮไลท์แห่งอุทยานฯ
- น้ำตกพาเจริญ เป็นน้ำตกหินปูนที่เกิดจากลำห้วยหลายสายไหลมารวมกับแหล่งน้ำซับบนเขา แล้วไหลลงสู่เบื่องล่างเป็นชั้นน้ำตกเล็กๆ นับรวมได้ถึง 97 ชั้น มีน้ำไหลตลอดปี แต่ช่วงที่สวยงามที่สุดคือฤดูฝน
- บ่อน้ำร้อนห้วยน้ำนัก เป็นบ่อน้ำร้อนธรรมชาติที่อุณหภูมิของน้ำวัดได้ 60 องศาเซลเซียส และปัจจุบันอำเภอพบพระได้จัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้งศาลาพักผ่อนไว้ที่บริเวณบ่อน้ำร้อน นักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวชมได้ตลอดปี
(การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 1206 สายพบพระ-บ้านช่องแคบ แยกขวามือก่อนถึงอำเภอพบพระไปหมู่บ้านห้วยน้ำนัก)
- จุดชมวิวดอยเกี๊ยะ ตั้งอยู่ในเขตป่าแม่สอด หมู่ 4 ตำบลพบพระ เป็นจุดสูงสุดชายแดนไทย-เมียนมาร์โดยอยู่สูงจากระดับทะเลปานกลางประมาณ 512 เมตร สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเมียนมาร์ได้ อีกทั้งบางส่วนมีลักษณะเป็นสันเขา สภาพอากาศเย็นสบาย โดยเฉพาะในฤดูหนาวมีทะเลหมอกเหนือแม่น้ำเมยที่เป็นเส้นแบ่งเขตแดนไทย - สหภาพพม่า
- น้ำตกป่าหวาย เป็นน้ำตกที่เกิดจากลำห้วยป่าหวายมีน้ำตลอดปี บริเวณโดยรอบมีไม้หวายเป็นจำนวนมากจึงเป็นที่มาของชื่อน้ำตกและการเดินขึ้นไปชมน้ำตกชั้นบนนั้นต้องเดินฝ่ากระแสน้ำขึ้นไปเท่านั้น นอกจากนี้หากเดินต่อไปอีกประมาณ 30 เมตร จะพบปล่องภูเขากว้างประมาณ 10 เมตร ซึ่งมีน้ำไหลลงสู่ปล่องแล้วหายไปในบริเวณใต้ภูเขา อย่างไรก็ตาม ลึกลงไปใต้ดินยังไม่มีการสำรวจชัดเจนนัก
(การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 1090 สายพบพระ-อุ้มผาง เลี้ยวซ้ายก่อนถึงกิโลเมตรที่ 42 เข้าไปประมาณ 20 กิโลเมตร)
สิ่งอำนวยความสะดวก
อุทยานฯ มีบ้านพักบริการ จำนวน 2 หลัง และลานกางเต็นท์พักแรมแต่ต้องนำอุปกรณ์มาเอง
สภานที่ : ตำบล ช่องแคบ อำเภอ พบพระ ตาก 63160
เบอร์โทร : 02 562 0906
เวลาทำการ : 08:00 - 18:00
7. ตลาดริมเมย จ.ตาก
ช็อปปิ้งสารพัดสินค้าจากชุมชนตลาดที่ตั้งอยู่ตรงข้ามกับอำเภอเมียวดีของสหภาพพม่า ซึ่งมีของพื้นเมืองมากมายทั้งของไทยและพม่า เช่น หน่อไม้แห้ง ปลาแห้ง ปลาหัวยุ่ง เห็ดหอม ถั่วเครื่องหนัง ผ้าซาติน ฯลฯ นอกจากนี้ที่นี่ยังเป็นตลาดการค้าอัญมณี เช่น หยก ทับทิม และพลอยสีจากพม่า สำหรับคนรักเครื่องประดับให้เลือกกันจุใจ และไม่ไกลจากด่านตรวจฝั่งพม่านัก จะพบกับตลาดสดของพม่า ที่คุณสามารถนั่งรถรับจ้างที่ดัดแปลงดูคล้ายมอเตอร์ไซค์พ่วง เดินทางไปชมตลาดสดแห่งนั้นได้
**ข้อแนะนำ
- นักท่องเที่ยวชาวไทยทำหนังสือผ่านแดนชั่วคราว โดยนำบัตรประชาชน หรือบัตรประจำตัวอื่นๆ ที่ทางราชการออกให้ พร้อมสำเนา 1 ชุด และรูปถ่ายติดบัตร 2 รูป พร้อมค่าผ่านแดนคนละ 20 บาท ไปที่สำนักงานออกบัตรของอำเภอแม่สอดเมื่อข้ามผ่านแดนไปแล้วจะต้องเสียค่าผ่านแดนที่ฝั่งพม่าอีกคนละ 10 บาท เวลาผ่านแดน ด่านเปิดทุกวันตั้งแต่เวลา 06.30-21.00น.
- ห้ามนำกล้องถ่ายรูปเข้าไปด้วย
- นักท่องเที่ยวสามารถข้ามไปเมียวดีได้ โดยนั่งเรือข้ามฟากที่มีบริการตั้งแต่ 07.30-17.30 น. เมื่อถึงฝั่งพม่าจะต้องเสียค่าเหยียบแผ่นดินคนละ 15 บาท
- ควรซื้อสินค้าทางฝั่งไทย เพราะสินค้าทั้งคุณภาพและราคาแทบจะไม่แตกต่างกันเลย
- สำหรับการซื้อของในฝั่งพม่า ควรเดินดูรอบๆ และพิจารณาให้ละเอียด เพราะสินค้าบางอย่างมีการทำลอกเลียนแบบ
สภานที่ : เป็นชุมชนในธนาคารของแม่น้ำเมยตรงข้าม เมยวดีของสหภาพพม่า
เบอร์โทร : 055 514 341
เวลาทำการ : 00:00 - 00:00
8. อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จ.สุโขทัย
คงไม่ต้องเอื้อนเอ่ยวาจาใด ๆ มาบรรยายความยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรสุโขทัยได้ดีเท่ากับอุทยานประวัติศาสตร์แห่งนี้ ซึ่งองค์การยูเนสโกได้ยกย่องให้เป็นมรดกโลกในปี พ.ศ. 2534 และเป็นที่รู้กันดีว่าอาณาจักรสุโขทัยนั้น มีความยิ่งใหญ่เกรียงไกรขนาดไหน อดีตราชธานีไทยแห่งนี้เคยเป็นศูนย์กลางการปกครอง เศรษฐกิจและศาสนา ดังนั้น ภายในอุทยานฯ จึงค้นพบสถานที่สำคัญต่างๆ น่าเรียนรู้มากมาย ทั้งพระราชวัง ศาสนสถาน โบราณสถาน บางทีเวลาเพียงหนึ่งวันกับการเดินชมที่นี่ให้ถ้วนทั่ว อาจยังไม่พอด้วยซ้ำไป สถานที่ที่น่าชม ได้แก่
พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2518 ตั้งอยู่ริมถนนจรดวิถีถ่อง ทางทิศเหนือของวัดมหาธาตุ พระบรมรูปหล่อด้วยโลหะทองเหลืองผสมทองแดงรมดำ ขนาด 2 เท่าขององค์จริง สูง 3 เมตร ประทับนั่งห้อยพระบาทบนแท่นมนังคศิลาบาตร พระหัตถ์ขวาถือคัมภีร์ พระหัตถ์ซ้ายอยู่ในท่าทรงสั่งสอนประชาชน แท่นด้านซ้ายมีพานวางพระขรรค์ไว้ข้าง ๆ ลักษณะพระพักตร์เหมือนอย่างพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยตอนต้น ที่ถ่ายทอดความรู้สึกว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชมีน้ำพระทัยเมตตากรุณา ยุติธรรม และมีความเด็ดขาดในการปกครอง แบบพ่อปกครองลูก ด้านข้างมีภาพแผ่นจำหลักจารึกเหตุการณ์เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระองค์ ตามที่อ้างถึงในจารึกสุโขทัย
กำแพงเมืองสุโขทัย ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองเก่า มีปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกที่เรียกว่า ตรีบูร ลักษณะแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 1,300 เมตร ยาว 1,800 เมตร กำแพงชั้นในเป็นศิลาแลงก่อบนคันดิน กำแพงสองชั้นนอกเป็นคูน้ำสลับกับคันดิน นอกจากทำหน้าที่ป้องกันข้าศึกแล้ว คูน้ำยังใช้ระบายน้ำไม่ให้ไหลท่วมเมืองอีกด้วย ระหว่างกึ่งกลางแต่ละด้านมีประตูเมืองและป้อมหน้าประตูด้วย
วัดมหาธาตุ ตั้งอยู่กลางเมือง เป็นวัดที่มีความสำคัญของกรุงสุโขทัย มีพระเจดีย์มหาธาตุทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือทรงดอกบัวตูม ศิลปะแบบสุโขทัยแท้ เป็นเจดีย์ประธาน รายรอบด้วยเจดีย์ 8 องค์บนฐานเดียวกัน กล่าวคือ ปรางค์ศิลาแลงตั้งอยู่ที่ทิศทั้ง 4 และเจดีย์ทรงปราสาทก่อด้วยอิฐซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากล้านนา จากการสำรวจพบว่า บริเวณวัดมหาธาตุมีเจดีย์แบบต่างๆ มากถึง 200 องค์ วิหาร 10 แห่ง ซุ้มพระ (มณฑป) 8 ซุ้ม พระอุโบสถ 1 แห่ง ตระพัง 4 แห่ง ด้านตะวันออกบนเจดีย์ประธาน มีวิหารขนาดใหญ่ก่อด้วยศิลาแลง มีแท่นซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดที่ใหญ่ที่สุด ในประเทศไทย คือ พระศรีศากยมุนี ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในโบสถ์วัดสุทัศน์เทพวรารามฯ กรุงเทพฯ ด้านเหนือและด้านใต้ของเจดีย์มหาธาตุมีพระพุทธรูปยืนภายในซุ้ม เรียกว่า พระอัฎฐารศ
วัดชนะสงคราม ตั้งอยู่ทางด้านเหนือของวัดมหาธาตุ ใกล้กับหลักเมือง เดิมเรียกว่า วัดราชบูรณะ มีลักษณะเด่นคือ เจดีย์ทรงระฆังกลมขนาดใหญ่เป็นเจดีย์ประธาน มีวิหาร โบสถ์ และเจดีย์ราย
เนินปราสาทพระร่วง หรือ เขตพระราชวังในสมัยสุโขทัย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกติดกับวัดมหาธาตุ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสันนิษฐานว่า บริเวณนี้ เคยเป็นฐานปราสาทราชวัง ของกษัตริย์เมืองสุโขทัย จากนั้นกรมศิลปากรได้เข้ามาทำการขุดแต่งบูรณะ เมื่อ พ.ศ. 2526 พบฐานอาคารแบบฐานบัวคว่ำและบัวหงาย มีลักษณะเป็นฐานสูงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 27.50 x 51.50 เมตร มีบันไดที่ด้านหน้าและด้านหลัง
วัดตระพังเงิน เป็นโบราณสถานสำคัญที่ตั้งอยู่บริเวณขอบตระพังเงินด้านทิศตะวันตกของวัดมหาธาตุ (คำว่า ตระพัง หมายถึง สระน้ำ) ห่างจากวัดมหาธาตุ 300 เมตร โบราณสถานนี้ไม่มีกำแพงแก้ว ประกอบด้วยเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์หรือทรงดอกบัวตูมเป็นประธาน ที่เรือนธาตุทั้งสี่ด้านประดิษฐานพระพุทธรูปยืนและพระพุทธรูปปางลีลา มีวิหารประกอบอยู่ด้านหน้า ทางด้านตะวันออกของเจดีย์เป็นเกาะที่มีโบสถ์ตั้งอยู่กลางน้ำ
วัดสระศรี เป็นวัดที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัดมหาธาตุ และเป็นโบราณสถานสำคัญตั้งอยู่บนเกาะกลางน้ำขนาดใหญ่ ชื่อว่า ตระพังตระกวน นอกจากนี้ยังเป็นวัดที่มีจุดชมทัศนียภาพสวยงามมากแห่งหนึ่ง สิ่งที่น่าชมในวัดนี้คือ เจดีย์ประธานทรงลังกา ด้านหน้าวิหารขนาดใหญ่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย มีเจดีย์ขนาดเล็ก ศิลปะศรีวิชัยผสมลังกา ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ มีซุ้มพระพุทธรูป 4 ทิศ ด้านหน้ามีเกาะกลางน้ำขนาดย่อมเป็นที่ตั้งของพระอุโบสถขนาดเล็ก
วัดศรีสวาย ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของวัดมหาธาตุ ห่างออกไปประมาณ 350 เมตร โบราณสถานที่สำคัญตั้งอยู่ในกำแพงแก้ว ประกอบด้วยปรางค์ 3 องค์ ศิลปะลพบุรี ลักษณะของปรางค์ค่อนข้างเพรียว ตั้งอยู่บนฐานเตี้ยๆ ลวดลายปูนปั้นบางส่วน เหมือนลายบนเครื่องถ้วยจีน สมัยราชวงศ์หยวน เดิมพบทับหลังสลักเป็นรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ ชิ้นส่วนของเทวรูปและศิวลึงค์ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเคยเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดูมาก่อน แล้วดัดแปลงเป็นวัดในพุทธศาสนาโดยต่อเติมวิหารขึ้นที่ด้านหน้า
ศาลตาผาแดง ก่อด้วยศิลาแลง ศิลปะเขมรสมัยนครวัด (พ.ศ. 1650-1700) ต่อมากรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งและบูรณะศาลนี้แล้วได้พบชิ้นส่วนเทวรูปและเทวสตรี ประดับด้วยเครื่องตกแต่ง ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง
นอกจากนี้ยังมีโบราณสถานนอกกำแพงในแต่ละทิศที่น่าชม ได้แก่
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เป็นอาคารทรงไทยสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัย ตั้งอยู่หน้าวัดพระพายหลวง สถานที่ที่เป็นเหมือนประตูบานใหญ่ ก่อนพาคุณย้อนเวลาไปสู่ความเฟื่องฟูของสุโขทัย ภายในอาคารเป็นศูนย์ให้ข้อมูล และอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว รวมทั้งจัดแสดงแบบจำลองโบราณสถานต่างๆ ในเขตเมืองเก่าสุโขทัย
แหล่งโบราณคดีเครื่องปั้นดินเผาสุโขทัย (เตาทุเรียง) อยู่ใกล้วัดพระพายหลวง บริเวณแนวคูเมืองเก่าที่เรียกว่า แม่โจน เป็นเตาเผาถ้วยชามสมัยสุโขทัย มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 พบเตาโดยรอบ 49 เตา ส่วนใหญ่อยู่บริเวณคันคูแม่น้ำโจนด้านทิศเหนือ 37 เตา ด้านทิศใต้ข้างกำแพงเมือง 9 เตา และด้านทิศตะวันออก 3 เตา เตาเผาเครื่องสังคโลกมีลักษณะคล้าย ประทุนเกวียนขนาดกว้าง 1.50-2.00 เมตร ยาว 4.5 เมตร เครื่องปั้นดินเผาที่พบบริเวณนี้ ส่วนใหญ่เป็นถ้วยชาม มีขนาดใหญ่หนา น้ำยาเคลือบขุ่น สีเทาแกมเหลือง และมีลายเขียนสีดำ ส่วนใหญ่ทำเป็นรูปดอกไม้ ปลา และจักร
วัดพระพายหลวง เป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญอันดับสองรองจากวัดมหาธาตุ ผังวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคูน้ำล้อมรอบ 3 ชั้น คูชั้นนอกเรียกว่า คูแม่โจน วัดพระพายหลวงเป็นศูนย์กลางของชุมชน โดยโบราณสถานที่เก่าแก่ที่สุดของวัด คือ พระปรางค์ 3 องค์ เป็นปรางค์ประธาน ก่อด้วยศิลาแลง ศิลปะเขมรแบบบายน สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ด้านหน้าของวัดเป็นอาคารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น สี่อิริยาบถ คือ นั่ง นอน ยืน และเดิน
วัดศรีชุม ตั้งอยู่ห่างจากวัดพระพายหลวงไปทางทิศตะวันตก 800 เมตร เป็นวัดที่ช่างภาพหลายคนโปรดปรานเป็นพิเศษ ด้วยมุมมองที่ไม่เหมือนใครกับพระอัจนะ (อจนะ แปลว่า ผู้ไม่หวั่นไหว ผู้มั่นคง) พระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยขนาดใหญ่ หน้าตักกว้าง 11.30 เมตร ตัววิหารสร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมลักษณะคล้ายมณฑป แต่หลังคาพังทลายลงมาหมดแล้ว เหลือเพียงผนังทั้งสี่ด้าน ผนังแต่ละด้าน ก่ออิฐถือปูนอย่างแน่นหนา ผนังทางด้านใต้มีช่องให้คนเดินเข้าไปภายใน และเมื่อเดินขึ้นไปตามทางบันไดแคบๆ ก็จะถึงผนังด้านข้างขององค์พระอัจนะ หรือสามารถขึ้นไปถึงสันผนังด้านบนได้ ทั้งนี้ ภายในช่องกำแพงตามฝาผนังมีภาพเขียนเก่าแก่แต่ลางเลือนไปมากแล้ว สันนิษฐานว่าภาพเขียนนี้มีอายุเกือบ 700 ปี นอกจากนี้บนเพดานช่องบันไดยังมีแผ่นหินชนวนขนาดใหญ่ แกะสลักลวดลายเรื่องชาดกต่างๆ มีจำนวนทั้งหมด 50 ภาพ ที่สำคัญ หากลองเดินตามช่องทาง บันไดขึ้นไป จะโผล่บนหลังคาวิหาร ที่คุณสามารถมองเห็นทิวทัศน์งดงามของเมืองเก่าสุโขทัยได้โดยรอบ
วัดช้างรอบ อยู่ห่างจากประตูอ้อไปทางทิศตะวันตกประมาณ 2.4 กิโลเมตร โบราณสถานสำคัญประกอบด้วย เจดีย์ทรงกลมแบบลังกา ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีช้างโผล่ครึ่งตัว จำนวน 24 เชือก พระอุโบสถอยู่ด้านหน้าเจดีย์ประธาน และมีเจดีย์ราย 5 องค์ ล้อมรอบเจดีย์ประธานและโบสถ์
เขื่อนสรีดภงค์ หรือ ทำนบพระร่วง ตั้งอยู่บริเวณเมืองเก่า เป็นคันดินกั้นระหว่างเขาพระบาทใหญ่ และเขากิ่วอ้ายมา สร้างขึ้นเพื่อกักน้ำ และชักน้ำไปตามคลองสู่กำแพงเมืองไหลเข้าสระตระพังเงิน ตระพังทอง เพื่อนำไปใช้ในเมือง และพระราชวังในสมัยสุโขทัย ปัจจุบันกรมชลประทานได้บูรณะ และซ่อมแซมขึ้นใหม่ สำหรับแหล่งต้นน้ำในอดีตเรียกว่า โซก (หมายถึง ลำธาร) ที่สำคัญได้แก่ โซกพระร่วงลองพระขรรค์ โซกพระร่วงลับพระขรรค์ โซกพม่าฝนหอก และโซกชมพู่ (รัชกาลที่ 6 เคยเสด็จประพาสในเที่ยวเมืองพระร่วง) ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำที่ไหลมาจากเขาประทักษ์
วัดเชตุพน ไฮไลท์ของวัดนี้คือ มณฑปที่สร้างด้วยหินชนวน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสี่อิริยาบถ คือ นั่ง นอน ยืน เดิน ภายในมณฑปเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปโดยมีการใช้วัสดุทั้งอิฐ หินชนวน ศิลาแลง ในการก่อสร้าง นอกจากนี้ยังมีกำแพงแก้วที่ล้อมรอบมณฑปจตุรมุขสร้างจากหินชนวนขนาดใหญ่และหนา โดยมีการสกัดและบากหินเพื่อทำเป็นกรอบและซี่กรงที่เลียนแบบเครื่องไม้ และยังได้พบศิลาจารึกหลักที่ 58 จารึกไว้ใน พ.ศ. 2057 กล่าวว่าเจ้าธรรมรังสีสร้างพระพุทธรูปในวัดนี้
วัดเจดีย์สี่ห้อง ตั้งอยู่ทางตะวันออกของวัดเชตุพน ห่างไปประมาณ 100 เมตร สิ่งที่น่าสนใจ คือ ที่ฐานเจดีย์ประธานมีภาพปูนปั้นประดับโดยรอบ ซึ่งปั้นเป็นรูปบุรุษและสตรีสวมอาภรณ์เครื่องประดับ ในมือถือภาชนะ มีพรรณพฤกษางอกโผล่พ้นออกมาแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ นอกจากนั้นยังมีปูนปั้นรูปช้างและสิงห์ประดับรูปบุคคล องค์เจดีย์ประธานเป็นทรงระฆังกลม ที่ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ ส่วนยอดเจดีย์นั้นได้หักพังลงมาแล้ว
วัดสะพานหิน วัดนี้ตั้งอยู่บนเนินเขา สูงประมาณ 200 เมตร ทางเดินขึ้นปูลาดด้วยหินชนวนจากตีนเขา ขึ้นไปเป็นระยะทาง 300 เมตร มีองค์พระประธานเป็นพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ ปางประทานอภัย สูง 12.50 เมตร เรียกว่า พระอัฏฐารศ
โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านตะวันออก
วัดช้างล้อม เป็นโบราณสถานที่สำคัญ มีเจดีย์ทรงกลมแบบลังกาเป็นประธานของวัด รอบฐานเจดีย์ประดับด้วยปูนปั้นเป็นรูปช้างโผล่ครึ่งตัว ด้านหน้ามีฐานวิหารก่อด้วยอิฐ และยังมีฐานกำแพงแก้วก่อด้วยอิฐล้อมรอบ
วัดตระพังทองหลาง อยู่ริมถนนจรดวิถีถ่อง หากเดินทางมาจากจังหวัดสุโขทัย วัดตระพังทองหลางอยู่ซ้ายมือ มีมณฑปรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสก่อด้วยอิฐ ผนังด้านนอกประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์ ประทานเทศนาโปรดพระพุทธบิดากับกษัตริย์ศากยราช และตอนเสด็จโปรดนางพิมพา นับเป็นศิลปกรรมชิ้นเอกของสุโขทัยเลยทีเดียว
สภานที่ : ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย
เบอร์โทร : 055 697 527
เวลาทำการ : 00:00 - 00:00
9. อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย
สำหรับคนรักประวัติศาสตร์ ที่นี่ล่ะใช่เลย! เพราะคุณจะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ ในบทหนึ่งแห่งสมัยสุโขทัยที่คนไทยภาคภูมิ ที่นี่ครอบคลุมพื้นที่ตำบลศรีสัชนาลัย ตำบลสารจิตร ตำบลหนองอ้อ และตำบลท่าชัย สำหรับเมืองโบราณศรีสัชนาลัยนั้น อยู่ในเขตหมู่บ้านพระปรางค์ ตำบลศรีสัชนาลัย เดิมชื่อว่า เมืองเชลียง แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น ศรีสัชนาลัย ในสมัยกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงขึ้นครองกรุงสุโขทัย และได้สร้างเมืองขึ้นใหม่เป็นศูนย์กลางการปกครองแทนเมืองเชลียง ภายในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ น่าตื่นตาด้วยโบราณสถานและโบราณวัตถุทั้งหมด 215 แห่ง และสำรวจค้นพบแล้ว 204 แห่ง แต่ละแห่งล้วนจุคุณค่าแห่งอดีตกาลที่น่าเรียนรู้
น่าชม
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือ วัดพระบรมธาตุเมืองเชลียง หรือเรียกอีกชื่อว่าวัดพระปรางค์ ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองเก่าศรีสัชนาลัยลงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 3 กิโลเมตร ภายในเต็มไปด้วยโบราณสถานสำคัญมากมาย ได้แก่ ปรางค์ประธาน ก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูน สถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา ทั้งบริเวณเรือนธาตุด้านหน้ามีบันไดขึ้นองค์ปรางค์สู่ซุ้มโถง สังเกตว่า ภายในพบรอยจิตรกรรมฝาผนัง แต่ค่อนข้างลบเลือนไปมาก ส่วนด้านหน้ามีวิหารประดิษฐาน พระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางมารวิชัย ทางขวามีพระพุทธรูปปูนปั้นปางลีลางดงาม ทางด้าน กำแพงวัดเป็นศิลาและแท่นกลมขนาดใหญ่ เรียงชิดติดกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 60 เมตร ยาว 90 เมตร เหนือซุ้มประตูทำเป็นรูป คล้ายหลังคายอด และเหนือซุ้มขึ้นไปเป็น ปูนปั้นรูปพระพักตร์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
พระธาตุมุเตา อยู่ด้านหลังปรางค์ประธานนอกกำแพงแก้ว มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงมอญ โดยในการขุดแต่งเมื่อ พ.ศ. 2535 ได้พบทองจังโกประดับส่วนยอดของเจดีย์ ทางด้านหลังมีมณฑปพระอัฎฐารศที่น่าจะเป็นมณฑปพระสี่อิริยาบถ ต่อมาได้ซ่อมแซมดัดแปลงใหม่อีกครั้ง ภายในซุ้มคูหามีพระพุทธรูปยืน เดิมมณฑปมุงหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผา นอกจากนี้ยังมีวิหารพระสองพี่น้อง อยู่ทางซ้ายมณฑปพระอัฏฐารศ ก่อด้วยศิลาแลง มีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย 2 องค์ อยู่บนแท่นพระ ทางขวาของพระวิหารพบฐานรอยพระพุทธบาท โบสถ์ ตั้งอยู่ด้านหน้า ปัจจุบันได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ขึ้นใหม่ทั้งหลังโดยสร้างทับโบสถ์เดิม
กุฏิพระร่วงพระลือ หรือ ศาลพระร่วงพระลือ มีลักษณะเป็นมณฑปที่มีฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้าง หลังคาทรงมณฑปก่ออิฐซ้อนกัน 4 ชั้น ภายในประดิษฐานรูปหล่อพระร่วงพระลือ (จำลอง)
วัดเขาพนมเพลิง ตั้งอยู่บนยอดเขาพนมเพลิงภายในกำแพงเมือง โดดเด่นด้วยเจดีย์ประธานทรงกลมและมณฑปที่ก่อด้วยศิลาแลง ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสยกพื้นสูง หลังคาโค้งแหลม มีบันไดทางขึ้นสู่มณฑปที่ชาวบ้านเรียกว่า ศาลเจ้าแม่ละอองสำลี โดยสามารถขึ้นวัดได้ 2 ทาง ได้แก่ ทางด้านหน้าวัดแก่งหลวง และด้านข้างวัด ซึ่งทางขึ้นเป็นบันไดศิลาแลง
วัดเขาสุวรรณคีรี ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกถัดจากเขาพนมเพลิงไปประมาณ 200 เมตร ที่นี่มีกลุ่มโบราณสถานที่สำคัญ คือ เจดีย์ประธานทรงกลมขนาดใหญ่ ก่อด้วยศิลาแลง ฐานเขียงใหญ่ 5 ชั้น ใช้เป็นลานประทักษิณ มีซุ้มพระทั้ง 4 ด้าน ตรงก้านฉัตรมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางลีลาในท่าเดินจงกรมรอบก้านฉัตรเช่นเดียวกับวัดช้างล้อม ด้านหลังเจดีย์ประธาน มีเจดีย์ทรงกลมล้อมรอบด้วยแนวกำแพงศิลาแลง
วัดช้างล้อม อยู่ภายในกำแพงเมืองศรีสัชนาลัย บนที่ราบเชิงเขาด้านทิศใต้ของเขาพนมเพลิง มีโบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ประธานทรงลังกา ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ภายในกำแพงแก้วสี่เหลี่ยมจัตุรัส ที่ฐานเจดีย์มีช้างปูนปั้นยืนหันหลังชนผนังเจดีย์อยู่โดยรอบ จำนวน 39 เชือก และช้างที่อยู่ตามมุมเจดีย์ทั้ง 4 ทิศ ตกแต่งเป็นช้างทรงเครื่อง มีลวดลายปูนปั้นประดับที่คอ ต้นขา และข้อเท้า ทางด้านหน้าเจดีย์ประธาน มีบันไดขึ้นสู่ลานประทักษิณ เหนือฐานประทักษิณมีซุ้มพระพุทธรูปปางมารวิชัย ผนังซุ้มมีประติมากรรมรูปต้นโพธิ์อยู่เบื้องหลังพระพุทธรูป แต่พระพุทธรูปได้ถูกทำลายไป คงเหลือเพียงองค์เดียวทางด้านทิศเหนือเท่านั้น บริเวณองค์ระฆังขึ้นไปเป็นบัลลังก์ ก้านฉัตร ประดับด้วยรูปพระสาวกปูนปั้นลีลานูนต่ำจำนวน 17 องค์ มีวิหารอยู่ด้านหน้าเจดีย์ประธาน นอกจากนั้นเป็นวิหารขนาดเล็กๆ 2 หลัง และเจดีย์ราย 2 องค์ ทั้งนี้ วัดช้างล้อม ที่เมืองศรีสัชนาลัย ตัวช้างจะมีลักษณะที่เด่นกว่าช้างปูนปั้นที่วัดอื่นๆ กล่าวคือ ยืนเต็มตัวแยก ออกจากผนัง มีขนาดสูงใหญ่กว่าช้างจริง และด้านหน้ามีพุ่มดอกบัวปูนปั้นประดับไว้
วัดเจดีย์เจ็ดแถว ตั้งอยู่ด้านหน้าวัดช้างล้อม จุดเด่นของวัดนี้คือเจดีย์แบบต่างๆ ที่มีอยู่มากมาย และเป็นศิลปะแบบสุโขทัยและศิลปะศรีวิชัยผสมสุโขทัยโดยแท้ นับว่ามีความสวยงามมากกว่า วัดอื่นในสุโขทัยเลยทีเดียว โดยโบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ประธานรูปดอกบัวตูม อยู่ด้านหลังพระวิหาร และเจดีย์รายรวมทั้งอาคารขนาดเล็กแบบต่างๆ จำนวน 33 องค์ มีกำแพงแก้วล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง นอกกำแพงมีโบสถ์ และบ่อน้ำ เจดีย์รายที่วัดเจดีย์เจ็ดแถวแห่งนี้ได้รับอิทธิพลศิลปะจากที่ต่างๆ หลายแห่ง เช่น ลังกา และพุกาม ด้านหลังเจดีย์ประธานมีเจดีย์รายที่มีลักษณะเด่น คือ ฐานเป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมจัตุรัส ยอดเป็นทรงกลม ภายในเจดีย์มีซุ้มโถง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปูนปั้น มีภาพจิตรกรรมเป็นภาพอดีตพระพุทธเจ้า เหล่าเทวดา และกษัตริย์ ส่วนซุ้มจระนำด้านหลังของเรือนธาตุทำเป็นพระพุทธรูปนาคปรก ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า วัดเจดีย์เจ็ดแถวเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิของพระราชวงศ์สุโขทัย
วัดสวนแก้วอุทยานใหญ่ ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมือง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดเจดีย์เจ็ดแถวนัก มีโบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ประธานทรงกลม ก่อด้วยศิลาแลง องค์ระฆังได้พังทลายลง ด้านหน้ามีบันไดขึ้นไปจากมุขหลังของวิหารถึงเรือนธาตุเพื่อสักการะพระพุทธรูป เจดีย์ประธานมีวิหาร และมุขด้านหน้า ส่วนด้านหลัง มีบันไดขึ้น 5 ทาง เสาวิหาร และกำแพงวัดก่อด้วยศิลาแลง
วัดสวนแก้วอุทยานน้อย หรือ วัดสระแก้ว อยู่ห่างจากวัดช้างล้อม 200 เมตร กลุ่มโบราณสถานมีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีประตูทางเข้าด้านหน้า และด้านหลังวัด มีโบราณสถานประกอบด้วย เจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงดอกบัวตูมล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว วิหารมีซุ้มพระตั้งอยู่ด้านหลังลักษณะเป็นมณฑป หลังคามณฑปเป็นรูปโค้งแหลม ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย
วัดนางพญา ตั้งอยู่แนวเดียวกับวัดสวนแก้วอุทยานใหญ่ เป็นวัดที่มีลวดลายปูนปั้นงดง