ไลฟ์สไตล์

ขยายอิสลามศึกษาปี53ครบ350แห่ง5จ.ใต้

ขยายอิสลามศึกษาปี53ครบ350แห่ง5จ.ใต้

14 ก.ย. 2552

สพฐ.ขยายหลักสูตรอิสลามศึกษา ตั้งเป้าปี 53 เปิดสอนให้ครบ 350 แห่ง ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่สทศ.เตรียมจัดสอบ I-NET ทดสอบความรู้หลักศานาอิลสาม ในปีการศึกษา 2553 นี้

 (14 ก.ย.) นายสมเกียรติ ชอบผล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ)เตรียมขยายโครงการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรอิสลามศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากปัจจุบัน มีโรงเรียนเปิดสอนหลักสูตรอิสลามศึกษาจำนวน 274 โรงเรียน 1,763 ห้องเรียน จากจำนวนโรงเรียนสังกัด สพฐ.ทั้งหมดใน 5 จังหวัดภาคใต้ประมาณ 1,300 โรง จะให้เพิ่มเป็น 350 โรงเรียนในปี 2553 โดยจะเน้นไปที่กลุ่มโรงเรียนขยายโอกาสและโรงเรียนประจำตำบล โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีนักเรียนมุสลิมอยู่ประมาณ 80-90 % ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด

 นายสมเกียรติ กล่าวต่อว่า เหตุผลที่ขยายโครงการดังกล่าว เพราะโรงเรียนที่เปิดหลักสูตรอิสลามศึกษาแล้วได้รับความสนใจจากผู้ปกครองพานักเรียนมาเข้าเรียน ร.ร.หลายแห่งจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นมากเมื่อเริ่มเปิดหลักสูตรนี้ ผู้ปกครองพอใจที่เด็กจะได้เรียนวิชาสามัญและเรียนหลักศาสนาอิสลามไปพร้อม ๆ กัน เมื่อจบ ป.6 ม.3 และ ม.6 นอกจากจะได้รับวุฒิการศึกษาตามปกติแล้ว จะได้วุฒิการศึกษาทางศาสนาด้วย โดยนักเรียนหลักสูตรอิสลามศึกษาที่จบ ป.6 จะได้วุฒิศาสนาอิลสามระดับต้น จบ ม.3 จะได้วุฒิศาสนาอิสลามระดับกลาง และจบ ม.6 จะได้วุฒิการศึกษาระดับสูง ซึ่งนักเรียนสามารถนำวุฒิศาสนาที่ได้ไปเทียบโอนเรียนต่อที่อื่นได้

 ทั้งนี้ เพื่อประกันความมั่นใจให้กับผู้ปกครอง สพฐ.ได้ขอความร่วมมือให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.) จัดสอบ I-NET หรือการทดสอบความรู้ทางหลักศษสนาอิสลามให้ ซึ่ง สทศ.เตรียมจัดสอบI-NET ให้ในปีการศึกษา 2553 โดยจะจัดสอบนักเรียนชั้น ป.6 ม.3 และ ม.6 การจัดสอบ I-NET นอกจากจะสามารถประเมินการจัดสอนอิลสามศึกษาได้แล้ว ยังทำให้ได้ข้อมูลเพื่อนำไปปรับปรุงการเรียนการสอนอิลสามศึกษาของแต่ละโรงเรียนด้วย

 “ การจัดอิสลามศึกษานั้น จะช่วยทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนมุสลิมดีขึ้นจากก่อนหน้านี้ที่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในภาคใต้ค่อนข้างต่ำ สาเหตุเพราะนักเรียนพูดภาษาไทยไม่ได้ อีกส่วนเพราะนักเรียนต้องเรียนเยอะ นอกจากเรียนในโรงเรียนตามปกติแล้ว จะต้องไปเรียนศาสนาเพิ่มในช้วงเช้า เย็น วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ด้วย จนขาดเวลาทบทวนบทเรียน แต่สำหลักสูตรอิสลามศึกษานั้น ได้มีการบูรณาการวิชาสามัญเข้ากับวิชาศาสนา นักเรียนจะได้เรียนวิชาสามัญไปพร้อมกับเรียนศานาประมาณ 8-10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ไม่เป็นการเรียนที่หนักเกินไป “ นายสมเกียรติ กล่าว