บ๋อยอินเตอร์"200วันชีวิตลูกเรือสำราญ”
มากกว่า 200 วันต่อปีที่ “พนักงานบริการบนเรือสำราญ” มาตรฐานสากลสูงไม่แพ้งานบริการบนเครื่องบิน มาติดตามเรื่องราวงาน และชีวิตของ "อดีตบ๋อยอินเตอร์"..
มากกว่า 200 วันต่อปีที่ “พนักงานบริการบนเรือสำราญ” มาตรฐานสากลสูงไม่แพ้งานบริการบนเครื่องบิน ได้ประสบการณ์ชีวิต รู้จักเพื่อนต่างชาติ ค่าตอบแทนสูง ทุกคนทำได้อยู่ที่การเตรียมพร้อมด้านสุขภาพ ร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว ต้องมีทักษะภาษาอังกฤษ
"ระยะเวลาการทำงานขึ้นอยู่กับที่ตกลงกับทางบริษัท และเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด มากสุดประมาณ 10 เดือน น้อยที่สุดคือ 7 เดือน เวลาที่เหลือเป็นวันหยุดผมก็จะกลับมาเมืองไทยพักผ่อน ใช้เวลาอยู่กับแม่ ซึ่งเงินเดือนอาชีพนี้ค่อนข้างสูงเฉลี่ย 30,000-50,000 บาทต่อเดือน ทำทุกวันบางเดือนทำดีๆรวมแล้วก็ได้เป็นแสน”คำบอกเล่าจาก โอม-สมรัชนะ มูลสาย อดีตพนักงานบริการบนเรือสำราญบริษัทต่างชาติชื่อดัง
โอมเป็น “บ๋อยอินเตอร์” ลูกเรือไทยของบริษัทต่างชาติชื่อดัง ตั้งแต่ปีค.ศ.1999 จนถึงปีค.ศ. 2015 เป็นเวลา 16 ปี ก่อนตัดสินใจปลดชุดพนักงานถาวร กลับมาอยู่เมืองไทยเพื่อดูแลแม่ และทำอาชีพส่วนตัว แต่ถ้าให้พูดเล่าถึงเรื่องราวการทำงาน การใช้ชีวิตที่ต้องกินนอนอยู่บนเรือสำราญ ไปมาแล้วถึง 80 ประเทศทั่วโลก มีเพื่อนร่วมงานมากกว่า 60 ประเทศ เผชิญมาทุกสถานการณ์การทำงานที่ต้องพร้อมต่อการรับมือลูกค้า ตลอดจนสภาพอากาศ ที่บางวันเจอคลื่นลมแรง พายุ หนักสุดถึงขั้นเฉียดตายมาแล้วก็มี...
อดีตบ๋อยอินเตอร์ เล่าว่า เขาเรียน คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เพราะตั้งใจว่าอยากรับราชการดูแลครอบครัว พื้นฐานไม่ได้ร่ำรวย พ่อแม่เป็นเกษตรกรอยู่ในชนบทห่างไกล ครั้งนั้นได้รับทุนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เป็นทุนการศึกษาเรียนฟรี แต่ระหว่างเรียนก็ทำงานเป็นพนักงานเสริฟของโรงแรมห้าดาวควบคู่กันไป
กระทั่งเรียนจบปริญญาตรีด้วยเวลา 3 ปีครึ่ง คิดทบทวนตนเอง รู้ตัวดีว่าไม่ใช่คนอยู่นิ่ง แต่ชอบที่เรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว ตอนนั้นเองเห็นประกาศรับสมัครงานพนักงานบริการบนเรือสำราญของหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับหนึ่ง ก็หาข้อมูลพูดคุยกับรุ่นผมที่ทำงานนี้ก็รู้ว่ารายได้ดี ก็ตัดสินใจไปสมัครพ่วงเอาประสบการณ์ที่เราเป็นพนักงานเสริฟในโรงแรม สอบสัมภาษณ์ ตรวจสุขภาพ ทำทุกอย่างทุกขั้นตอนถูกต้องตามกฎหมายของกระทรวงแรงงาน ที่สุดผ่านคัดเลือกได้โกอินเตอร์ เป็น “ลูกเรือไทย”
ชีวิตบนเรือสำราญแซ่บ!! ครบทุกรสชาติ “โอม” เล่าอย่างอารมณ์ดีว่า พนักงานทุกคนทำงานหนักมากวันละ 11 ชั่วโมง บางวันก็เกิน ทำทุกวันไม่มีวันหยุด บนเรือมีลูกค้าจากทั่วทุกมุมโลก 80% มาจากอเมริกาและยุโรป แต่ละวันมีเหตุการณ์ทั้งหนักและเบาให้ต้องรับมือ ที่สำคัญป้ายชื่อบนหน้าอก ระบุชัดเจนว่า “Thailand” ตรงนี้ยิ่งเตือนให้ตระหนักและทำหน้าที่อย่างดีที่สุด ดูแลให้ลูกค้าประทับใจในบริการ เพราะถ้าทำไม่ดีสิ่งที่ลูกค้าจดจำก็คือชื่อ ประเทศ บนอก ไหนจะต้องรับมือกับเพื่อนร่วมงานที่มีทั้งดีแสนดี ไปจนถึงร้ายเพราะแข่งขันการทำงาน ยังมีเรื่องสภาพอากาศแปรปรวนก็เจอมาหมด ทั้งภาวะคลื่นลม พายุ เรือลำใหญ่ที่โครงเครงการใช้ชีวิตก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ยังไม่รวมเวลาเราคิดถึงอยากติดต่อครอบครัวที่ประเทศไทย ซึ่งไม่สะดวกสบายเท่าทุกวันนี้ ค่าอินเทอร์เน็ต โทรทางไกลแพงมากวิธีการที่ดีสุดคือการเขียนจดหมาย บางทีกว่าจดหมายที่ส่งกลับไปเมืองไทย หรือจดหมายที่เมืองไทยมาถึงมือก็ใช้เวลา 2-3 เดือน
“ทำงานหนักทุกวัน แต่เรือสำราญจะต้องจอดเทียบท่าในเมืองต่างๆ ก็ใช้ช่วงเวลาพักออกไปเที่ยวชมเมือง เรียนรู้วิถีชีวิตของคนที่อยู่ละซีกโลกกับเราว่าเป็นแบบไหนเป็นกำไรชีวิต ด้วยงานที่ทำส่งผลให้เราได้มาเจอโลกใหม่ ที่หลายๆคนอาจจะไม่ได้มีโอกาสเห็นแบบเรา ซึ่งผมภาคภูมิใจกับอาชีพนี้ เพราะงานสุจริตและเลี้ยงดูครอบครัวได้”
โอม ผ่านเหตุการณ์เฉียดตายมาหมดทั้งรถ เรือ เครื่องบิน หนักที่สุดคงเป็นเรือสำราญ ตอนนั้นเรือออกจากรัฐฟลอริด้า มุ่งหน้าสู่นิวยอร์ก เรือเอียงจบเกือบจะคว่ำ เขาฝันคืนก่อนเกิดเหตุ แต่ในฝันคลาดเคลื่อนนิดหน่อยเพราะในภาพความฝันนั้นเห็น ตัวเองและลูกเรือลากกระเป๋าบินกลับนิวยอร์ก แต่ความจริงหลังจากเกิดอุบัติเหตุเรือเอียงดิ่งแล้ว ผู้โดยสารทุกคนต้องออกจากเรือ บินกลับไปนิวยอร์ก ตกเป็นข่าวดังทั่วอเมริกา สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานหนึ่งสัปดาห์ติดกัน
ทุกวันนี้แม้จะไม่ได้ทำงานบนเรือสำราญอีกแล้ว แต่ก็นำประสบการณ์ตรงมาบอกเล่าสู่ทุกคนได้รับรู้ ผ่านตัวหนังสือ“เสิร์ฟสำราญ สวรรค์บนเรือ” ถ่ายทอดเรื่องราวที่ยังทำงานเรือสำราญ เล่มถัดมา “บ๋อยอินเตอร์เม้าท์เรือสำราญ”และ “โหด มันส์ ฮา ประสาลูกเรือ(สำราญ)” ล่าสุดได้ทำเป็นอี-บุ๊คชื่อ “โต้คลื่นเมาท์เล่าเรือสำราญ” เป็นแนวฮาวทู แนะนำและให้ความรู้ อ่านสนุก
“สิ่งที่เราได้รับมาบอกต่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ ผมจึงเป็นจิตอาสา รับเป็นวิทยากรบรรยายให้กับหน่วยงานที่สนใจฟรี ซึ่งการตอบคำถามและการบรรยายของผมจะเน้น ตอบตรงตามข้อเท็จจริง และเท่าที่ทราบเวลานี้คนไทยสนใจทำงานเรือสำราญค่อนข้างมากเกือบ 3,000 คนแล้ว”อดีตบ๋อยอินเตอร์ กล่าว
โอมทิ้งท้ายว่า ถ้าคิดจะก้าวสู่สากล ทุกอย่างอยู่ที่การเตรียมตัวซึ่งไม่ง่ายและก็ไม่ยาก นั่นคือ เตรียมพร้อมด้านสุขภาพ ร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว ต้องมีทักษะภาษาอังกฤษ การพูดต้องฉะฉาน มั่นใจ ซึ่งทุกคนต้องผ่านการทดสอบ Marilins และสำคัญที่สุดคือ ความรู้ ทักษะความสามารถในงานที่สมัครไปทำ เช่น สมัครพนักงานเสริฟก็ต้องรู้ทุกขั้นตอน สมัครบาร์ รู้ส่วนผสมเครื่องดื่ม หากใครมีประสบการณ์และผ่านงานโรงแรมก็จะมีโอกาสมากขึ้น
ขอบคุณภาพ : โอม- สมรัชนะ มูลสาย