ไลฟ์สไตล์

‘ไร่เชิญตะวัน’ ธรรมมะและทำกิน

‘ไร่เชิญตะวัน’ ธรรมมะและทำกิน

04 ก.ค. 2560

บนพื้นที่กว่า 200 ไร่ สอนคนได้ทั้งธรรมมะ และทำมาหากิน ปริศนาธรรมของชีวิตจริง

           “ธรรมมะ และทำกิน”  สองคำ สองความหมาย อธิบายความเป็น ไร่เชิญตะวัน ที่ท่าน ว.วชิรเมธี พระนักคิด นักปฏิบัติ ที่เข้าไปสร้างเป็นศูนย์วิปัสสนาสากล ได้เป็นอย่างดี

‘ไร่เชิญตะวัน’ ธรรมมะและทำกิน

            บนเนื้อที่ 207 ไร่ ที่บ้านใหม่สันป่าเหียง  ต.ห้วยสัก อ.เมือง จ.เชียงราย ติดอ่างเก็บน้ำห้วยสัก  แต่เดิมเป็นพื้นที่ปลูกลิ้นจี่ของลูกศิษย์ของท่านว.วชิรเมธี และได้ถวายให้กับท่าน ว. วชิรเมธี เพื่อให้ท่านใช้เป็นที่ปลีกวิเวก ศึกษาและปฏิบัติธรรม เพราะช่วงก่อนหน้านั้น ท่าน ว.วชิรเมธี ได้ไปปฏิบัติธรรม ปักกลด ปลีกวิเวกอยู่ที่บนเขา ที่อยู่ใกล้ๆ กับไร่ลิ้นจี่ดังกล่าวทุกเดือน ก็มีผู้คนมาหา มีชาวบ้านมาขอหวย ซึ่งไม่ใช่อย่างที่ตั้งใจไว้

            พอเจ้าของไร่ลิ้นจี่ถวายที่ดินให้ ท่านจึงเข้ามาใช้เป็นพื้นที่ปฏิบัติธรรม และปลีกวิเวก ก่อนที่จะปรับปรุงและพัฒนาให้กลายเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรม ด้วยความคิดว่า เมื่อที่นี่มีความสงบเหมาะจะปฏิบัติธรรมดีแล้ว จึงน่าจะเปิดให้ผู้คนทั่วไปได้เข้ามาเยี่ยมชม และสามารถมาปฏิบัติธรรม ศึกษาธรรมะไปในคราวเดียวกัน และให้ชื่อว่า “ไร่เชิญตะวัน” หมายถึง “เชิญธรรมะมาเป็นแสงสว่างนำทางชีวิต” ธรรมะเป็นดั่งดวงตะวัน เมื่อดวงตะวันอุทัยขึ้นมาความมืดก็อันตรธานไปฉันใด เมื่อธรรมะอุบัติขึ้นมาในใจของผู้ใด ความหลงก็ปลาสนาการไปฉันนั้น ไร่เชิญตะวันจึงเป็นดั่งรมณียสถานในการฝึกตนเพื่อก้าวพ้นจากความมืดมนของชีวิตและบรรลุสู่ภาวะ “โชติช่วงดั่งดวงตะวัน”  

            .ส่วนของพื้นที่ปลูกลิ้นจี่นี้ ท่าน ว.วชิรเมธีนั่งสมาธิแล้วเห็นว่าอันตราย เพราะมีการใช้สารเคมีเยอะมาก จึงได้ปรับเปลี่ยน  ใช้อินทรียวัตถุเข้ามาบำบัดดิน จนพอปลูกลำไยได้ ซึ่งผลผลิตที่ได้ก็ให้ญาติโยม และนักท่องเที่ยวได้เก็บกิน

‘ไร่เชิญตะวัน’ ธรรมมะและทำกิน

          ‘ไร่เชิญตะวัน’ ธรรมมะและทำกิน  

              ภายในไร่เชิญตะวัน  มีทั้งพื้นที่ส่วนที่เป็นลานปฏิบัติธรรม  ลานปริศนาธรรม พิพิธภัณฑ์หอศิลป์ ที่มีปริศนาธรรมแฝงอยู่ แม้แต่ภาพวาดด้านนอกอาคาร หากมองและพินิจพิเคราะห์ให้ดี เราก็จะได้ข้อคิดดีๆ กลับไป อย่างรูปของเด็กที่กอดก้อนทองคำ กำลังจะจมน้ำ ที่ให้ข้อคิดว่า “แค่ปล่อยก็ลอยแล้ว”  ด้านในเก็บภาพวาดมูลค่ามหาศาลของ อ.ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ  และยังมีหุ่นขี้ผึ้งท่านพุทธทาสภิกขุ รวมถึงภาพวาดของศิลปินเมืองเชียงรายอีกหลายคน

  ‘ไร่เชิญตะวัน’ ธรรมมะและทำกิน

‘ไร่เชิญตะวัน’ ธรรมมะและทำกิน

            นอกจากนี้ ยังมี วิหารดิน ที่อยู่ในโซนใหม่ เป็นวิหารกลังใหญ่สร้างด้วยดิน กับปริศนาสิงห์คู่ด้านหลังวิหาร (จากถนนจะถึงด้านหลังนี้ก่อน) โดยสิงห์ตัวหนึ่งเหยียบแองกี้เบิร์ดอยู่บนไอแพด ส่วนอีกตัวเหยียบลูกโลกอยู่บนไอโฟน ที่ให้ข้อคิดถึง การปล่อยวาง นั่นเอง

            วิหารหลังนี้ ได้ อ.สมลักษณ์ ปันติบุญ ศิลปินนักปั้นดินแห่งดอยดินแดงมาช่วยปั้นดินด้วย โดยใช้ไม้เป็นโครงสร้างเพื่อให้รับน้ำหนักได้ และใช้วิธีตอกลิ่มแบบสมัยก่อน

‘ไร่เชิญตะวัน’ ธรรมมะและทำกิน

            จากลานธรรม สู่พื้นที่ทำกิน โดยพื้นที่ส่วนหนึ่งของไร่เชิญตะวัน จัดทำเป็นแปลงเกษตร มีการปลูกพืชผักอินทรีย์ ปลูกผักสลัด โรงไส้เดือน  โรงเพาะเห็ดอารมณ์ดี  โรงทำน้ำมักชีวภาพ และอาคาร 0 บาท ซึ่งเป็นการเปลี่ยนขยะให้เป็นเงิน  และมีร้านกาแฟเก๋ๆ ไว้ให้บริการด้วย 

            แม้สถานที่นี้จะมีนักท่องเที่ยวมาก หากแต่ยังมีสถานที่สำหรัยนักปฏิบัติธรรมเสมอ  มีกฎแค่งดใช้เครื่องมือสื่อสารทุกชนิด ระหว่างเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม   

‘ไร่เชิญตะวัน’ ธรรมมะและทำกิน

             ณคุณ ศตเดชาธร หนุ่มน้อยวัย 18 ปี เป็นหนึ่งในผลงานการบ่มเพาะของไร่เชิญตะวัน ที่ทำให้เขาเข้าถึงรสพระธรรมมากขึ้น จากที่เรียนจบ ม.6 ก็เข้ามาเป็นจิตอาสาที่ไร่เชิญตะวัน และได้เข้าบวช 9 วัน ใน “โครงการ 9 วันที่ฉันตื่น”  ทำให้เขาคิดอะไรๆ ได้มากขึ้น ก่อนที่จะกลับออกไปใช้ชีวิตข้างนอก ไปเล่าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย

            ณคุณบอกว่า ชอบประโยคหนึ่งของท่าน ว.วชิรเมธี ที่ทำให้เขาฉุกคิด ก็คือ “จิตใจของมนุษย์เหมือนน้ำ”  ซึ่งน้ำชอบไหลลงที่ต่ำ จิตใจมนุษย์ก็เช่นกัน  ถ้าเราไม่พยายามว่ายทวนน้ำ เราก็ไม่มีทางที่จะเป็นคนดีขึ้นมาได้

(ล้อมกรอบ)
            ศูนย์วิปัสสนาไร่เชิญตะวัน โทร. 08-4915-6146, 08-7080-7779
            การเดินทางจากตัวเมืองเชียงราย ไปทางอำเภอเทิงสู่ตำบลห้วยสัก ระยะทาง 18 กม. ผ่านตลาดห้วยสักไปไม่ไกล มีป้ายบอกทางไปไร่เชิญตะวัน