ไลฟ์สไตล์

มมส มุ่งพัฒนาสู่มหาวิทยาลัยสีเขียว

มมส มุ่งพัฒนาสู่มหาวิทยาลัยสีเขียว

08 ก.ค. 2560

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) เอาจริงด้านจัดการขยะมูลฝอยอย่างเป็นระบบ ร่วมกับทุกส่วนงาานภายใน สร้างวินัย และสร้างจิตสำนึกให้บุคลากร นิสิต และนักเรียน คัดแยกขยะ

        มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) จัด“กิจกรรมรณรงค์โครงการบริหารจัดการขยะภายในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม”  โดยมี  ศ.ดร.สัมพันธ์ ฤทธิเดช อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นประธานเปิดงาน พร้อมแสดงสัญลักษณ์ในพิธีเปิดงาน  โดยการโยนขวดน้ำพลาสติกที่ใช้แล้ว  ลงในถังขยะประเภทถังรีไซเคิล เพื่อเป็นตัวอย่างและให้นโยบายแก่บุคลากร  นิสิต  และนักเรียน  ด้านการจัดการขยะภายในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  โดยต้องอาศัยทุกคนร่วมมือกันคนละไม้คนละมือในการรู้จักแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง  เพื่อการจัดการขยะปลายทางให้ได้ผลและเกิดประโยชน์

มมส มุ่งพัฒนาสู่มหาวิทยาลัยสีเขียว

       ผศ.ดร. ธีรยุทธ ชาติชนะยืนยง รองอธิการบดีฝ่ายอำนวยการ  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  เปิดเผยว่า  ในปัจจุบัน  มหาวิทยาลัยมหาสารคามมีปริมาณขยะเกิดขึ้น 4-6 ตันต่อวัน และเสียค่าใช้จ่ายในการกำจัด พร้อมประสบปัญหาสถานที่รับกำจัดขยะล้นไม่สามารถรองรับปริมาณขยะมูลฝอยได้ทั้งจังหวัด  ด้วยเหตุนี้ กองอาคารสถานที่  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ดำเนินการพัฒนาระบบบริหารจัดการขยะภายในมหาวิทยาลัยมหาสารคามให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  พร้อมสอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ. 2559 – 2564 มุ่งมั่นจัดการขยะมูลฝอยอย่างเป็นระบบ โดยการมีส่วน ร่วมของทุกส่วนงานพร้อมพัฒนามุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University)

มมส มุ่งพัฒนาสู่มหาวิทยาลัยสีเขียว

      ทั้งนี้  เพื่อมุ่งมั่นจัดการขยะมูลฝอยอย่างเป็นระบบโดยการมีส่วนร่วมของทุกส่วนงานภายในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม พร้อมทั้งเพื่อสร้างวินัย และสร้างจิตสำนึกให้บุคลากร นิสิต และนักเรียน ในการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ต้นทาง ตลอดจนเป็นการลดปริมาณขยะและลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะภายในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  กิจกรรมภายในงานมีผู้บริหาร อาจารย์ บุคลากร นิสิต นักเรียน และประชาชน  มากกว่า  300 คน  เข้าร่วมในพิธีเปิดงาน  ก่อนจะร่วมเดินรณรงค์การจัดการคัดแยกขยะไปตามคณะ/หน่วยงานต่างๆภายในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ซึ่งหลังจากนี้  ทางมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ได้จัดวางถังขยะที่แยกประเภทไว้  ตามจุดต่างๆ ทั่วมหาวิทยาลัยเพื่ออำนวยความสะดวกในการแยกทิ้งขยะให้ถูกประเภท

มมส มุ่งพัฒนาสู่มหาวิทยาลัยสีเขียว

       ด้าน  ศ.ดร.สัมพันธ์  กล่าวว่า การลดปริมาณขยะ  และแก้ปัญหาขยะล้นเมือง  จะสำเร็จไม่ได้ หากให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งรับผิดชอบ  จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนภายในมหาวิทยาลัย  เข้ามาเป็นส่วนร่วมในการดำเนินงาน เพื่อสร้างความเข้มแข็ง  และขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน  โดยเน้นการลด คัดแยก  และนำกลับมาใช้ใหม่ด้วยหลักการ 3R คือ R : Reduce คือ การลดการใช้, R : Reuse คือ การใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด และ R : Recycle คือ การนำหรือเลือกใช้ทรัพยากรที่สามารถนำกลับมารีไซเคิล หรือนำกลับมาใช้ใหม่  ซึ่งจะสร้างระบบบริหารจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะนำไปสู่ความร่วมมือในการแก้ปัญหาและแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป