"งดเหล้าเข้าพรรษา" แคมเปญพักตับนักดื่ม
ผลการประเมินผลพบว่ามีประมาณครึ่งหนึ่งที่หยุดดื่มเหล้าได้ตลอดพรรษาสามเดือน และ ยังพบว่าจากผลของการงดดื่ม พบว่า 81.2% ระบุประหยัดค่าใช้จ่ายได้
ทุกๆ ช่วงเทศกาลปฏิเสธไม่ได้ว่า กิจกรรม “งดเหล้า” กลายเป็นกิจกรรมหลักที่มีให้เห็นอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็น ปีใหม่ สงกรานต์ สัปดาห์พระพุทธศาสนา "เข้าพรรษา" อีกหนึ่งช่วงเวลาสำคัญที่มีการรณรงค์ของหลากหลายหน่วยงาน ให้ประชาชนคนไทย นักดื่มหน้าเก่า-ใหม่ ได้ “ลด ละ เลิกการดื่ม พักตับ พักใจ ทำสมาธิ เข้าวัด ฟังธรรม”
แต่ทำมาอย่างต่อเนื่อง 15 ปี “ลดนักดื่ม พักตับได้จริงๆ หรือ” ?
“ขอประชาสัมพันธ์กับประชาชนว่ารัฐบาลได้กำหนดให้วันเข้าพรรษาของทุกปีเป็นวันงดดื่มสุราแห่งชาติ ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 9 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ วันเข้าพรรษาเป็นวันสำคัญที่ชาวพุทธจะได้กำหนดจิตแน่วแน่ในการบำเพ็ญความดีให้ยิ่งขึ้นเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งการงดดื่มสุราก็จะถือเป็นมหากุศลด้วย เพราะหากผิดศีลข้อ 5 แล้ว ย่อมมีโอกาสละเมิดศีลข้ออื่นได้โดยง่ายในปี 2560 นี้ ตนได้ให้คำขวัญเนื่องในวันงดดื่มสุราว่าห่างไกลสุรา ประชาเป็นสุข ปลอดภัยพาชาติไทยเจริญ” คำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ฝากถึงประชาชนคนไทย
สุราก่อให้เกิดผลกระทบต่อทั้งตัวผู้ดื่มเอง ครอบครัว บุคคลรอบข้างชุมชน สังคม และประเทศชาติ ด้วยมาจากที่การดื่มสุรา ก่อให้เกิดโรคภัยมากมายที่ส่งผลถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สังคม และเศรษฐกิจไทย ดังนั้น ขอเชิญชวนพ่อ แม่ พี่ น้อง ชาวไทยทุกท่าน ลด ละ เลิกสุรา และ ช่วยกันปกป้องเยาวชนของเราให้ห่างไกลเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
“สธ.จัดกิจกรรมวันงดดื่มสุราแห่งชาติ” นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปี 2557 องค์การอนามัยโลกระบุว่า คนไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเป็นอันดับที่ 78 ของโลก เฉลี่ย 7.1 ลิตรต่อคนต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในกลุ่มผู้หญิง และจากรายงานภาระโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทย ยังพบว่าครัวเรือนที่มีสมาชิกดื่มสุราจะมีค่าใช้จ่ายสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 6-8% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดเพื่อเป็นการรณรงค์ให้คนไทยลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 ให้ “วันเข้าพรรษา”เป็นวันงดดื่มสุราแห่งชาติ ซึ่งในปีนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้มอบคำขวัญเนื่องในวันงดดื่มสุราแห่งชาติ ประจำปี 2560 ว่า “ห่างไกลสุรา ประชาเป็นสุข ปลอดภัย พาชาติไทยเจริญ” ร่วมรณรงค์ให้พี่น้องชาวไทยทำสิ่งดีๆ เริ่มต้นที่ตัวเรา ไม่ต้องใช้ต้นทุนหรือมีค่าใช้จ่ายใดๆ เพียงแค่ ลด ละ เลิกดื่มสุรา ในช่วงเข้าพรรษา งดให้ได้ครบพรรษา และตลอดไป เพื่อประโยชน์ต่อตัวเอง ครอบครัว
ปัจจุบันวัยรุ่นและเยาวชนไทย มีพฤติกรรมการดื่มสุราเพิ่มขึ้น โดยข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ประชากรอายุ 15 – 24 ปี เป็นกลุ่มที่เริ่มดื่มเบียร์ครั้งแรกในชีวิตสูงสุด คิดเป็น 51.94% ของผู้ดื่มทุกกลุ่มอายุ และเป็นกลุ่มที่มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงเป็นอันดับ 1 และจากการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปี 2558 พบว่าประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ประมาณ 18 ล้านคน มีอัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เช่น อุบัติเหตุจราจร การทะเลาะวิวาท อาชญากรรม การฆ่าตัวตาย รวมถึงความรุนแรงในครอบครัว เป็นต้น
จากการประเมินโครงการ “งดเหล้าครบพรรษาปี 2559” โดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ประชากรไทยกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไป ใน 12 จังหวัด รวม 4,296 ตัวอย่าง พบว่า 3 ใน 4 หรือ 74.2% เคยพบเห็น/รับรู้ถึงการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาในปี 2559 โดยคนที่เข้าร่วมโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาปี 2559 มีถึง 12 ล้านคน โดย 5.8 ล้านคน หรือ 32.2% งดตลอด 3 เดือน ได้สำเร็จ อีก 2.9 ล้านคน หรือ 16.3% งดเป็นบางช่วง และ 3.3 ล้านคน หรือ 18.6% ไม่งด แต่ลดการดื่มลง ส่งผลให้ประมาณการว่าช่วยประหยัดเงินไป 13,459 ล้านบาท
ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล
ขณะที่ ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)กล่าวว่า การรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาได้ดำเนินการมาเป็นปีที่ 15แล้ว ตั้งแต่มีเพียง 40% ของผู้ดื่มสุราที่เข้าร่วมโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาในปี 2546 ขึ้นมาเป็น 70 – 80% ในช่วงสองสามปีหลังนี้
ผลการประเมินผลพบว่ามีประมาณครึ่งหนึ่งที่หยุดดื่มเหล้าได้ตลอดพรรษาสามเดือน และ ยังพบว่าจากผลของการงดดื่ม พบว่า 81.2% ระบุประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 80.5% ระบุสุขภาพร่างกายดีขึ้น นอกจากนี้ยังมี 50.2% ระบุสุขภาพจิตใจดีขึ้น และ31.1% ระบุลดปัญหาในครอบครัว/มีความสุขในครอบครัวมากขึ้น
และเมื่อสอบถามถึงแนวโน้มของการดื่มหลังออกพรรษา พบว่ากลุ่มเป้าหมาย มีความตั้งใจจะงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อไปหลังจากออกพรรษา 60.5% ตั้งใจจะงด/ลด ให้น้อยลง โดยมี 13% ตั้งใจจะเลิกไปเลย ขณะที่26.1% จะกลับมาดื่ม(เฉลี่ยภายใน 10วัน)
“ด้วยพบว่าเกิดข้อดีมากมายจากการงดเหล้าเข้าพรรษา ทางสสส.และภาคีเครือข่ายงดเหล้า จึงพัฒนาให้เกิดการเลิกเหล้าตลอดชีวิตสำหรับผู้ที่สมัครใจขึ้น โดยสนับสนุนให้เกิดการตั้งชมรมคนหัวใจเพชร ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่เลิกเหล้าโดยเด็ดขาดได้อย่างต่อเนื่องสามปีขึ้นไป มารวมตัวกันเพื่อที่จะให้กำลังใจกัน ช่วยเหลือกัน และ เพื่อที่จะไปแสดงตัวเป็นบุคคลต้นแบบที่สามารถเลิกดื่มสุราได้อย่างเด็ดขาด โดยไปช่วยเหลือแนะนำให้คนที่ยังดื่มสุราอยู่ให้เลิกดื่ม และ ไปแนะนำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ห่างไกลจากสุราต่อไป” รองผู้จัดการ สสส.กล่าว
สำหรับกิจกรรม “การรณรงค์เข้าพรรษาปี 2560” นี้ เน้นความร่วมมือจากชุมชนจนถึงระดับอำเภอ และจังหวัด ในการ ชวน ช่วย ชมเชียร์ ให้คน ลด ละ เลิกเหล้า จึงต้องทำอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากก่อนเข้าพรรษา จะมีการจัดกิจกรรมคนบวชใจปฏิญาณตนใน 77จังหวัด
จากนั้นระหว่างพรรษามีการให้กำลังใจคนเลิกเหล้าครบพรรษา ที่เรียกว่า “คนหัวใจเพชร” ซึ่งจะมีการจัดเวทียกย่องในช่วงออกพรรษา สำหรับคนที่ผ่านการงดเหล้าและเลิกเหล้าได้ตลอดชีวิต อย่างน้อยครบ 3ปี ขึ้นไปจะสามารถเข้าเป็นสมาชิกชมรม“คนหัวใจเพชร” พร้อมกันนี้ในแต่ละจังหวัดจะก่อตั้งชมรมคนหัวใจเพชรขึ้น โดยจะมีสมาชิกชมรมนักรณรงค์จิตอาสาคนหัวใจเพชรเป็นนักรณรงค์จิตอาสาคนหัวใจเพชร..ปี 2560 (รุ่นที่1)เพื่อช่วยเหลือให้กำลังใจคนที่กำลังเลิกเหล้าให้สามารถทำความตั้งใจได้สำเร็จ
นายธีระ วัชรปราณี
ด้าน นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า บอกว่า จากการขับเคลื่อนกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษาในช่วง 3 เดือนใน 15 ปีผ่านมา มีผู้ร่วมงดเหล้ามากขึ้น 70-80% จากที่ในปีแรกมีผู้เข้าร่วมเพียง 15% โดยพบว่าสามารถงดได้ตลอดเวลา 3 เดือนอยู่ที่ 30% อีก 40% ส่วนใหญ่จะแหกพรรษาใน 1 เดือนแรก เนื่องจากมีการสังสรรค์ เพื่อนชักชวนดื่ม แต่อย่างน้อยก็ลดความถี่ในการดื่ม ขณะที่จำนวนผู้ที่ลด ละ เลิกได้ต่อเนื่องมีประมาณ 4-5% ทั้งนี้ คนไทยดื่มเหล้าประมาณ 17 ล้านคน หรือคิดเป็น 30% ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป แต่อย่างน้อยในการรณรงค์ให้ลด ละ เลิกดื่มในช่วงเข้าพรรษานี้ก็พบว่า คุณภาพชีวิตดีขึ้น สภาพสังคมดีขึ้น ครอบครัวมีความสุข อุบัติเหตุลดลง
"ชรมคนหัวใจเพชร" ปฏิญาณตนงดเหล้า
การรณรงค์เพื่อให้คนเลิกดื่มอย่างถาวร ยังเป็นงานที่ยาก และต้องใช้ต้องใช้เวลา เพราะเป็นเรื่องของจิตสำนึก ขณะเดียวกัน สังคมไทยมีค่านิยมว่ามีงานเลี้ยงสังสรรค์ ต้องมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังไม่รวมกับการตลาดของธุรกิจน้ำเมา ที่มักหาช่องทางในการส่งเสริมการขาย ลดแลกแจกแถม อีกทั้งยังมีร้านค้าที่ทำให้คนเข้าถึงการดื่มได้ง่าย โดยเฉพาะเด็กเยาวชนกลุ่มนักดื่มหน้าใหม่ มีเพิ่มขึ้นปีละ 2.5 แสนคน เพราะฉะนั้น การจะแก้ปัญหาการดื่มเหล้า ต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน กรบังคับใช้กฎหมายก็ต้องเข้มข้นด้วย
อย่างไรก็ตาม การใช้วิธีสร้างเครือข่าย “คนหัวใจเพชร” กระจายทุกจังหวัด ธีระ บอกว่า ตั้งเป้าให้มีแกนนำหัวใจเพชร ในทุกจังหวัดๆละ 10-20 คน ซึ่งมาจากคนที่เลิกดื่มมาต่อเนื่อง และตั้งใจจะเลิกดื่มตลอดชีวิต มาช่วยเป็นกระบอกเสียง เชิญชวนให้ทุกคนหยุดการดื่ม “ปีนี้จะมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทางเครือข่ายฯจึงเชิญชวนให้ทุกคนมาร่วมทำความดี ลด ละ เลิกดื่ม เพื่อถวายในหลวงร.9 ด้วยใช้วิธีการไปชวน ช่วย เชียร์”นายวีระ กล่าวทิ้งท้าย
o ทีมข่าวคุณภาพชีวิต [email protected] o
ภาพ สสส.