เรียนง่าย -เดือนละ2ครั้งที่มา"ปริญญา"ไม่รับรอง
อยากให้กรณี นศ.ปริญญาโทศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต บริหารการศึกษา รหัส 57 ม.กรุงเทพธนบุรีในครั้งนี้เป็นบทเรียนเตือนใจให้กับวงการครูในอนาคตต่อไป
“ก็อยากเรียนเพื่อเตรียมไว้สอบผู้บริหารสถาบันการศึกษา เห็นเขามาโรดโชว์ตามต่างจังหวัดว่าเรียนที่นี่แล้วได้ใบประกอบวิชาชีพ มีรถมารับจากบ้านไปเรียนที่มหาวิทยาลัยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายและไปส่งกลับด้วย แต่ละจังหวัดจะหัวหน้าศูนย์รับดูแลไปอำนวยความสะดวก คนที่มาเรียนส่วนใหญ่จะเป็นข้าราชการครู ที่อายุราชการยังไม่มาก แต่อยากเรียนไว้เพื่อปรับวุฒิรอสอบเป็นผู้บริหารสถานศึกษา” ครู 1 ใน 800คนที่เรียนปริญญาโท หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาบริหารการศึกษา หลักสูตรปีการศึกษา 1/2557 (รหัส 57) ม.กรุงเทพธนบุรี กล่าว
ค่าเรียนตลอดหลักสูตร 1.47 แสนบาท ถ้าจ่ายครั้งเดียวจะไม่มีดอกเบี้ย แต่ถ้าทยอยจะมีดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี อย่างที่รับรู้กันในสังคมไทยให้ความสำคัญกับปริญญา เพราะเชื่อว่าเป็นใบเบิกทางเพื่อเลื่อนชนชั้น ไปเป็นผู้บริหารระดับสูง บางทีคนที่มาเรียนก็ตั้งเป้าเพื่อให้คุณสมบัติครบตามที่ระเบียบกำหนดไว้
ยกตัวอย่างเช่นข้อบังคุรุสภาว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ พ.ศ. 2559 ที่ลงนามโดย พล.อ. ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี อดีตรมว.ศึกษาธิการ ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2559
กำหนดคุณสมบัติผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และศึกษานิเทศก์ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู มีความรู้และประสบการณ์วิชาชีพตามที่กำหนดในข้อบังคับว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ และประพฤติตนตามจรรยาบรรณของวิชาชีพการขอขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาต และการออกใบอนุญาตจะต้องยื่นเอกสารหลักฐาน เช่น สำเนาเอกสารที่แสดงการมีความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ หลักฐานการรับรองการประพฤติจากผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้าหน่วยงาน เป็นต้น
นิโรธ นิ่มวิวัฒน์
“สนใจตอนที่มีตัวแทนไปประชาสัมพันธ์หลักสูตร เขาบอกเรียนง่ายได้ความรู้มาเรียนที่กรุงเทพฯเดือนละ 2 ครั้ง เหมารถกันมากับครูอื่นๆ รวม 12 คน มาเรียนรวมในห้องเรียนประมาณ 100 กว่าคน บางวิชา 200 กว่าคนโดยมีอาจารย์มาสอนด้วยตนเอง ช่วงที่ไม่ต้องมาจะมีทำงานกลุ่ม และมีทำงานวิจัย ยอมรับตอนสมัครเรียนไม่รู้ว่ามหาวิทยาลัย รับนักศึกษามากถึง 2,500 คน และไม่รู้ว่าหลักสูตรไม่ผ่านการรับรอง หากฟ้องร้องและได้เงินคืนทั้งหมดก็ตั้งใจจะไปสมัครเรียนที่สถาบันอุดมศึกษาแห่งอื่น”นักศึกษาปริญญาโท จ.บุรีรัมย์ รายหนึ่งกล่าว
เช่นเดียวกับ “นิโรธ นิ่มวิวัฒน์” ที่ตัดสินใจเรียน เพราะมีตัวแทนไปแนะนำหลักสูตรถึงหนองคาย โดยบอกว่าหลักสูตรฯ นี้มีศักดิ์และสิทธิ์ตามกฎหมาย จบแล้วสามารถนำไปขอใบอนุญาตฯผู้บริหารการศึกษาจากคุรุสภาได้
“ความเสียหายที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบให้ เราต้องเสียโอกาส เช่น ถูกเพิกถอนสิทธิการสอบผู้บริหารสถานศึกษา เพราะไม่มีใบอนุญาตฯ หรือเมื่อเกิดความเสียหาย มหาวิทยาลัยไม่เคยแจ้งข่าวหรือประชาสัมพันธ์ให้นักศึกษาทราบ การจ่ายชดเชยก็ยังมีการทำสัญญาให้นักศึกษาที่รับเงินไม่เรียกร้องค่าเสียหายใดๆจากการปรึกษากับทนาย ข้อตกลงนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมายื่นฟ้องอีกครั้ง”นิโรธ กล่าว
ตัวแทนกลุ่มนักศึกษาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาบริหารการศึกษา รุ่น 1/2557 กล่าวว่าวันที่ 25 ก.ค.นี้จะนำเอกสารหลักฐานทั้งหมด ไปส่งให้สภาทนายความ พร้อมกับส่งเอกสารหลักฐานไปสำนักนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่เคยรับเงินชดเชยมาแล้ว 30,000 บาท จำนวน419 คน ซึ่งในกลุ่มนี้มีบางรายยังไม่ได้รับเช็คและได้แจ้งสละสิทธิ 2.กลุ่มที่รับ 70,000 บาท จำนวน 385 คน แจ้งถอนสิทธิ์ 25 คน และ 3.กลุ่มที่ไม่เคยรับเงินชดเชยมาก่อนเลย จำนวน 294 คน โดยเรียกร้องให้จ่าย 147,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย 7.5%
จะว่าไปแล้ว “มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี” เป็น 1 ใน 10 สถาบันการศึกษาที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เคยออกมาเปิดเผยข้อมูลว่ามีการรับนักศึกษาเกินกว่าที่ได้รับอนุมัติ อาจจะทำให้มีปัญหาเรื่องคุณภาพ ขอให้ปรับปรุงการดำเนินการจัดการเรียนการสอนให้เป็นไปตามมาตรฐาน มี“ดร.ชาญชัย ชัยรุ่งเรือง" อดีตรมต.กระทรวงอุตสาหกรรม และอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน (พผ.) เป็นประธานมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี และ “ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล” เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ทั้งสองเป็น คู่ชีวิต ตั้งแต่ปี 2549
เดิม ชื่อว่า “วิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี” ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2545 แต่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการอุดมศึกษาและผ่านการอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สมัยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ให้เปลี่ยนประเภทสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเป็น “มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี(มกธ.) หรือ Bangkokthonburi University (BTU)” ในวันที่ 11 มิถุนายน 2552
"ชาญชัย" เคยเป็นเลขาธิการพรรคเพื่อแผ่นดินในช่วงปลายปี 2551 ซึ่งมีพลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก เป็นหัวหน้าพรรค ต่อมาได้มีการยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประชุมว่าผิดข้อบังคับ โดย กกต. ได้มีมติเห็นว่าการประชุมดังกล่าวผิดข้อบังคับ
หลังจากนั้นได้มีการลงมติเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ ปรากฏว่าเขาได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดินแทน จนกระทั่งในช่วงเดือนพฤษภาคม 2554ชาญชัย พร้อมด้วยสมาชิกพรรคเพื่อแผ่นดิน ได้ตัดสินใจย้ายไปร่วมงานการเมืองกับพรรครวมชาติพัฒนา และเปลี่ยนชื่อพรรคใหม่เป็น พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน
ทั้งนี้ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 39/2559 เรื่องการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ตามข้อ 4 ให้คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.)รายงานต่อรมว.ศึกษาการ เมื่อปรากฏว่าสภาสถาบันอุดมศึกษาหรือสถาบันอุดมศึกษาแห่งใดมีปัญหา ที่ผ่านมาได้มีการนำเสนอรายชื่อมหาวิทยาลัยที่มีปัญหา ทั้งหมด 12 แห่ง แบ่งเป็น ม.รัฐ 2 แห่ง มีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาล และม.เอกชน 10 แห่ง มีปัญหาเรื่องการจัดการศึกษาไม่เป็นไปมาตรฐานการศึกษาอุดมศึกษาหรือมาตรฐานหลักสูตร
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กล่าวว่าการที่ผู้สำเร็จการศึกษา ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากมหาวิทยาลัย ถือเป็นเรื่องที่ถูกต้อง จะมาฟ้องศธ. หรือสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไม่มีประโยชน์ เพราะโดยหลักการมหาวิทยาลัยต้องรับผิดชอบ การจัดการเรียนการสอนที่ไม่มีคุณภาพ
ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์
ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่ามหาวิทยาลัยจัดการศึกษาไม่เป็นไปตามแผนที่เสนอมา คือตามแผนกำหนดรับ 490 คน แต่มหาวิทยาลัยรับจริง 2,500 คนเกินกว่าแผนถึง 5 เท่า ซึ่งอาจมีผลทำให้การจัดการศึกษาไม่มีคุณภาพ คุรุสภาจึงไม่อนุมัติใบอนุญาตฯ
0 หทัยรัตน์ ดีประเสริฐ 0 [email protected] 0