ไลฟ์สไตล์

“ถั่วฝักยาวดิบ” อันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

“ถั่วฝักยาวดิบ” อันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

21 ก.ค. 2560

“ถั่วฝักยาวดิบ” อันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

      สวัสดีค่ะ คุณผู้อ่านทุกท่าน นกเชื่อว่าคนรักสุขภาพอย่างเราต้องชอบรับประทานผักสดหลายอย่างแน่ๆ เพราะผักดีต่อสุขภาพ ช่วยให้เราขับถ่ายสะดวกด้วยนะคะ แต่ทราบไหมคะว่า มีเจ้าผักหนึ่งชนิดที่คนไทยคุ้นเคยอย่างมากอยู่ในอาหารประจำชาติเราก็คือส้มตำนั่นเอง มันมาเป็นผักเคียงข้างลาบไก่ และอีกหลายๆ จานอร่อย แต่ถ้ารับประทานดิบมันจะมีโทษมากกว่าให้ผลดี ทราบหรือยังคะว่า นกพูดถึงผักอะไร?

      “ถั่วฝักยาว” เป็นผักอีกหนึ่งชนิดที่เรามักจะคุ้นหน้าคุ้นตา กันแทบทุกเมนูอาหาร ไม่ว่าจะนำมารับประทานแบบสุก เช่น ผัดพริกแกงใส่ถั่วฝักยาว นอกจากนั้นยังนิยมนำมารับประทานเป็นผักเคียง เพิ่มความกรุบกรอบและสดชื่นให้กับอาหาร ทั้งเมนูลาบ ส้มตำ หรือขนมจีนน้ำยา เรียกได้ว่า “ถั่วฝักยาว” รับประทานกับอะไรก็อร่อย

      ยิ่งไปกว่านั้นถั่วฝักยาวยังประกอบไปด้วยสารอาหารหลายชนิด ทั้งวิตามินซี แคลเซียม ฟอสฟอรัส และโปรตีน ซึ่งล้วนแต่มีความสำคัญต่อร่างกาย อย่างไรก็ตามแม้ว่า “ถั่วฝักยาว” จะมีรสชาติอร่อยและเต็มไปด้วยคุณประโยชน์ แต่ที่ผ่านมาก็ได้มีองค์กรหลายๆ องค์กรออกมาเตือนถึงโทษภัยของการรับประทานถั่วฝักยาว โดยเฉพาะรับประทานแบบสดหรือแบบดิบอยู่หลายครั้ง ซึ่งอาจเกิดอันตรายได้ แบ่งได้เป็น 4 ข้อดังนี้

     1.ทำให้ท้องอืด ปกติคนไทยจะนิยมรับประทานถั่วฝักยาวดิบมากกว่า นอกจากรสชาติจะไม่ขมแล้ว ยังมีความกรุบกรอบกินได้ไม่เบื่อ แต่ในความเป็นจริง ถั่วฝักยาวดิบมีแก๊สอยู่ค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ หรือมีเทน ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้เกิดกรดเกินในกระเพาะอาหาร หรือท้องอืดได้ ดังนั้นควรรับประทานแต่พอดีหรือนำไปผ่านความร้อนให้สุกเสียก่อน

      นกขอแนะนำว่าควรนำถั่วฝักยาวไปลวกก่อนรับประทานก็จะดีกว่ารับประทานดิบๆ นะคะ หรือกินผักกรุบกรอบอื่นไปเลย เช่น แตงกวา, แครอท แช่น้ำเย็นๆ ให้กรอบอร่อย

      2.เกิดอาการท้องเสียได้ ในถั่วฝักยาวจะมี “ไกลโคโปรตีน และเลคติน” อยู่ค่อนข้างมาก โดยสารดังกล่าวมีส่วนทำให้เกิดอาการวิงเวียน และคลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรง จากการวิจัยขององค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา ระบุว่า การรับประทานถั่วฝักยาว (รวมไปถึงถั่วดำและถั่วแดง) แบบดิบๆ จะเพิ่มความเสี่ยงในการแพ้อาหาร และทำให้มีอาการท้องเสียรุนแรงร่วมด้วย

     วิธีแก้ปัญหา นกว่าควรนำเอาถั่วฝักยาวไปต้ม ผัด แกง ทอด ได้ตั้งหลายเมนู เช่น แกงไตปลาก็ต้มและแกงถั่วฝักยาวในคราวเดียวกันได้ ผัดพริกขิงก็ผัดถั่วฝักยาวให้สุกซะก่อน ทอดถั่วฝักยาวก็ทอดมันไงค่ะ ครีเอทเมนูง่ายจะตาย อร่อยกว่ากินดิบๆ ตั้งเยอะ

      3.เป็นสาเหตุของลำไส้อุดตัน ถั่วฝักยาวดิบจะมีผนังเซลล์ค่อนข้างเหนียวและแข็งแรง สำหรับผู้สูงอายุบางท่านหากเคี้ยวถั่วฝักยาวไม่แหลก ชิ้นส่วนของถั่วที่ไม่ผ่านการย่อยก็จะไปอุดตันในลำไส้และกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดภาวะลำไส้อักเสบและอุดตัน นอกจากนั้นยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารอีกด้วย นกขอแนะนำให้หั่นถั่วผักยาวแบบซอยละเอียดก่อนปรุง แบบที่เขาใส่ข้าวคลุกกะปินะคะ ก็จะช่วยบรรเทาปัญหานี้ได้

      4.เสี่ยงต่อการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลง จากการสุ่มตรวจของกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับ Thai-Pan ในปี 2558 ระบุว่า พบสารตกค้างจำพวกยาฆ่าแมลงในถั่วฝักยาวถึง 37.5% หรือสูงสุดเป็นอันดับสอง รองจากกะเพรา โดยยาฆ่าแมลงที่ว่านี้อาจทำให้ผู้บริโภคมีอาการน้ำตาไหล ม่านตาหรี่ หน้าท้องแข็งเกร็งเป็นตะคริว หากตกค้างในร่างกายเป็นจำนวนมากจะทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว

        ดังนั้นหากใครที่ชอบรับประทานถั่วฝักยาวต้องล้างทำความสะอาดให้ดี เพื่อลดความรุนแรงของยาฆ่าแมลงและสารพิษอื่นๆ ในกระบวนการเพาะปลูก นกขอแนะนำว่า หากรักจะกินถั่วฝักยาวต้องเลือกแบบออแกนิกหรือเกษตรอินทรีย์เท่านั้นค่ะ เพราะมันเป็นพืชเศรษฐกิจยังไงเขาก็ฉีดยาฆ่าแมลงอย่างหนักชัวร์

       จากโทษของการรับประทานถั่วฝักยาวดิบข้างต้นน่าจะช่วยให้ผู้ที่ชื่นชอบการรับประทาน “ถั่วฝักยาว” หันมาใส่ใจเรื่องของปริมาณการรับประทานและกรรมวิธีในการปรุงหรือประกอบอาหารมากขึ้น การรับประทานถั่วฝักยาวก็จะไม่เป็นอันตรายอีกต่อไป อย่าลืมนำเคล็ดไม่ลับของการรับประทานถั่วฝักยาวไปปรับใช้กันด้วยนะคะ

        แวะมาคุยเรื่องสุขภาพกับนกได้ที่แฟนเพจ FB : Health Society by Nok Chalida นะคะ และติดตามชมรายการ เฮลท์โซไซตี้ ทางช่อง 13 ทุกวันเสาร์ 10.00 น. ค่ะ