ติวเข้มวิทยาลัยสอนนักศึกษาพิการ
สอศ.จัดอบรมวิทยาลัยอาชีวศึกษา เตรียมพร้อมจัดการศึกษาเพื่อ พัฒนาเพื่อนักศึกษาพิการเรียนรวม
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีนโยบายในการส่งเสริม สนับสนุน และเปิดโอกาสให้คนพิการได้เข้าศึกษาในระดับอาชีวศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนทุกคนได้รับสิทธิและโอกาสในการศึกษาอย่างเสมอภาค โดยใช้วิธีจัดการอาชีวศึกษาแบบเรียนรวม (การจัดการเรียนรวม : Inclusive) อย่างต่อเนื่องเพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงการศึกษาอาชีวศึกษาได้อย่างทั่วถึง
นายวณิชย์ อ่วมศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า สอศ.มีเป้าหมายขับเคลื่อนอาชีวศึกษาเพื่อคนพิการอย่างเป็นรูปธรรม ได้จัดการศึกษาสำหรับนักเรียน นักศึกษาพิการที่มีความต้องการพิเศษทุกประเภทได้เข้าเรียนและได้รับการพัฒนาตามความต้องการจำและความเป็นเฉพาะบุคคล ให้เรียนร่วมกับเด็กปกติโดยไม่แบ่งแยกได้รับการศึกษา สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา และสภาพแวดล้อม รวมถึงจัดให้มีการศึกษาอาชีวศึกษาเพื่อคนพิการในระบบทวิภาคี หลักสูตรระยะสั้น และระบบปกติ เพื่อสร้างให้เกิดอาชีพแก่นักศึกษาพิการอีกทั้งยังมีรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นภาระของสังคม และสามารถผลิตกำลังคนพิการที่มีความสามารถมีทักษะการทำงานเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อีกด้วย
รองเลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษา ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ 1. เป็นการพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษา ครู และบุคลากร สังกัด สอศ. จำนวน 50 แห่ง ที่มีนักศึกษาพิการเรียนรวม เกิดองค์ความรู้ ความสามารถ และทักษะในการพัฒนาสมรรถภาพของนักเรียน นักศึกษาพิการเรียนรวมในแต่ละประเภทความพิการได้อย่างเหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพ 2.จัดให้มีการจัดตั้งศูนย์ต้นแบบอาชีวศึกษานักศึกษาพิการสังกัด สอศ.ในการบริหารจัดการ การให้คำปรึกษา การสนับสนุนการเรียนการสอน การมีงานทำ และการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพและ 3.สร้างแบบประเมินความพร้อมของนักเรียน นักศึกษาพิการก่อนเข้าศึกษาในสถานศึกษาอาชีวศึกษา มีผู้อำนวยการสถานศึกษา รองผู้อำนวยการ ครูและบุคลากร ในสังกัด สอศ. จำนวน 110 คน เข้าร่วมอบรม
ด้าน นายพรอนันต์ ภักดีบุญ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล กล่าวเสริมว่า ในปีการศึกษา 2560 นี้ มีนักเรียน นักศึกษาพิการ ที่กำลังศึกษาอยู่จำนวน 1,200 คน ซึ่งที่ผ่านมา สอศ. สามารถผลิตนักศึกษาพิการเข้าทำงานในสถานประกอบการได้มากกว่า 500 คนต่อปี จึงได้รับการยอมรับจากหน่วยงานคนพิการ อาทิ มูลนิธิคนพิการ สถาบันการศึกษาที่จัดการศึกษาคนพิการ รวมถึงกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ