ไลฟ์สไตล์

ชุดกู้ชีพ"รพ.นาสาร" ต้นแบบช่วยผู้ป่วยฉุกเฉิน

ชุดกู้ชีพ"รพ.นาสาร" ต้นแบบช่วยผู้ป่วยฉุกเฉิน

25 ส.ค. 2560

สพฉ.ยก “นาสารโมเดล” แม่แบบจัดการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินในพื้นที่ห่างไกล ชูระบบเครือข่ายในพื้นที่เข้มแข็งประสานทั้งรัฐและเอกชน ส่งต่อความรู้การใช้งานสายด่วน 1669

       ร.อ.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า การให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินในท้องถิ่น เป็นสิ่งที่ทางสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ถ้ายิ่งเป็นพื้นที่ห่างไกล หากมีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ จะสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยได้ ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีหน่วยปฏิบัติการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ดำเนินงานการแพทย์ฉุกเฉินครอบคลุมทั่วประเทศกว่า 67% ของพื้นที่ ซึ่งพื้นที่อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฏร์ธานี เป็นหนึ่งหน่วยงานที่สามารถดำเนินการระบบการแพทย์ฉุกเฉินในท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการส่งต่อผู้ป่วยทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศยาน ทั้งที่ตัวพื้นที่จะอยู่ห่างไกล ติดเขาและทะเล  จึงถือเป็นต้นแบบการจัดการของของการวางระบบการให้บริการผ่านสายด่วน 1669

ชุดกู้ชีพ\"รพ.นาสาร\" ต้นแบบช่วยผู้ป่วยฉุกเฉิน

        เลขาธิการ สพฉ.กล่าวต่อว่า การดำเนินการระบบการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่ อ.นาสาร มีความน่าสนใจ ให้บริการประชาชนแบบคลอบคลุมทั่วถึง รวม 11 ตำบล ผ่านชุดปฏิบัติการฉุกเฉิน รวมทั้งสิ้น 12 หน่วย กระจายอยู่เกือบทุกตำบล ทำให้เกิดความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจัยสำคัญ มาจากการสร้างเครือข่ายในท้องถิ่นทั้ง โรงพยาบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมูลนิธิภาคเอกชน ในการทำงานร่วมกัน ทั้งเรื่อง อุปกรณ์ ยานพาหนะ รถ เรือ เครื่องบิน  ในการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน ทำให้เกิดความรวดเร็วมีประสิทธิภาพทำให้ประชาชนไว้ใจ และมีผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้น

ชุดกู้ชีพ\"รพ.นาสาร\" ต้นแบบช่วยผู้ป่วยฉุกเฉิน

       ขณะที่ นพ.จารุวิทย์ บุษบรรณ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ในเริ่มแรกที่ชุดปฏิบัติการกู้ชีพฉุกเฉินที่อ.บ้านนาสาร ออกดำเนินการโดยที่ยังไม่มีเครือข่ายมาร่วมนั้น การเตรียมพร้อมออกปฏิบัติการ จะใช้เวลามากกว่า 10 นาที จนมาถึงปี 2550  โรงพยาบาลบ้านนาสาร ได้เริ่มพัฒนาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ พัฒนาระบบสื่อสาร รวมทั้งการพัฒนาระบบเครือขายให้มีความเข้มแข็ง โดยมีความร่วมมือจาก มูลนิธิภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จนทำให้ปัจจุบันนี้ ทีมงานกู้ชีพฉุกเฉินของโรงพยาบาลมีความพร้อมต่อการออกปฏิบัติการภายใน 2 นาทีเท่านั้น

ชุดกู้ชีพ\"รพ.นาสาร\" ต้นแบบช่วยผู้ป่วยฉุกเฉิน

       “จุดเด่นของการให้บริการกู้ชีพฉุกเฉินของเรา คือ การให้บริการที่รวดเร็ว อันเป็นผลมาจากการมีเครือข่ายที่เข้มแข็งคลอบคลุมทั้งอำเภอ รวม 11 หน่วย โดยเฉพาะความร่วมมือจากทั้งมูลนิธิภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีกิจกรรมการพัฒนาการให้บริการร่วมกัน อาทิ การประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินอำเภอปีละ 1 ครั้ง การประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดเดือนละ 1 ครั้ง จัดโครงการซ้อมแผนรับมือสาธารณภัยของอำเภอ ปีละ 1 ครั้งเป็นต้น”ผอ.โรงพยาบาลบ้านนาสาร กล่าว

       อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวทำให้มีผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2559 สามารถออกให้บริการได้ 3,151 ครั้ง มีผู้ป่วยฉุกเฉินกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดขอใช้บริการมากสุดถึง 75%