ไลฟ์สไตล์

"ดอกปีบ"ช่วยผู้ป่วยโรคหืด

"ดอกปีบ"ช่วยผู้ป่วยโรคหืด

06 ก.ย. 2560

รพ.เชียงยืน มหาสารคาม ใช้อบสมุนไพรด้วยดอกปีบ ช่วยผู้ป่วยโรคหืด ส่งผลดีต่อสมรรถภาพปอด ลดอาการหอบ ขับเสมหะได้ดียิ่งขึ้น

        น.ส.ธัญลักษณ์ เที่ยงทำ นักวิชาการสาธารณสุข กลุ่มงานแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลเชียงยืน จ.มหาสารคาม นำเสนอผลการศึกษา เรื่อง "ผลของการอบสมุนไพรด้วยดอกปีบต่อการดูแลผู้ป่วยโรคหืดโรงพยาบาลเชียงยืน จ.มหาสารคาม"  ในงานประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2560 ว่า จากสถิติของ รพ.เชียงยืน ในปี 2556-2558 มีผู้ป่วยโรคหืดจำนวน 405, 516 และ 718 ราย ตามลำดับ และยังพบว่าเป็นกลุ่มโรคที่เข้ารับการรักษาจำนวนมากเป็น 1 ใน 5 อันดับโรคแรกของหอผู้ป่วยใน พบอัตราการนอนโรงพยาบาลในปี 2556-2558 คิดเป็นร้อยละ 5.6, 5.25 และ 5.25 ตามลำดับ จากปัญหาดังกล่าวผู้วิจัยจึงได้พัฒนาการดูแลผู้ป่วยโรคหืดโดยบูรณาการร่วมกันทั้งการแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์แผนไทย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะพัฒนาการดูแลผู้ป่วยโรคหืดโดยการอบสมุนไพรด้วยดอกปีบ

        น.ส.ธัญลักษณ์ กล่าวอีกว่า ในการวิจัย ได้ทำการวิจัยกึ่งทดลอง กลุ่มตัวอย่างสุ่มแบบเจาะจงคือ ผู้ป่วยโรคหืดที่มารับบริการที่คลินิกโรคหืด รพ.เชียงยืน อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ไม่มีโรคร่วมอื่นใด มีอาการหืดจับสัปดาห์ละ 2 ครั้ง หรือกลับมานอนโรงพยาบาลภายใน 28 วัน จำนวน 50 คน เครื่องมือที่ใช้ศึกษาคือแบบประเมินของกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย แบบบันทึกการตรวจสมรรถภาพปอด แบบสอบถามสำหรับผู้ป่วยโรคหืดก่อนและหลังการอบสมุนไพร มีค่าความเที่ยงที่ 0.81 วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปใช้สถิติพรรณนา การเปรียบเทียบการตรวจสมรรถภาพปอด ก่อนและหลังการอบสมุนไพร

        "ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชายร้อยละ 66 ส่วนใหญ่อายุมากกว่า 61 ขึ้นไป อาชีพแม่บ้านร้อยละ 70 การตรวจสมรรถภาพปอดของกลุ่มตัวอย่างก่อนและหลังอบสมุนไพรแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระดับ 0.05 โดยผลของการอบสมุนไพรรักษาอาการหอบหืดในผู้ป่วยโรคหืด ส่งผลดีต่อสมรรถภาพปอดของผู้ป่วย ทำให้สามารถลดอาการหอบ ขับเสมหะได้ดียิ่งขึ้น คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น ลดภาวะที่ต้องเข้านอนรักษาในโรงพยาบาลจากอาการหอบ ทำให้ผู้ป่วยหอบหืดมีทางเลือกในการรักษาเพิ่มขึ้นและลดภาวะแทรกซ้อนจากอาการประจำลงได้ดี น่าจะเป็นโอกาสหนึ่งให้แพทย์ทางเลือกได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาผู้ป่วยหอบหืด" น.ส.ธัญลักษณ์ กล่าว