เด็กใต้เสี่ยงป่วย“จิตเวช”สูง !!
พิษไฟใต้ ส่งผลร้ายถึงเด็กประถมศึกษากว่า 4,000 คน เสี่ยงป่วย“โรคพีทีเอสดี”สูงกว่าทุกพื้นที่ 5 เท่า ทำให้มีปัญหาการเรียน หวั่นไม่รักษาโอกาส“ป่วยจิตเวช”สูง!
21 ก.ย.60-นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ภายหลังลงพื้นที่พร้อมด้วยนายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตและคณะ ตรวจเยี่ยมติดตามผลการดำเนินงานของศูนย์สุขภาพจิตที่12 จังหวัดปัตตานี และ โรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ จ.สงขลา ในการดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวชและส่งเสริมสุขภาพจิตแก่ประชาชนในเขตสุขภาพที่12ประจำปีงบประมาณ2560
ประกอบด้วย7จังหวัดได้แก่ สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล พัทลุง และตรัง ว่า เขตสุขภาพที่12เป็นเขตที่กรมฯจัดบริการดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากมีปัญหาความไม่สงบเกิดขึ้นในพื้นที่มานานกว่า10ปี ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน
ผลการสำรวจปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มประชาชนอายุ18ปีขึ้นไป ที่อยู่ใน จ.สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ในปี2559พบมีอัตราป่วยเป็นโรคทางจิตเวชร้อยละ 3.4 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่สำรวจในปี2556 อยู่ที่ร้อยละ3.2เข้าถึงบริการยังค่อนข้างน้อย ซึ่งกรมฯได้พัฒนาสถานพยาบาลในพื้นที่ คือ โรงพยาบาลชุมชน และอบรมพยาบาลจิตเวชหลักสูตร4เดือน และ2สัปดาห์ เป็นเครือข่ายบริการ เพื่อให้ผู้ป่วยและผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตได้รับการรักษา สามารถอยู่ในชุมชนได้โดยไม่ต้องล่ามโซ่ตรวนเช่นในอดีต โดยเฉพาะผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการรุนแรง ซับซ้อน ทั้ง7จังหวัด ขณะนี้อยู่ในความดูแลของจิตแพทย์เชี่ยวชาญรพ.จิตเวชสงขลาฯเพิ่มขึ้นจาก481คนในปี2558เป็น750คนในปี2560
อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาสุขภาพจิตที่น่าห่วงที่สุดคือ โรคพีทีเอสดี หรือที่เรียกว่าโรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (Post Traumatic Stress Disorder: PTSD)ซึ่งจะมีภาพหลอกหลอนผุดซ้ำขึ้นมา นอนไม่หลับ คุกคามการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก ผลสำรวจในปี2557พบว่าเหตุความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้มีอัตราเกิดโรคพีทีเอสดี สูงถึงร้อยละ2.6สูงกว่าพื้นที่ทั่วไปที่พบประมาณร้อยละ0.5หรือสูงกว่าประมาณ5เท่าตัว
ประเด็นสำคัญที่พบในปี2560นี้ และน่าเป็นห่วงอย่างมาก พบว่าในกลุ่มเด็กนักเรียนประถมศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบใน4 จังหวัดชายแดนใต้ ที่เข้าร่วมในโครงการเฝ้าระวังโรคพีทีเอสดีของรพ.จิตเวชสงขลาฯ เพื่อตรวจคัดกรองและให้การดูแลช่วยเหลือเพิ่มการเข้าถึงบริการเยียวยาทางจิตใจ ในปี2560จำนวน4,178คน จากโรงเรียน26แห่ง
ผลจากการคัดกรองด้วยแบบประเมินผลกระทบจากเหตุการณ์ ความไม่สงบหรือคราย 8 ข้อ (ChildrenRevised Impact of Event Scale :CRIES-8)พบว่ามีเด็กเสี่ยงป่วยโรคพีทีเอสดี เช่น มีอาการหวาดผวาเป็นพักๆ มีเหตุการณ์ผุดขึ้นในใจ เป็นต้น จำนวน1,101คน เฉลี่ยร้อยละ27พบสูงที่สุดในจ.ปัตตานีร้อยละ39จ.สงขลาร้อยละ31ยะลาร้อยละ21และนราธิวาสร้อยละ18
"นับเป็นการค้นพบข้อมูลครั้งสำคัญของประเทศ เด็กที่เป็นโรคนี้จะมีปัญหาการเรียน ใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก หากไม่ได้รับการรักษาจะมีโอกาสกลายเป็นผู้ป่วยจิตเวชในที่สุดซึ่งทีมจิตแพทย์จะให้การดูแลรักษาทันทีเบ็ดเสร็จที่โรงเรียน และติดตามต่อเนื่อง โดยจะดำเนินการขยายโครงการนี้เพิ่มขึ้นในปีงบประมาณ2561” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว
อธิบดีกรมสุขภาจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการป้องกันปัญหานี้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ กรมสุขภาพจิตได้เปิดคลินิกให้บริการผู้ป่วยโรคพีทีเอสดีโดยเฉพาะที่รพ.จิตเวชสงขลาฯ บริการแบบเบ็ดเสร็จที่จุดเดียว เพื่อสร้างความเชี่ยวชาญและพัฒนาองค์ความรู้การดูแลผู้ป่วยในภาวะวิกฤตในระดับประเทศ ซึ่งจากให้บริการ
พบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีโรคร่วมด้วยอย่างน้อย 4 โรค ที่พบมากอันดับ1ได้แก่ อาการซึมเศร้า พบสูงถึงร้อยละ 90 รองลงมาคือคิดฆ่าตัวตายร้อยละ55ใช้สารเสพติดร้อยละ16และดื่มสุราร้อยละ7 จึงได้วิจัยและพัฒนาเครื่องมือคัดกรอง2คำถาม (2P)ค้นปัญหาและอาการเพียง2คำถามคือถามถึงเหตุรุนแรงที่ประสบในอดีต
และผลกระทบกับชีวิตในปัจจุบัน ในกลุ่มเสี่ยง เช่น บุคคลใกล้ชิดเสียชีวิตอย่างกระทันหัน ถูกทำร้ายร่างกายจิตใจ จากการทดสอบ พบว่ามีความแม่นยำสูงและใช้การได้ดีมาก ขณะนี้ได้นำไปใช้คัดกรองที่โรงพยาบาลทุกแห่งในเขตสุขภาพที่12และแปลงเป็นภาษามลายูด้วย ซึ่งเป็นภาษาถิ่นเพื่อให้ประชาชนเข้าใจง่ายขึ้น โดยกรมฯจะขยายใช้แบบคัดกรองนี้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศในปีงบประมาณ2561เพื่อใช้คัดกรองหาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่รุนแรงทุกสถานการณ์ และดำเนินการเยียวยาได้อย่างทันท่วงที
สำหรับในกลุ่มนักเรียน จะเพิ่มการดำเนินการ 2 เรื่องใน ปี 2561ประการแรก คือ การสร้างความพร้อมในการเผชิญเหตุรุนแรง โดยฝึกซ้อมทั้งชุมชนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายทหาร ตำรวจ เพื่อสร้างความพร้อมในการเผชิญเหตุ ให้นักเรียนมีทักษะ ความพร้อมทางจิตใจ ไม่ตื่นตระหนก สามารถฟื้นตัวได้เร็วหลังเกิดเหตุ ขณะเดียวกันจะเฝ้าระวังคัดแยกเด็กที่มีความผิดปกติให้ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที รูปแบบนี้สามารถขยายผลใช้ในพื้นที่อื่นๆได้ด้วย
ประการที่2คือการพัฒนาแบบคัดกรองหานักเรียนที่ป่วยเป็นโรคจิตเวช โดยเฉพาะ4โรคที่พบบ่อย ได้แก่ ออทิสติก สติปัญญาบกพร่อง สมาธิสั้น และบกพร่องทางการเรียนรู้ และคัดกรองโรคซึมเศร้า ความเสี่ยงโรคพีทีเอสดี ผ่านทางแอพพลิเคชั่น ทั้งครู อสม. และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข สามารถตรวจสอบได้ทางมือถือสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตเพื่อจัดระบบการดูแลเด็กที่เหมาะสมระหว่างครู อสม. เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และผู้ปกครอง คาดว่าจะใช้การได้ในปลายปี2560นี้
รวมทั้งการส่งเสริมสุขภาพจิตในระดับชุมชน โดยนำหลักศาสนามาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพจิตดี มีความสุข อยู่ในสังคมอย่างมีคุณค่า โดยมีศูนย์สุขภาพจิตที่12ดำเนินการสนับสนุนองค์ความรู้ทางวิชาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง