สุขภาพจิต"วัยทำงาน"น่าห่วง!
เผยปัญหาสุขภาพจิตวัยทำงาน น่าห่วงฆ่าตัวตาย อัตราสำเร็จสูงที่สุด ขณะที่โทรปรึกษาสายด่วนกว่า 2 หมื่นคนเรื่องจิตเวช แนะยึด 6 โมดูล 8 เครื่องมือสร้างสุขที่ทำงาน
เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2560 ที่กรมสุขภาพจิต มีการจัดงานเนื่องในวันสุขภาพจิตโลก ประจำปี 2560(World Mental Health Day 2017) ภายใต้แนวคิด “Mental health in the workplace : จิตดี๊ดี...มีสุข...สนุกกับงาน” โดยน.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพจิตวัยทำงานในทั่วโลกที่พบบ่อย คือ โรคซึมเศร้า ประมาณ 300 ล้านคน และ ภาวะเครียด โรควิตกกังวล ประมาณ 260 ล้านคน เพราะชีวิตส่วนใหญ่ของเราจะอยู่ในช่วงเวลาของการทำงาน ซึ่งมีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ หากมีประสบการณ์การทำงานที่ดี ย่อมส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตและผลผลิตของงาน ตรงกันข้าม หากมีประสบการณ์การทำงานที่ไม่ดี ย่อมส่งผลต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต เกิดปัญหาสุขภาพตามมา อาจใช้ยาเสพติด สุรา และหยุดงาน
สำหรับประเทศไทย ปัญหาสุขภาพจิตวัยทำงาน (ช่วงอายุ 20 - 59 ปี) ที่น่าห่วง คือ ปัญหาการฆ่าตัวตาย ซึ่งพบว่าเป็นกลุ่มวัยที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงที่สุด อยู่ที่ 8.04 ต่อแสนประชากร โดยเฉพาะอายุระหว่าง 35-39 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายมากที่สุด 9.55 ต่อแสนประชากร และจากสถิติการขอรับบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตของวัยทำงาน ผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พบว่า ปัญหาทางจิตเวช เป็นปัญหาสำคัญลำดับแรกที่วัยทำงานโทรเข้ามาปรึกษามากที่สุด จำนวน 20,102 คน
รองลงมา คือ ปัญหาความเครียดหรือวิตกกังวล จำนวน 17,347 คน เช่น ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพกาย โรคเรื้อรัง มีหนี้สิน เป็นต้น ปัญหาความรัก จำนวน 4,776 คน ปัญหาครอบครัว 2,513 คน และซึมเศร้า 2,085 คน ตามลำดับ ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตได้พัฒนากระบวนการดำเนินงานให้สอดรับกับสถานการณ์สุขภาพจิตของประชาชนทั่วประเทศ ในกลุ่มวัยทำงานได้จัดให้มีโปรแกรมสร้างสุขทั้งในสถานประกอบการและในชุมชน นพ.
นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โปรแกรมสร้างสุขในสถานประกอบการ 6 โมดูล(Module) ได้แก่ 1.ฝึกมองโลกในแง่ดี มองจุดดีของตนเอง มองเห็นสิ่งดีๆ ในสิ่งที่ไม่ดี ทุกปัญหาย่อมมีทางแก้ไข ไม่คงอยู่เสมอไป คลี่คลายได้ตามกาลเวลา 2.ปรับเปลี่ยนความคิด เปิดใจกว้าง มองรอบด้าน ลดอคติและทิฐิ สร้างกำลังใจ ดำเนินชีวิตต่อไปอย่างเป็นสุข 3.สร้างความเข้มแข็งทางใจ ด้วยพลัง อึด – ควบคุมอารมณ์ อดทนตั้งสติ เตรียมรับมือกับปัญหา ฮึด – สร้างกำลังใจ ไม่สิ้นหวังท้อถอย มองทุกปัญหามีทางออก สู้ – ลุกขึ้นเผชิญหน้า หาแนวทาง วางเป้าหมาย ไม่รีรอ เร่งแก้ไข ใช้วิธีที่เหมาะสม
4.สร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม เพื่อนำไปสู่องค์กรสร้างสุข ยอมรับความคิดเห็น เน้นการมีส่วนร่วม ร่วมสร้างแนวทางหลัก ชักชวนให้ปฏิบัติ จัดทำเป็นวัฒนธรรมองค์กร 5.มีหลักพักใจในการดำเนินชีวิต ค้นหาพลังใจ อิงหลักคิดในการดำเนินชีวิต เช่น ความกตัญญู ศาสนา การให้อภัย เมื่อวิกฤตก็ให้ใช้เป็นพลังฟื้นฟูใจ และ 6. พึงพอใจในสิ่งที่มี พอดีในความพอเพียง รู้จักพอเพียง พอใจในสิ่งที่มี พอดีในสิ่งที่ได้
สำหรับ 8 เครื่องมือสร้างสุขในชุมชน ได้แก่ 1.ค้นหาจุดดีของตนเอง มองหาสิ่งดีของตนเอง แล้วอย่าเก็บไว้ นำออกมาใช้อย่างสร้างสรรค์ 2.ค้นหาจุดดีของผู้อื่น เปิดใจค้นหา มองว่าคนอื่นก็มีดี ชื่นชมผู้อื่นอย่างจริงใจ 3.เพิ่ม 3 อ. ขจัดสุรา สารเสพติด บุหรี่ รับประทาน อาหาร ให้ครบ 5 หมู่ มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม ออกกำลังกาย ครั้งละ 30 นาที อย่างน้อย 3-5 วันต่อสัปดาห์ อารมณ์แจ่มใส จัดการความเครียดได้รู้จักผ่อนคลาย หลีกเลี่ยง ลด ละ เลิกบุหรี่ สุรา และสารเสพติด
4.ครอบครัวอบอุ่น ทำกิจกรรมร่วมกัน ให้เวลา ให้ความรัก เป็นที่พักพิงทางใจ ใส่ใจรับฟัง แบ่งปันทุกข์สุข 5.สมดุลชีวิต ด้วยหลัก 8-8-8 ฉลาดจัดการเวลา นอนหลับให้เต็มที่ ทำงานอย่างดีเต็มความสามารถ อย่าให้ขาดสร้างสุขในครอบครัว 6.เป็นจิตอาสาและทำประโยชน์ให้ผู้อื่น แบ่งปันช่วยเหลือผู้อื่นตามความสามารถ หาโอกาสทำประโยชน์ต่อสังคม 7.มีเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ค้นหาพลังใจ อิงหลักคิดในการดำเนินชีวิต เมื่อวิกฤตให้เป็นพลังฟื้นฟูใจ และ 8.พึงพอใจในสิ่งที่มี ด้วยการรู้จักพอเพียง พอใจในสิ่งที่มี พอดีในสิ่งที่ได้ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว