ฟัน! ร้านสะดวกซื้อขายเบียร์สดกดตู้อัตโนมัติผิดกฎหมาย
อนุกรรมการฯมีมติ ขายเบียร์สดผ่านตู้อัตโนมัติในร้านสะดวกซื้อผิดกฎหมาย เข้าข่ายใช้เครื่องขายอัตโนมัติ พร้อมฟันความผิดฐานโฆษณา หลังปรากฏยี่ห้อเบียร์ข้างตู้ชัดเจน
เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2560 ที่กรมควบคุมโรค ดร.บุญอยู่ ขอพรประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเทศศาสตร์ ในฐานะโฆษกอนุกรรมการพิจารณาการกระทำความผิดตามพรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 แถลงข่าวภายหลังการประชุมอนุกรรมการฯที่มีศ.นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ เป็นประธานโดยมีวาระการพิจารณาเรื่องการขายเบียร์สดผ่านเครื่องกดอัตโนมัติในร้านสะดวกซื้อว่า อนุกรรมการฯพิจารณาและมีมติว่าการขายเบียร์สดในลักษณะดังกล่าวเข้าข่ายว่าเป็นการขายโดยวิธีต้องห้ามขายตามมาตรา 30(1) พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ
ซึ่งระบุว่าห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะใช้เครื่องขายอัตโนมัตินอกจากนี้ ยังเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 32 เรื่องการห้ามโฆษณาด้วย เนื่องจากที่ตู้กดมีการปรากฎยี่ห้อและสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
หลังจากนี้จะส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป แม้ว่าผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อดังกล่าวจะประกาศยุติการขายในลักษณธนี้แล้วก็ตาม
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการดำเนินการตามกฎหมายจะเป็นลักษณะแยกเป็นรายสาขาหรือดำเนินกับผู้ประกอบการรวม ดร.บุญอยู่ กล่าวว่า ในแง่ของกฎหมายต้องดูข้อเท็จจริงว่าการกระทำนั้นความผิดสำเร็จในแต่ละสาขาหรือไม่ ซึ่งกรณีนี้ถือว่าความผิดสำเร็จในแต่ละสาขา
ส่วนจะมีการแยกดำเนินคดีรายสาขาหรือรวบเป็นผู้ประกอบการายเดียว ขึ้นกับหลักฐานและการรวบรวมข้อเท็จจริง ซึ่งอาจจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด เพื่อหาข้อเท็จจริงและหลักฐาน หากแล้วเสร็จก็จะต้องเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลด้วย เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย
กรณีที่มีการเรียกร้องให้ออกกฎหมายลูกห้ามไม่ให้มีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะตู้กดเบียร์สดในร้านสะดวกซื้อ ดร.บุญอยู่ กล่าวว่า อนุกรรมการฯมีข้อเสนอแนะในเรื่องนี้เช่นกัน โดยเห็นว่าควรพิจารณาว่าลักาณะการขายเช่นนี้ เป็นการขยายโดยวิธีหรือลักษณะอื่นใดตามมาตรา 30(6) ด้วยการออกเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข
ซึ่งจะส่งข้อเสนอแนะนี้ให้กับอนุกรรมการแก้ไข ปรับปรุงกฎหมายหรืออนุบัญญัติตามพรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ พิจารณาต่อไป ก่อนมีความเห็นเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานเพื่อลงนามในประกาศ
ดร.บุญอยู่ กล่าวอีกว่า ในวันนี้อนุกรรมการฯพิจารณาเฉพาะร้านสะดวกซื้อในส่วนของร้านที่ประกาศยุติการขายไปแล้ว ขณะที่ร้านสะดวกซื้อของอีกบริษัทยังไม่ได้มีการพิจารณาว่าเข้าข่ายความผิดหรือไม่ จำเป็นต้องไปหาข้อมูลเพิ่มเติม
โดยเฉพาะในเรื่องกลไกการทำงานของเครื่องที่จะต้องพิจารณาในเชิงวิศวกรรมว่าตู้มีกลไกการทำงานอย่างไร เข้าข่ายเป็นเครื่องขายอัตโนมัติหรือไม่ แต่สำหรับเครื่องของร้านที่ประกาศยุติการขายแล้วนั้นมีหลักฐานแสดงกลไกการทำงานของเครื่องชัดเจนแล้วว่าเข้าข่ายเป็นเครื่องขายอัตโนมัติ จึงเข้าข่ายความผิด
ด้านนพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า สำนักงานจะดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษผู้กระทำความผิดตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป ซึ่งจะต้องมีการรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงและหลักฐานต่างๆ เบื้องต้นขะดำเนินการโดยเร็วที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บทลงโทษตามความผิดมาตรา 30(1) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดตามมาตรา 32 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ก่อนหน้านั้น เครือข่ายองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผ่านทาง นพ.สมบัติ แทนประเสริฐสุข ผู้ทรงคุณวุฒิ ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค เพื่อขอให้กระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในลักษณะตู้กดขายเบียร์สดในร้านสะดวกซื้อ และร้านโชว์ห่วย เพื่อป้องกันปัญหาเมาแล้วขับ อุบัติเหตุบนท้องถนน ทะเลาะวิวาท ฯลฯ
นายคำรณ กล่าวว่า เครือข่ายฯขอให้สธ.นำข้อเสนอไปพิจารณา ดังนี้ 1.จากความผิดที่เกิดขึ้นแล้วกับร้านสะดวกซื้อทั้งสองราย คือ เซเว่นอิเลฟเว่น และแฟมิลี่มาร์ท ขอให้ดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และไม่ควรเปิดช่องว่างให้เกิดการตีความอันไม่เป็นประโยชน์ต่อการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
2. เร่งยกร่างอนุบัญญัติ เป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี กำหนดห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะตู้กดเบียร์สดในร้านสะดวกซื้อ หรือร้านในลักษณะเดียวกัน อาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาตรา30 (6) เพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ
และ3.ขอเรียกร้องต่อบริษัท สิงห์คอเปอร์เรชั่น จำกัด เจ้าเบียร์ลีโอ และบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เจ้าของเบียร์ช้าง ให้คำนึงถึงผลกระทบทางสังคมให้มากกว่านี้ และหยุดการหาช่องทางหลบเลี่ยงกฎหมายเพียงเพื่อประโยชน์ทางการค้า ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา
“ร้านสะดวกซื้อซึ่งคนทุกเพศทุกวัยโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนเข้าใช้บริการ จึงไม่เหมาะสมที่จะปล่อยให้มีเบียร์สดขาย ที่สำคัญอย่าให้ประเทศไทยต้องกลายเป็นประเทศเดียวในโลกที่เอาเบียร์สดมาอยู่ในร้านสะดวกซื้อ ที่มีอยู่ทุกกซอกซอย ใกล้แหล่งชุมชน ยิ่งทำให้เพิ่มความเสี่ยงเท่าตัว คนดื่มต้องดื่มในร้านเพราะกกลัวเสียรสชาติ ทำให้คนเมาอยู่ในร้าน เมื่อเด็กๆจะ ไปร้านเซเว่นพ่อแม่ต้องเตือนให้ระวังคนเมา กลายเป็นสถานที่เสี่ยงของชุมชน และครอบครัว” นายคำรณ กล่าว