ไลฟ์สไตล์

วิกฤติปูแสม

28 ก.ย. 2552

เมืองไทยมีพื้นที่ชายทะเลอยู่ยาวพอสมควร ดังนั้นเรื่องอาหารการกินที่เกี่ยวข้องกับทะเลจึงมีหลากหลาย รวมทั้งปูชนิดต่างๆ ซึ่งเราคุ้นเคยกันอยู่ไม่ว่าจะเป็นปูม้า ปูดำ หรือที่เรียกกันว่าปูทะเล ก็ล้วนแล้วแต่เป็นปูตัวโตที่มีเนื้อมากพอที่จะนำมาปรุงอาหารเป็นหลักได้

 และไม่ค่อยมีเนื้อมากนัก นั่นคือ ปูแสม ถึงแม้ปูแสมจะมีตัวเล็กอย่างนี้แต่มีความสำคัญไม่แพ้ปูชนิดอื่น เพราะคนไทยรู้จักใช้ปูแสมมาปรุงอาหารหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ตั้งต้นคือปูเค็ม ซึ่งนำมาทำอาหารหลายอย่างทั้งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของส้มตำปู และพวกน้ำพริกและหลนต่างๆ เชื่อหรือไม่ว่าคนไทยกินปูเค็มปีละไม่ต่ำกว่า 18,000 ตัน ถ้าคิดเป็นจำนวนตัวก็ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านตัว แต่เมืองไทยผลิตได้เพียง 12,000 ตัน และที่เหลืออีกประมาณ 5,000 ตัน ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งก็คือประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างเช่นพม่า และกัมพูชาเป็นต้น

 ดร.บรรจง เทียนส่งรัศมี ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องปูของเมืองไทย จึงเขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง ชื่อว่า ปูแสม กำลังวิกฤติ ร่วมคิดร่วมเลี้ยงปูดูแลป่า แก้ปัญหาพัฒนาป่าชุมชน และจัดพิมพ์โดย สกว. โดยเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงเรื่องวิกฤติของปูแสม และชี้ให้เห็นถึงสาเหตุและแนวทางในการแก้ไขระยะยาวไว้อย่างละเอียด เพื่อจะได้ร่วมกันฟื้นฟูปูแสมของเราให้กลับคืนมาก่อนที่จะรู้จักกันแต่เพียงในรูปภาพ 

 โดยสรุปแล้วสาเหตุหลักของการลดจำนวนประชากรของปูแสมก็คือการลดลงของป่าชายเลนครับ เพราะปูแสมอาศัยและแพร่พันธุ์อยู่ตามป่าชายเลน ไม่ได้ว่ายน้ำอยู่ในทะเลเหมือนปูม้า ส่วนสาเหตุที่ป่าชายเลนลดลงก็เพราะมีการรุกพื้นที่เข้ามากลายเป็นเขตเมือง เป็นแหล่งชุมชน แหล่งอุตสาหกรรม หรือเกษตรกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่การเลี้ยงกุ้งสามารถทำกำไรได้ดี ก็ยิ่งทำให้ป่าชายเลนหดหายไปมาก เพราะนำมาใช้ในการเลี้ยงกุ้งกุลาดำกันยกใหญ่ และเมื่อธุรกิจกุ้งซบเซาลง พื้นที่ดังกล่าวก็ไม่ได้กลับกลายเป็นป่าชายเลนอีก แต่กลายเป็นบ่อกุ้งร้างไปอย่างที่เห็นจนชินตา

 ปูแสมกับป่าชายเลนเป็นของคู่กัน และก็แน่นอนว่าคนที่อาศัยอยู่ริมทะเลแถบป่าชายเลนก็มีบทบาทต่อป่าชายเลนด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น อาชีพจับปูแสม ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นอาชีพพื้นบ้านและสามารถสร้างรายได้โดยแทบไม่ต้องลงทุนอะไร นอกจากออกแรงไปหาปูซึ่งมีอยู่มากมายหากป่าชายเลนยังมีความอุดมสมบูรณ์ แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าป่าชายเลนหดหายไปทั้งปูและอาชีพจับปูก็หายตามไปด้วย

 เมื่อก่อนนี้แต่ละคืนชาวบ้านอาจจับปูแสมได้วันละ 20-30 กิโลกรัม หรือประมาณ 600-700 ตัว เรียกได้ว่าพอกินและยังมีเหลือขายอีกต่างหาก ในอดีตประมาณ 60 ปีที่แล้วอาจขายกันร้อยละบาทเดียว ต่อมาก็อาจเป็นร้อยละสิบบาท แต่ทุกวันนี้ปูแสมเค็มตัวใหญ่ๆ ขายกันสิบตัวร้อยบาทแล้ว และเริ่มหายากขึ้นทุกวัน ดังนั้นการที่จะฟื้นฟูปูแสมขึ้นมาใหม่ให้กลายเป็นอาชีพพื้นบ้านเหมือนเดิม ชาวบ้านมีอาหารธรรมชาติให้กินอย่างเหลือเฟือและเพียงพอที่จะนำมาขายได้บ้าง ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของการพัฒนาป่าชายเลนให้กลับมาสมบูรณ์เหมือนอย่างเดิม เพียงแต่จะมีวิธีการใดบ้างที่จะฟื้นฟูป่าชายเลนดังกล่าว

 ดร.บรรจง ได้เสนอแนวทางการแก้วิกฤติปูแสมไว้หลายแนวทางด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความเข้าใจของชุมชน การเลี้ยงปูแสมในบ่อกุ้งร้าง ไปจนถึงการสร้างจิตสำนึกและความเข้าใจให้เด็กนักเรียน โดยผ่านหลักสูตรที่เรียนในโรงเรียน เป็นต้น ซึ่งแต่ละเรื่องมีรายละเอียดมากพอสมควร ไว้คราวหน้าจะมาเล่าสู่กันฟังครับ

รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ