ไลฟ์สไตล์

ศิลปินดาวน์ซินโดรมคนแรกของไทย

ศิลปินดาวน์ซินโดรมคนแรกของไทย

23 พ.ย. 2560

พ่อแม่เป็นพรหมของบุตร ไม่ใช่เป็นเพียงผู้หวังผลจากลูก แต่ต้องทำหน้าที่ผู้สร้าง ลูกจะเกิดมาเป็นอย่างไรต้องสร้างลูกให้เป็นคนดีก่อนเป็นคนเก่ง และควรเสริมจุดเด่น

         ชีวิตคนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นได้ ขอเพียงมีความมุ่งมั่นและตั้งใจ อย่าง “น้องเหมียว -แคทลียา อัศวานันท์” ศิลปินดาวน์ซินโดรม ที่ผลิกความสิ้นหวัง สู่ดวงศิลปะ สร้างฝันได้ ตัวอย่างที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้ใครหลายๆ คน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค และก้าวพ้นคำว่า “ไม่มีทางเป็นไปได้”

         ปัจจุบัน “น้องเหมียว หรือน้องแคท” อายุ 22 ปี กำลังศึกษาคณะศิลปวิจิตร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ มีความสามารถสร้างสรรค์ผลงานศิลปะจากดาวน์สู่ดาว รูปแบบศิลปะอิมเพรสชันนิสม์ แสดงผลงานทั้งในไทยและต่างประเทศมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน อาทิ  ร่วมแสดงนิทรรศการ Self + Art Museum ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์  นิทรรศการ “พอดีเฟรม” นำเสนอผลงานนักศึกษา คณะศิลปวิจิตร  สาขาจิตรกรรม ณ คณะศิลปวิจิตร  สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์  แสดงงาน The Art of Us ณ สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และแสดงงานศิลปะกลุ่มบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ ณ เมืองคุมาโมโต้ประเทศญี่ปุ่น  รวมถือเป็นวิทยากรกิจกรรมศิลปะในโรงเรียนราชานุกูล เป็นต้น

ศิลปินดาวน์ซินโดรมคนแรกของไทย

      “น้องเหมียว -แคทลียา อัศวานันท์”

        “เหมียวชอบงานศิลปะมาตั้งแต่เด็ก เพราะศิลปะเป็นการใช้จินตนาการ ทำให้เราได้คิดก่อนวาดภาพและระบายสี เป็นการบ่งบอกถึงอารมณ์ความรู้สึก นึกคิดของคนๆ หนึ่งได้  เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ที่แต่ละคนอาจจะนำเสนอแตกต่างกันออกไป  ทุกครั้งที่สร้างสรรค์ผลงานเป็นช่วงเวลาที่มีความสุข และสนุกมากๆ แม้ภาพหนึ่งภาพจะใช้เวลานาน ถ้าไม่มีโจทย์จากอาจารย์ผู้สอน จะกลั่นกรองจากความรู้สึก นึกคิดของเรา แต่ถ้ามีโจทย์เราก็ต้องตีความ เรียงร้อยเรื่องราวที่อยากนำเสนอ และต้องยอมรับการปรับแก้ วิพากษ์วิจารณ์ ลงมือปฏิบัติซ้ำๆ” น้องเหมียว กล่าว

      น้องเหมียว เล่าต่อว่า ตอนแรกก็ไม่รู้ว่าตัวเองชอบศิลปะ แต่เป็นสิ่งที่เราทำได้ดี และครอบครัว คุณแม่คุณพ่อก็สนับสนุนเต็มที่ ให้อิสระทางความคิด สร้างสรรค์ผลงาน พาไปทุกๆ ที่ที่ครอบครัวไป ไม่ว่าจะไปต่างประเทศ หรือเที่ยวในประเทศ ทำให้เรามีประสบการณ์ชีวิตมากมาย ให้เราสามารถดูแลตัวเองได้โดยที่เขาคอยช่วยเหลือเราอยู่ข้างๆ และการสร้างสรรค์งานศิลปะ ทำให้เรามีเพื่อน มีสังคม เพราะหลายครั้งที่เราไปออกค่ายอาสา สอนศิลปะ หรือเข้าร่วมแสดงผลงานต่างๆ ได้เจอผู้คนที่หลากหลาย เป็นการปรับตัวเข้าสังคม เรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น

       เริ่มแรกตอนที่ครอบครัวรู้ว่า“น้องเหมียว”เป็นเด็กพิเศษหรือเด็กดาวน์ซิมโดรมก็ไม่ได้ทำให้น้องรู้สึกว่าตัวเองแตกต่างหรือพิเศษกว่าคนอื่น ยกเว้นการดูแลเอาใจใส่ ความห่วงใยที่ครอบครัวมีให้ 

        "หลายครั้งที่เดินไปไหนมาไหน หรือไปมหาวิทยาลัยช่วงปีแรกๆ มักจะถูกมองว่าเราไม่เหมือนคนอื่น จะเรียนได้หรือไม่ เรียนร่วม ใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้หรือไม่ แต่เราไม่สนใจคำพูด การกระทำของคนอื่นที่แสดงต่อเรา  เพราะคนเราไม่เหมือนกันอยู่แล้ว ทุกคนต่างมีหนทางของตนเอง เราไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร หรืออยากปรับความคิดคนอื่นที่มีต่อเรา เพียงเราได้เกิดมา ได้ทำความฝัน ได้ทำในสิ่งที่ตนเองรัก ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน มีครอบครัวที่คอยอยู่ข้างๆ มีแรงบันดาลใจในทุกวัน  และทำหน้าที่รับผิดชอบของเราให้ดี ธรรมะสอนให้รู้จักการอภัย คิดบวก คิดดี ทำดี เท่านี้ชีวิตของเราก็จะดี และมีความสุขได้ในทุกวัน”น้องเหมียว กล่าว

ศิลปินดาวน์ซินโดรมคนแรกของไทย

      ตั้งแต่จบโรงเรียนอนุบาลรักลูก จนเรียนระดับมัธยมที่โรงเรียนรุ่งอรุณ “น้องเหมียว” มีกลุ่มเพื่อน มีครู มีทุกคนคอยให้การช่วยเหลือ และเมื่อเพื่อนๆ สอบเข้ามหาวิทยาลัย ก็อยากสอบเข้าที่เดียวกัน น้องเหมียวชอบงานศิลปะ ชอบการเพ้นท์สี การวาดภาพ จึงได้สอบเข้าคณะศิลปวิจิตร ต้องเตรียมตัวมากกว่าคนอื่น  เหนื่อย เครียด แต่ด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจจริง อดทน พยายาม เพื่อทำความฝัน “อยากเป็นครูศิลปะที่สอนเด็กพิเศษ” เป็นจริงให้ได้  

     น้องเหมียว เล่าต่อไปว่า อยากให้เด็กดาวน์ หรือเด็กพิเศษทุกคนพยายามขวนขวายสร้างโอกาส และมีใจที่จะทำในทุกเรื่อง เพราะจริงๆ เด็กดาวน์แต่ละคนมีความสามารถแตกต่างกัน เพียงขอให้ช่วยพวกเราค้นหาศักยภาพ เปิดโอกาสให้ใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น และพร้อมเข้าใจ หากเด็กพิเศษได้รับสิ่งดีๆ ก็ไม่มีสิ่งใดที่พวกเขาทำไม่ได้

     ช่วงชีวิตวัยเด็กของ “น้องเหมียว” เป็นเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า โดยเฉพาะด้านการเรียนรู้ หากแต่ได้รับการเลี้ยงดูและส่งเสริมจากครอบครัวที่ดีโดย “คุณพ่อท.พ.สุนทร และคุณแม่พรประภา อัศวานันท์” ผู้ผลักดันและส่งเสริมให้น้องเหนียวได้ค้นหาพรสวรรค์จนเกิดเป็นทักษะพิเศษที่พร้อมสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะออกมาอย่างน่าอัศจรรย์

ศิลปินดาวน์ซินโดรมคนแรกของไทย

        คุณแม่พรประภา เล่าเสริมว่าไม่รู้ว่าเป็นเด็กดาวน์ เพราะสาเหตุอะไร ตอนท้องอายุ 25 ปีฝากครรภ์ในโรงพยาบาล แต่เมื่อเกิดมาเป็นเด็กพิเศษ เราก็วางแผนทันทีว่าจะมีลูกอีกคนเพื่อจะได้เป็นเพื่อน เพื่อช่วยกระตุ้นพัฒนา มีลูกอีกคนที่เป็นเสมือนบัดดี้ คอยดูแลช่วยเหลือน้องเหมียว ทำให้พัฒนาการต่างๆ ดีขึ้น เราดูแล เอาใจใส่ลูก ให้เรียนในโรงเรียนปกติทั่วไป เรียนร่วมกับคนปกติ และพาไปทุกที่ที่ครอบครัวเราเดินทางไม่ว่าจะในเมืองไทย หรือต่างประเทศ เพื่อไม่ให้เขารู้สึกว่าแตกต่างจากใคร และเพิ่มเติมประสบการณ์ดีๆให้

        “น้องอาจมีพัฒนาการช้าแต่สามารถผ่านเกณฑ์ปกติได้ และเมื่อเราได้เห็นพัฒนาการด้านศิลปะ เขามีความชื่นชอบ อยู่บ้านก็วาดภาพ สร้างสรรค์งานศิลป์ และงานศิลปะไม่มีความตายตัว ไม่มีถูกผิด  เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ กล่อมเกลาจิตใจ ซึ่งเหมียวมีความรับผิดชอบ มีระเบียบวินัย มุ่งมั่นตั้งใจที่จะเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา จึงได้สนับสนุนน้องให้ได้เรียนในสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ จนทุกวันนี้เรียนถึงปีสุดท้าย   สิ่งที่ทำให้น้องเรียนและใช้ชีวิตอยู่กับผู้อื่นได้จนถึงตอนนี้ คือ ความร่วมมือทั้งตัวเด็กเอง ผู้ปกครอง เพื่อน และครูที่ช่วยกันส่งเสริม คอยให้คำแนะนำ และเด็กยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง ซึ่งเหมียวมีความเพียร ถูกวิพากษ์วิจารณ์กี่ครั้งเขาก็พร้อมทำใหม่ จนตอนนี้มีผลงานศิลปะกว่า 200 ชิ้น ที่ผ่านมาจากการคิดของลูก และฝึกฝนจากอาจารย์ผู้สอน”คุณแม่พรประภา กล่าว

ศิลปินดาวน์ซินโดรมคนแรกของไทย

ศิลปินดาวน์ซินโดรมคนแรกของไทย

      กำลังใจและความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุด  คุณแม่พรประภา กล่าวต่อไปว่า ครอบครัวเป็นบัดดี้ของเหมียว เวลาไปไหนมาไหนทุกคนจะคอยดูแลเหมียวตลอดเวลา น้องสาว น้องชายเขาจะคอยดูแล กระตุ้น ช่วยเหลือพี่สาวโดยไม่ได้รู้สึกหงุดหงิด ลูกได้เรียนรู้ว่ามีทั้งคนเก่งกว่าเราและด้อยกว่าทุกคนต้องพัฒนาตนเองตลอดเวลา  ทุกครั้งที่ลูกเริ่มไปเรียนที่ใหม่ ขึ้นภาคเรียนใหม่ พ่อแม่จะไปเรียนด้วยในวันแรกเพื่อได้รู้ว่าเขาเรียนอะไรจะได้มาจัดตารางให้ลูกได้ และการที่ให้น้องไปเข้าค่าย อบรมต่างๆ เป็นการเรียนรู้จากการสัมผัส ประสบการณ์จริงที่พวกเขาไม่ได้จากห้องเรียน

         "ศิลปะไม่ได้มีรูปแบบตายตัว แล้วแต่ความชื่นชมชื่นชอบของแต่ละคน นิทรรศการจากดาวน์สู่ดาว ศิลปะแห่งแรงบันดาลใจ The Art of Inspiration คือนิทรรศการ ที่จะแสดงผลงานภาพวาดเดี่ยวของผู้ป่วยดาวน์ซินโดรม หรือน้องเหมียว ซึ่งเป็นการจัดครั้งแรกในเมืองไทยและเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนต้องการสร้างแรงบันดาลใจแก่ครอบครัวอื่นที่ลูกมีความพิเศษ เป็นเด็กดาวน์ซิมโดรม หรือเด็กออทิสติก ไม่ว่าลูกจะเป็นอย่างไร พ่อแม่เป็นพรหมของบุตร ไม่ใช่เป็นเพียงผู้หวังผลจากลูก แต่เราต้องทำหน้าที่ผู้สร้าง ลูกเราจะเกิดมาเป็นอย่างไร ต้องสร้างลูกให้เป็นคนดีก่อนเป็นคนเก่ง และควรเสริมจุดเด่นของเขา เพราะการแก้ปัญหาจุดด้อยเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลามากกว่าค้นหาจุดเก่ง รวมถึงพ่อแม่ต้องทำทุกอย่างด้วยใจ ฝึกเรียนรู้ทำอะไรดีๆ และเราควรสอนให้ลูกจับปลาหากินเองได้ ไม่ว่าลูกจะเป็นอย่างไร ต้องทำให้เขามีอาชีพ ช่วยเหลือตัวเองให้ได้” คุณแม่พรประภา กล่าว

ศิลปินดาวน์ซินโดรมคนแรกของไทย

      The Art of Inspiration จะเป็นแรงบันดาลใจ ให้ทุกคนรู้ว่าชีวิตไม่ควรท้อ มีคนเห็นคุณค่าหรือไม่เห็นคุณค่า แต่ถ้าเราทำทุกอย่างด้วยความตั้งใจจริง ขอให้มุ่งมั่นต่อไป อยากรู้ว่างานศิลปะ ผลงานของเด็กดาวน์ฯ เป็นเช่นใด สามารถเข้าร่วมงานนิทรรศการในวันที่ 1 ธันวาคม  2560 เวลา 13.30 – 15.30 น. ณ  Venice Art Space วัชรพล รามอินทรา โดยได้รับการสนับสนุนการจัดงานโดย กรมสุขภาพจิต สถาบันราชานุกูล สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ โครงการพุทธอาสาศิลป์ และอาร์ต สเปซ แกลอรี่ โดยมีกำหนดแสดงงานตลอดเดือนธันวาคม 2560 แล้วคุณจะได้รับพลังบวกอย่างที่ไม่คิดมาก่อน...