![สงสัย!! ติดเชื้อแอนแทรกซ์ หลังกินเนื้อแพะ สงสัย!! ติดเชื้อแอนแทรกซ์ หลังกินเนื้อแพะ](https://media.komchadluek.net/media/img/size1/2017/11/26/dbbkaaafdabgicd96j9eb.jpg?x-image-process=style/lg-webp)
สงสัย!! ติดเชื้อแอนแทรกซ์ หลังกินเนื้อแพะ
ผอ.โรงพยาบาลแม่สอด จัดทีมตรวจสอบหลังชาวบ้านกินเนื้อแพะ สงสัยเป็นโรคแอนแทรกซ์ เผยรอผลตรวจหาเชื้อ
นพ.ธวัชชัย เศรษฐศุภพนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก กล่าวถึงกรณีชาวบ้านแม่โกนเกน หมู่ที่ 9 ต.มหาวัน อ.แม่สอด ได้บริโภคเนื้อแพะ และเกิดสงสัยกันว่า เป็นโรคแอนแทรกซ์ หรือไม่ ว่า หลังจากทางโรงพยาบาลพบผู้ป่วย ได้จัดทีมลงไปพื้นที่ทันที เพื่อพบชาวบ้านที่บริโภคเนื้อแพะ ซึ่งส่วนมากได้กินยาไปแล้ว จึงทำให้ตรวจหาเชื้อไม่ได้ ทางโรงพยาบาลจึงส่งทีมไปเก็บซากสัตว์ หรือ เลือด ไปทำการตรวจเพื่อหาเชื้อ
จากการตรวจหาเชื้อ อยู่ในระหว่างการรอผลจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ ส่วนการตรวจหาเชื้อในร่างกายผู้ป่วยที่รักษาอยู่ที่โรงพยาบาลแม่สอด ที่มี 3 ราย นั้น ยังไม่พบเชื้อ เพราะก่อนผู้ป่วยที่จะไปโรงพยาบาลได้กินยาจากพื้นที่มาก่อน แต่ขณะนี้ขอเตือนประชาชน ในพื้นที่ให้บริโภคเนื้อที่สุก และไม่ควรบริโภคสัตว์ที่ตาย หากพบผู้ป่วยให้รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
ชาวบ้านรายหนึ่ง เปิดเผยว่า แพะตายที่ชาวบ้านนำไปแล่กินกันนั้น ไม่ใช่แพะตัวเดียว เพราะเป็นแพะตายที่อยู่ในรถยนต์ 5-6 ตัว และถูกนำลงไปไว้สถานที่แห่งหนึ่ง ของหมู่ที่ 9 หลังจากชาวบ้านขอไว้ จากนั้น ชาวบ้านได้นำไปแล่เนื้อ และแจกจ่ายกันไปทั่ว
อย่างไรก็ดี ชาวบ้านยังคงไปรับยาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)มหาวัน ซึ่งส่วนมากเป็นชาวบ้านจากหมู่ที่ 9 เพราะได้รับเนื้อแพะไปกินกันไม่น้อยกว่า 30 ราย
สำหรับโรคแอนแทรกซ์ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ระบุว่า ชาวบ้านเรียกว่าโรคกาลี เป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงที่เกิดขึ้นได้ในสัตว์กินหญ้าแทบทุกชนิด ทั้งสัตว์ป่า เช่น ช้าง เก้ง กวาง และสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ แพะ แกะ แล้วติดต่อไปยังคนและสัตว์อื่น เช่น เสือ สุนัข แมว สุกร โรคมักจะเกิดในท้องที่ซึ่งมีประวัติว่าเคยมีโรคนี้ระบาดมาก่อน แต่ปัจจุบันเนื่องจากการคมนาคมสะดวกและรวดเร็ว พ่อค้าสัตว์มักจะนำสัตว์ป่วย หรือสัตว์ที่อยู่ในระยะฟักตัวของโรคไปขายในท้องถิ่นอื่น ทำให้เกิดการกระจายของโรคไปไกล ๆ ได้ เชื้อนี้ก่อให้เกิดโรคในคน 3 แบบ คือที่ผิวหนัง ที่ปอดจากการสูดดม ที่ทางเดินอาหารและ oro-pharynx จากการกินเชื้อนี้เข้าไป
สาเหตุโรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย วิธีการติดต่อในคน ส่วนใหญ่จะติดทางผิวหนังโดยการสัมผัสสัตว์ป่วย หรือสัมผัสกับผลิตภัณฑ์สัตว์ที่ได้มาจากสัตว์ป่วย โรคติดมาสู่คนเนื่องจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือขาดความระมัดระวัง หรือเมื่อสัตว์ตายจึงชำแหละเนื้อมาบริโภค อย่างไรก็ตามอุบัติการณ์ของโรคที่เกิดขึ้นเกือบทุกครั้งมักจะเกิดขึ้นในสัตว์ก่อน แล้วคนจึงไปติดเชื้อเข้ามา แอนแทรกซ์ผิวหนังจะเกิดจากเชื้อเข้าสู่ผิวหนังบริเวณรอยถลอกหรือบาดแผล
โรคแอนแทรกซ์ทางเดินหายใจเกิดจากการสูดหายใจเอาสปอร์ซึ่งติดมากับขนสัตว์ที่ส่งมาจากท้องถิ่นมีโรค (endemic area) การติดต่อทางระบบหายใจยังไม่เคยมีรายงานในประเทศไทย ส่วนแอนแทรกซ์ของระบบทางเดินอาหารและออโรฟาริงมีสาเหตุจากการกินเนื้อสัตว์ที่ป่วยตายด้วยโรคนี้ แล้วไม่ปรุงให้สุกเพียงพอ
ระยะฟักตัว ในคน ตั้งแต่รับเชื้อจนถึงขั้นแสดงอาการ อยู่ระหว่าง 12 ชั่วโมง ถึง 7 วัน แต่ถ้าเป็นกรณีสูดหายใจเอาสปอร์ของเชื้อจากการใช้เป็นอาวุธชีวภาพ ระยะฟักตัวอาจยาวนานถึง 60 วัน ในสัตว์ ส่วนมากระยะฟักตัวจะเร็ว โดยเฉพาะในรายที่รับเชื้อทั้งจากการกินและการหายใจเอาเชื้อเข้าไป
อาการและอาการแสดง ในคนกรณีแอนแทรกซ์ที่ระบบทางเดินอาหาร (intestinal anthrax) ผู้ป่วยที่กินเนื้อหรือเครื่องในสัตว์ที่ป่วยตายด้วยโรคนี้ แล้วไม่ปรุงให้สุกเพียงพอ ภายใน 12-24 ชั่วโมง จะรู้สึกมีไข้ ไม่สบายท้อง คลื่นไส้ อาเจียน คล้ายกับอาการของอาหารเป็นพิษ ถ้าไม่ได้รับการรักษาโดยเร็ว จะทำให้เกิดการอักเสบเป็นแผลที่ต่อมน้ำเหลืองของขั้วไส้และลำไส้ส่วนต่างๆ มีน้ำในช่องท้อง และปวดท้องอย่างรุนแรง บางครั้งผู้ให้การรักษาอาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบก็ได้ ดังนั้นแพทย์ผู้ทำการรักษาควรเน้นการซักประวัติการรับประทานอาหารจากผู้ป่วย เมื่อพบผู้ป่วยที่มีลักษณะดังกล่าว ในรายที่มีอาการอุจจาระร่วงมักจะพบว่ามีเลือดปนออกมาด้วย ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา เชื้อจะเข้าในกระแสเลือด เกิดอาการโลหิตเป็นพิษ ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ ในกรณีนี้จะมีอัตราการป่วยตายถึงร้อยละ 50-60
ทั้งนี้ มีผู้ป่วยบางรายกินเนื้อที่ติดเชื้อแล้วเคี้ยวอยู่ในช่องปากนาน ทำให้เกิดแผลในช่องปากและหลอดคอได้ (oropharyngcal anthrax) ต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณลำคอจะบวม และลามไปถึงใบหน้า