ถึงเวลาราชภัฏ 38แห่งต้องทบทวนวิสัยทัศน์
ม.ราชภัฏ38แห่งทบทวนวิสัยทัศน์ “คนของพระราชา”-มุ่งพัฒนาท้องถิ่น รวมถึงต้องเน้นการเชื่อมโยงภายในกลุ่ม มรภ. ด้วยไม่ใช่ต่างคนต่างทำอย่างที่ผ่านมา
ในหลวงรัชกาลที่ 10 ได้เห็นถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาของอุดมศึกษา โดยเฉพาะในกลุ่มของมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) เนื่องจากมีปรัชญาที่จะพัฒนาท้องถิ่น และการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พระองค์ท่านทรงมีพระกระแสรับสั่งแนะนำผ่านมาทางองคมนตรีและสื่อมาถึงศธ.ด้วย และในการประชุมอธิการบดีมรภ.ทั่วประเทศที่ผ่านมาที่ประชุมก็เห็นว่ามรภ.จะต้องมีการปรับตัว เพื่อยกระดับตัวเองแต่ก็ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนที่เบื้องต้นคือการพัฒนาท้องถิ่น รวมถึงต้องเน้นการเชื่อมโยงภายในกลุ่ม มรภ. ด้วยไม่ใช่ต่างคนต่างทำอย่างที่ผ่านมา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เรืองเดช วงค์หล้า
ดังนั้นมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง จึงได้ร่วมกันทบทวนวิสัยทัศน์ พันธกิจในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย เพื่อให้สอดคล้องตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 ที่ได้กำหนดภารกิจและปณิธานของมหาวิทยาลัยราชภัฏไว้ใน มาตรา 7 ที่ให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560 – 2579) ซึ่งประกอบไปด้วย 4 ประเด็นยุทธศาสตร์ ได้แก่ การพัฒนาท้องถิ่น การผลิตและพัฒนาครู การยกระดับคุณภาพการศึกษา และการพัฒนาระบบบริหารจัดการ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เรืองเดช วงค์หล้า ประธานที่ประชุมอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏ กล่าวกับ “คมชัดลึก” ว่า ชาวมหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นคนของพระราชาอยู่แล้ว และเป็นที่พึ่งของท้องถิ่นมาโดยตลอด และจากนี้ไปทั้ง 38 แห่งจะร่วมกัน พัฒนาท้องถิ่น ทั้ง ด้านเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม
โดยให้มหาวิทยาลัยราชภัฏแต่ละแห่งเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนากับท้องถิ่นทุกๆมิติ ศึกษาปัญหาและความต้องการของชุมชนที่ต้องเข้าไปสนับสนุนการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาในด้านต่างๆ ให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน
นอกจากนี้ในส่วนของการผลิตและพัฒนาครู ต้องทำทั้งระบบปิด/เปิด พัฒนาศักยภาพครู และนวัตกรรมการผลิตและพัฒนาครูให้ได้มาตรฐานวิชาชีพและมีจิตวิญญาณความเป็นครูและสอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่นให้มีความเป็นมืออาชีพสอดคล้องกับจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สู่การศึกษา 4.0 โดยร่วมกับโรงเรียนขั้นพื้นฐานในพื้นที่ที่มีมหาวิทยาลัยราชภัฏแต่ละแห่งเป็นพี่เลี้ยง
การยกระดับคุณภาพการศึกษา พัฒนาแหล่งเรียนรู้ให้เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนา ปรับปรุงหลักสูตรสหวิทยาการตอบสนองต่อการพัฒนาท้องถิ่น จัดกิจกรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น จัดหาและเพิ่มประสิทธิภาพทรัพยากรสนับสนุนการเรียนรู้ พัฒนาบัณฑิตให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 และสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บัณฑิต และบ่มเพาะให้บัณฑิตมีทักษะเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Startup) และที่สำคัญต้องพัฒนาระบบบริหารจัดการ ร่วมกำหนดพื้นที่ความรับผิดชอบในการพัฒนาท้องถิ่น
"การพัฒนาร่วมกับท้องถิ่นความกำหนดพื้นที่ในการพัฒนาร่วมกัน โดยกำหนดเป็นรายภาคที่เน้นพัฒนาในสอดคล้องกับบริบทแต่ละพื้นที่ เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน เข้าไปต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น จัดหลักสูตรและงานวิจัยต่างให้ สอดคล้องกับความต้องการ ผลิตบัณฑิตป้อนตลาดแรงงานที่มีทักษะพร้อมมากที่สุด จัดนักวิจัยเข้าไปช่วยให้ท้องถิ่นพัฒนาความรู้ พัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อย่างยั่งยืน”
ยกตัวอย่างเช่น ภาคเหนือจะเน้นเรื่องฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะหลุดพ้นความยากจนสู่เป้าหมายการพึ่งตนเอง ภาคตะวันออก และภาคกลาง ฐานเศรษฐกิจชั้นนำ ภาคใต้ ฐานการสร้างรายได้ที่หลากหลาย และภาคใต้ชายแดน พัฒนาเศรษฐกิจเพื่อความมั่นคง ต่อไปการจัดการศึกษาของราชภัฏแต่ละแห่งจะมีกรอบในการดำเนินการไปในแนวทางเดียวกัน จากเดิมที่ต่างคนต่างทำ เพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์แต่ละภูมิภาคของมหาวิทยาลัยราชภัฏ
"การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ท้องถิ่นโดยการทำงานวิจัย ต่างๆ ต้องใกล้ชิดและเดินเคียงข้างชุมชนอย่างชัดเจน ยึดปัญหาชาวบ้านเป็นตัวตั้ง อาจารย์และนักศึกษาต้องลงไปศึกษาปัญหาและทำวิจัย ปฏิบัติงานจริงร่วมกับผู้นำชุมชนและชาวบ้าน ใช้ชุมชนเป็นห้องเรียนและห้องแล็บ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง มหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่งตระหนักถึงพันธกิจนี้เป็นอย่างดี และได้เดินตามแผนการในการจัดการศึกษาเพื่อท้องถิ่น เพื่อชุมชนอย่างแท้จริงมาตลอด" ประธานที่ประชุมอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ได้นำเสนอ ยุทธศาสตร์ทั้งหมดให้กับองคมนตรี รัฐมนตรีช่วยว่าการและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไปเรียบร้อยรวมทั้งได้หารือไปแล้ว 1 ครั้ง จากนี้ไปจะขอเข้าพบเพื่อหารือในรายละเอียดและลงมือปฏิิบัติในวาระต่อไป เชื่อว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่งตระหนักถึงพันธกิจนี้เป็นอย่างดี