ไลฟ์สไตล์

ผลวิจัยสะเทือนวงการ"มวยเด็ก"

ผลวิจัยสะเทือนวงการ"มวยเด็ก"

20 ธ.ค. 2560

แพทย์รามาฯเผยผลวิจัย"มวยเด็ก" พบทำให้มีเลือดออกในสมอง ใยประสาทฉีกขาด วอนคุมกติกามวยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี

       เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560 ที่อาคารอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี  ในงานประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 10 มีการแถลงข่าว "ส่งเสริมกีฬามวยไทยเด็ก ยุติมวยเด็กหาเงิน" โดย ศ.พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ ประธานโครงการศูนย์รังสีวินิจฉัยก้าวหน้า (ไอแมค) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า กีฬามวยไทยถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมและเป็นการออกกำลังกาย ซึ่งบางกลุ่มได้ยึดมวยไทยเป็นอาชีพเพื่อผลตอบแทน

       โดยปัจจุบันมีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เข้าสู่วงการมวยไทยตั้งแต่เล็กเป็นจำนวนมาก คาดว่ามีประมาณ 2-3 แสนคนทั่วประเทศ บางคนขึ้นเวทีชกตั้งแต่อายุ 4 ขวบ มีการแข่งขันเชียร์กันอย่างสนุกสนาน ซึ่งการการชกมวยในเด็กเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ โดยเฉพาะการบาดเจ็บทางสมอง

        ซึ่งเกิดขึ้นได้ 2 รูปแบบ คือ ถูกชกที่ศีรษะโดยตรง และเกิดจากการที่ศีรษะและสมองถูกสะบัด หมุนด้วยแรงเหวี่ยงที่รวดเร็วอย่างกะทันหัน ทำให้สร้างบาดแผลให้กับเนื้อสมองโดยตรง และเกิดการยืดหรือขาดของเส้นประสาท ซึ่งถือเป็นการบาดเจ็บภายในทำให้หลายคนไม่รู้ตัวและเกิดการสะสมมากขึ้น

ผลวิจัยสะเทือนวงการ\"มวยเด็ก\"

 

         "การบาดเจ็บของสมองจากการชกมวย จะทำให้การส่งสัญญาณของระบบประสาทติดขัด สมองไม่สามารถสั่งการได้ตามปกติ มีเลือดออกในสมองบริเวณฉีกขาด เซลล์สมองตายและฝ่อลง ซึ่งไม่สามารถสร้างขึ้นมาทดแทนใหม่ได้ มีน้ำเข้ามาแทนที่เนื้อสมองทำให้สมองไม่สามารถโตขึ้นได้ และส่งผลระยะยาวต่อระบบประสาท ทั้งอัลไซเมอร์ และพาร์กินสัน ซึ่งอาการเหล่านี้ที่เกิดขึ้นทีละเล็กละน้อยสะสมไปเรื่อยๆ ทำให้บางครั้งอาการทางกายภาพไม่สามารถมองเห็นได้ เพราะเด็กยังพูดจา เดินเหิน ทำอะไรได้ตามปกติ" ศ.พญ.จิรพร กล่าว

ผลวิจัยสะเทือนวงการ\"มวยเด็ก\"

       ศ.พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์

       ศ.พญ.จิรพร กล่าวอีกว่า จากการศึกษาวิจัยและติดตามกลุ่มนักมวยเด็ก จำนวน 300 คน แบ่งเป็นประสบการณ์ชกไม่เกิน 2 ปี 2-5 ปี และมากกว่า 5 ปี เปรียบเทียบกับเด็กทั่วไปจำนวน 200 คน ที่มีเศรษฐานะใกล้เคียงกัน พบว่า การชกมวยในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มีผลต่อสมองของเด็กดังนี้ 1.มีเลือดออกในสมองจากการถูกชกหัว ทำให้มีธาตุเหล็กสะสมซึ่งเป็นสารพิษต่อเนื้อสมอง 2. เซลล์สมอง และใยประสาทฉีกขาด และถูกทำลาย ทำให้สมองไม่สามารถสั่งการได้ตามปกติ

       3. การทำงานด้านทักษะการใช้กล้ามเนื้อและมือด้านที่ไม่ถนัดของนักมวยเด็กดีกว่าเด็กทั่วไป เพราะผ่านการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง 4. การทำงานของสมองด้านความจำลดลง สามารถนำไปสู่อาการบกพร่องทางปัญญาหรือภาวะสมองเสื่อมได้ ระดับสติปัญญา (IQ) ของเด็กที่ชกมวยน้อยกว่าของเด็กทั่วไปเกือบ 10 คะแนน และยังลดลงอย่างต่อเนื่องตามระยะเวลาการชก โดยระดับไอคิวของเด็กทั่วไปในประเทศไทยอยู่ระหว่าง 90-110 ซึ่งสามารถเรียนจบระดับอนุปริญญาหรือปริญญาตรี ส่วนนักมวยเด็กที่ขึ้นชกมากกว่า 5 ปีมีไอคิว 84 คะแนน ซึ่งคะแนนระหว่าง 80-89 จะสามารถเรียนจบระดับมัธยมปลายเท่านั้น

       "สมองของคนเราพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ว่าโตแล้วสมองหยุดพัฒนา เพราะสมองส่วนคุมกล้ามเนื้อพัฒนาถึงอายุ 12-14 ปี ส่วนสติปัญญาพัฒนาถึงอายุ 20 กว่าๆ ปี และด้านความรู้สึกพัฒนาถึงอายุ 40 กว่าปี ดังนั้น เมื่อเด็กที่ยังอายุน้อย สมองยังพัฒนาไม่ถึงครึ่งดี แต่สมองกลับถูกทำลายตั้งแต่เด็ก ซึ่งพวกเขาจะโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ต้องมาดูแลผู้สูงวัย และรับผิดชอบเด็กเกิดใหม่ในอนาคต ซึ่งนักมวยเด็กมีถึง 1.5% ของจำนวนเด็กทั้งหมดที่อายุต่ำกว่า 15 ปี จะเป็นเช่นไร ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กเช่นนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มวยไทยไม่ไปสู่เวทีโลก เพราะอย่างวิทยาลัยกุมารแพทย์ สหรัฐอเมริกาและสมาคมกุมารแพทย์ ประเทศแคนาดา ยังปฏิเสธการยอมรับการชกมวยเป็นกีฬาในเด็กและเยาวชน โดยปี 2558 สหรัฐฯ ออกกฎหมายห้ามใช้ศีรษะโหม่งบอลในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี เพราะมีผลกระทบต่อสมอง เด็กอายุ 11-13 ปีต้องฝึกซ้อมตามกฎระเบียบที่จำกัด ซึ่งหากฝ่าฝืนครูสอนพละก็ต้องรับผิดชอบ เพราะมีข้อมูลชัดเจนว่าการกระแทกที่ศีรษะก่อให้เกิดผลเสียในเด็ก" ศ.พญ.จิรพร กล่าว

       ข้อเสนอคือ เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ไม่มีการชกมวยแบบปะทะ ซึ่งยึดตามหลักเช่นเดียวกับยูโด เทควันโด มวยสากลสมัครเล่น คือเน้นเรื่องของไหว้ครู และใช้แค่ท่าเพื่อฝึกซ้อม อายุ 10-15 ปี ชกมวยแบบปะทะที่ไม่เน้นทำลายศีรษะ และอายุ 15 ปีขึ้นไป เป็นนักมวยอาชีพได้ตามมาตรฐานสากล

ผลวิจัยสะเทือนวงการ\"มวยเด็ก\"

        รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์

       รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก (CSIP) กล่าวว่า จริงๆ ประเทศไทยมี พ.ร.บ.กีฬามวย พ.ศ. 2542 โดยกำหนดห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีที่ไม่มีการสวมอุปกรณ์ป้องกันที่ได้มาตรฐานชกมวย ต้องมีการลงทะเบียนกับการกีฬาแห่งประเทศไทย และชกบนเวทีที่ขออนุญาต

        แต่ปัจจุบันพบว่า การชกมวยในเด็กละเมิดกฎหมายทั้งหมด อย่างเด็ก 4-5 ขวบชกกันโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน เวทีไม่มีการขออนุญาต ไม่มีการขึ้นทะเบียนนักมวย ซึ่งตรงนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือการกีฬาฯ ต้องเข้ามาดูแล รวมถึงหน่วยงานด้านความคุ้มครองเด็กด้วย

       โดยขณะนี้ คณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้จัดทำร่างแก้ไขพ.ร.บ. กีฬามวย เพื่อกำหนดให้มวยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นการแข่งขันที่ต้องมีความปลอดภัย เพื่อรักษาวัฒนธรรมไทย และเพื่อฝึกฝนสู่ความเป็นเลิศทางกีฬาเท่านั้น

        โดยต้องจัดการแข่งขันตามมาตรฐานที่กำหนดของสมาคมมวยไทยสมัครเล่นและ IFMA (International Federation of Muaythai Amateur) ที่กำหนดระเบียบการแข่งขันไว้ว่า เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ต้องแข่งขันแบบไม่ปะทะคือการแข่งไหว้ครู อายุ 10-11 ปี แข่งขันแบบปะทะกันได้ แต่ไม่ชกหัว อายุ 12-13 ปี กติกาไม่อนุญาตให้กระทำที่ศีรษะแบบรุนแรง เพื่อให้วงการกีฬาสากลยอมรับมวยไทยว่ามีความศิวิไลซ์เพียงพอที่จะเป็นกีฬาโอลิมปิกได้

       เพราะอย่างที่ประเทศไทยติดเรื่องค้ามนุษย์ กีฬามวยเด็กก็เป็นหนึ่งในสาเหตุ เพราะถือเป็นการใช้แรงงานเด็ก แม้กระทรวงแรงงานจะออกมาบอกว่าค่ายมวยไม่ใช่นายจ้าง จึงไม่ถือว่าเป็นการใช้แรงงานก็ตาม

      อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการร่างกฎหมายใหม่ แต่ต้องแก้ไขเรื่องค่านิยมในการชกมวยเด็ก เพราะตราบใดที่คนยังเชียร์มองเป็นเรื่องปกติก็ยังคงเป็นปัญหา