ไลฟ์สไตล์

พิชิตปัญหาสัตว์เลี้ยง - “เมื่อหนูเครียด!”

04 ต.ค. 2552

เมื่อหนูเครียด จะแสดงอาการอย่างไร เมื่อหนูเครียด จะแก้ไขอย่างไร เมื่อหนูเครียด จะป้องกันอย่างไร ฯลฯ

 “หนู” ที่ว่านี้ หมายถึง หนูจริงๆ คือ สัตว์เลี้ยงในตระกูลฟันแทะ หรือ Rodent สัตว์ตระกูลที่มีฟันแทะคู่หน้าทั้งบนและล่างใหญ่จนดูเหมือนจอบ ชอบแทะเป็นนิสัย ตัวอย่างเช่น หนูถีบจักร หนูขาวใหญ่ หนูแฮมสเตอร์ หนูเจอร์บิลล์ และหนูตะเภาหรือหนูแกสบี้ ฯลฯ หาใช่ “น้องหนู” ทั้งหลายไม่

 ปัจจุบันหนูเหล่านี้ถูกนำมาเป็นสัตว์เลี้ยงขนาดกระเป๋า แพร่หลายมานานพอควร ได้รับความนิยมเป็นอย่างดีจากเด็กๆ และวัยรุ่น ผู้เลี้ยงหนูเป็นสัตว์เลี้ยงทั้งหลาย อาจจะพบปัญหาหนูดุ หนูขู่ หนูไม่เชื่อง หนูซึม หนูป่วย และหนูตาย อยู่เนืองๆ แม้ว่าจะได้รับการดูแล อาหาร ที่อยู่เหมาะสมก็ตาม สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหามาจาก “ความเครียด”

 ความเครียดในหนูเป็นภาวะที่หนูไม่สามารถปรับตัวเข้ากับภาวะแวดล้อม หรือสิ่งเร้าได้จนเกิดผลข้างเคียงตามมาทั่งร่างกายและจิตใจ ผลที่สุดอาจรุนแรงจนถึงแก่ชีวิต

 หนูเครียดอาจแสดงอาการหลายรูปแบบ เช่น หงอย ซึม ซุกซ่อนตัว อารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย ไม่ชอบให้คนสัมผัส เบื่ออาหาร ดุขึ้นกว่าเดิม จนกัดทำร้ายเจ้าของ คนเลี้ยง หรือแม้แต่พรรคพวกหนูด้วยกันไม่ว่าลูกเด็กเล็กแดง หรือเพื่อน ไม่ไว้หน้าทั้งสิ้น หนูที่เคยจับเล่นได้ก็กลายเป็นสัตว์น่ากลัว อันตราย สมาชิกอื่นในบ้านไม่อยากสังฆกรรมด้วยอีกแล้ว ฯลฯ บางครั้งอาจพบว่าหนูแสดงอาการป่วย และตายลงเนื่องจากความเครียดก็มี!

 สาเหตุที่ทำให้หนูเครียด (มิใช่คุณไม่ส่งเสีย) เช่น ถูกคนรบกวนชวนเล่น จับต้องจนไม่เป็นอันกินอันนอน มีศัตรูอยู่ห้อมล้อม (เช่น หมา แมว) อาหารและน้ำกินไม่พอเพียงต้องแก่งแย่งกัน เลี้ยงในที่คับแคบแออัดสกปรก หรือเลี้ยงหนูเพศเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพศผู้ด้วยกันรวมกันล่ะก็เป็นเรื่อง (เลือดสาดแน่นอน) ฯลฯ

 การแก้ไขสถานการณ์สามารถลดความเครียดในหนูลงเป็นเบื้องต้น โดยการแยกคู่กัด คู่กรณี ไม่เลี้ยงหนูเพศเดียวกันไว้ด้วยกัน ขยายกรงหรือที่อยู่ให้กว้างขวางขึ้นกว่าเดิม จัดที่ให้น้ำและอาหารที่มีปริมาณและคุณภาพให้เพียงพอ กระจายจุดให้น้ำให้อาหารไว้หลายๆ แห่ง จัดรังนอนให้มากพอจะได้ไม่แย่งกัน หรือไม่มีที่นอนซึ่งก่อความเครียดมาก

 ที่สำคัญลดการรบกวนก่อความรำคาญแก่หนูให้น้อยลง จัดเวลาให้เขาได้อยู่อย่างสงบเป็นส่วนตัว พักผ่อนเต็มที่ความเครียดย่อมลดลงหรือเกิดขึ้นน้อยที่สุด ฯลฯ

 ทางที่ดีผมว่าน่าจะป้องกันมิให้หนูเกิดความเครียดหรือเกิดบ้างแต่น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่น รักษาสุขภาพร่างกายหนูให้แข็งแรงอยู่เสมอ จัดหาของเล่นและที่อยู่ให้หนูได้ใช้อย่างพอเพียงและสะดวกสบาย

 ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ การจับต้อง การเล่น ของผู้เป็นเจ้าของต้องทะนุถนอม จับต้องไม่รุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กๆ และต้องรู้จักเวลาพักผ่อนด้วย

 รับรองว่าหนูของคุณก็จะไม่เครียดและไม่เป็นปัญหาต่อไปครับ!

ปานเทพ รัตนากร