
"ผักเบี้ยหิน" ใช้ขับระดูขาว
06 ต.ค. 2552
นอกจากนำมาปรุงเป็นอาหารหรือกินสดมีคุณประโยชน์ต่อฟัน ผักเบี้ยหิน หรือ ผักโขมหิน ยังมีสรรพคุณทางยานำมาคั้นผสมกับน้ำมันกุหลาบ แก้เหงือกบวม แก้เจ็บคอ ขับระดูขาว และใช้ทาภายนอกแก้แผลอักเสบ เป็นต้น มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนทางแถบทวีปแอฟริกา บ้านเราพบทางภาคกลาง
เป็นไม้ล้มลุกฤดูกาลเดียว วงศ์ AIZOACEAE มีชื่อวิทยาศาสตร์ Trianthema portulacastrum Linn. ลำต้นทอดนอนเตี้ยแผ่ราบคลุมดิน กลมอวบน้ำหรือค่อนข้างเหลี่ยม ผิวเกลี้ยง มีขนละเอียด สีเขียวอมม่วง ยาว 15-20 เซนติเมตร
ใบ เป็นใบเดี่ยวเล็ก ออกเรียงสลับตรงข้ามเป็นคู่ คล้ายรูปหัวใจ เนื้อบาง ขอบเรียบ อวบน้ำ ริมใบสีม่วง โคนแหลม ปลายมนเว้า ยาว 1-4 เซนติเมตร
ดอก เป็นดอกเดี่ยวเล็กๆ แต่รวมเป็นช่อตามซอกใบ กลีบดอก 5 กลีบ ปลายกลีบมน สีชมพู เกสรยาว สีขาว ออกตลอดปี
ผล เป็นฝัก เปลือกเหนียว เมื่อแห้งแตก มีเมล็ดคล้ายรูปไต 3-4 เมล็ด สีดำ
ขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด แดดกลางแจ้ง ความชื้นปานกลาง
"นายสวีสอง"