ไลฟ์สไตล์

เดินหน้าต่อยอดแก่น "มะหาด" 
ผลิต "โทนเนอร์หน้าเด้ง-แชมพู"

เดินหน้าต่อยอดแก่น "มะหาด" ผลิต "โทนเนอร์หน้าเด้ง-แชมพู"

08 ต.ค. 2552

หลังจากที่ "ปราณี ศิริบูรณ์พิพัฒนา" ประธานกรรมการ บริษัท ชาโมกข์ จำกัด ประสบความสำเร็จในการคิดค้น วิจัย และทดลองการนำเอา "แก่นมะหาด" ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรพื้นบ้าน มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้บำรุงรักษาเส้นผม ยับยั้งการหลุดร่วง และกระตุ้นการงอกของเส้นผมสำหรับผู้

   ล่าสุด ปราณี ได้เตรียมออกผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ที่ใช้แก่นมะหาดเป็นหลัก ได้แก่ โทนเนอร์สำหรับเช็ดหน้า หรือโทนเนอร์หน้าเด้ง และ แชมพูสมุนไพรไม้มะหาด โดยผลิตภัณฑ์แชมพูสมุนไพรไม้มะหาด ทางบริษัท ชาโมกข์ ร่วมกับภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) เพื่อผลิตตำรับแชมพูสมุนไพรมะหาดที่มีประสิทธิภาพ  โดยโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้การสนับสนุนในด้านงบประมาณในการวิจัย

 ก่อนที่ ปราณี จะคิดค้นผลิตภัณฑ์โทนเนอร์สำหรับเช็ดหน้านั้น เกิดมาจากก่อนหน้านี้เธอมีปัญหาเรื่องใบหน้าเป็นฝ้า เพราะการทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร ทำให้ต้องออกแดดภาคสนามทุกวัน กระทั่งในราวปี 2548 จึงได้นำเอาแก่นมะหาดมาต้ม ชุบสำลีแล้วนำมาเช็ดที่บริเวณใบหน้า เพราะได้ยินมาว่าสมุนไพรตัวนี้มีสรรพคุณแก้ปัญหาฝ้าได้ เธอเช็ดหน้าได้ 2-3 เดือน ฝ้าก็เริ่มเห็นผล คือ ฝ้าจางหาย ขณะเดียวกันก็พบว่าขนคิ้วที่ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยมีก็ขึ้นหนาดกดำ 

 "ผลิตภัณฑ์ยับยั้งผมร่วงออกมาจำหน่าย 2 ปี โดยผ่านช่องทางของตัวแทนจำหน่ายตามจังหวัดต่างๆ และในลักษณะการบอกปากต่อปาก ผลการตอบรับจากลูกค้าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ  เพราะบางรายที่มีผมร่วง ใช้ผลิตภัณฑ์นี้ 3 สัปดาห์จะยับยั้งผมร่วงได้ และภายใน 4-6 สัปดาห์ ยังกระตุ้นให้เกิดการงอกของเส้นผมอีกด้วย" ปราณีกล่าว

 ปัจจุบัน ชาโมกข์แฮร์โทนิค มีวางจำหน่ายที่ร้านต้นคูน จ.ขอนแก่น ร้านบ้านสุขภาพ จ.นครราชสีมา ที่ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และที่กรุงเทพฯ ในราคาขวดละ 800 บาท ซึ่งปัจจุบันบริษัทจะผลิตตามออเดอร์ของตัวแทนจำหน่ายเฉลี่ยเดือนละ 300-500 ขวด

  ส่วนผลิตภัณฑ์ โทนเนอร์สำหรับเช็ดหน้า มีส่วนประกอบคือ แก่นมะหาดเป็นหลัก เปลือกมังคุด และผงไหมมีสรรพคุณ กระชับรูขุมขน ลดการเกิดฝ้า-สิวอุดตัน ล่าสุดโทนเนอร์ชาโมกข์ ได้ทำการจดสิทธิบัตรกรรมวิธีการผลิตแล้ว ขณะที่แชมพูสมุนไพรไม้มะหาด กำลังจะนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ต่อไป

 สำหรับวัตถุดิบนั้น ปราณี บอกว่าได้ปลูกต้นไม้มะหาดไว้ที่สวนกว่า 1,000 กว่าต้น นอกจากนี้ยังรับซื้อมาจากชาวบ้านในเขต อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ และ จ.อุบลราชธานี ซึ่งชาวบ้านปลูกกันเป็นจำนวนมาก
          
"มยุรี อัครบาล"