โรคหูติดเชื้อ...ร้ายแรงกว่าที่คิด
วิธีการสังเกตอาการเบื้องต้นโรคหูติดเชื้อ คือ มีอาการปวดหู มีน้ำหนอง หรือน้ำขุ่นๆ ไหลออกจากหู ประสิทธิภาพในการได้ยินลดลง
ท่านอาจเคยมีอาการปวดในหู โดยที่ไม่รู้สาเหตุหรือไม่ โดยจะต้องทนกับอาการทรมานเมื่อปวดหู ซึ่งโรคของหูเป็นได้ทั้งหูชั้นนอก หูชั้นกลาง และหูชั้นใน เมื่อใดที่มีความผิดปกติของหูเกิดขึ้น ท่านควรรีบพบแพทย์ เพราะถ้าปล่อยไว้นานอาจทำให้เกิดปัญหาเรื้อรังหรือติดเชื้อได้ หรือถ้ารุนแรงอาจถึงขั้นต้องทำการผ่าตัดอย่าง “โรคหูชั้นกลางติดเชื้อ” ใครจะคาดคิดว่าเป็นโรคที่ต้องพึงระวังอย่างมาก ดังนั้นเรามาทำความรู้จักกับโรคหูชั้นกลางติดเชื้อกันว่าร้ายแรงอย่างไร...
พญ.นภัสถ์ ธนะมัย แพทย์ชำนาญการ กลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้าน โสต ศอ นาสิก โรงพยาบาลราชวิถี เผยว่า โรคหูติดเชื้อนั้นเป็นได้ทั้งหูชั้นนอก หูชั้นกลาง และหูชั้นใน โดย “โรคหูชั้นกลางติดเชื้อ” หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันคือ “หูน้ำหนวก” ผู้ที่เป็นโรคนี้ เริ่มต้นจะมีอาการปวดหูมาก อาจจะมีไข้ และต่อมามีน้ำหนองหรือน้ำข้นขุ่น ไหลออกจากหู อาการปวดหูทุเลาลง เนื่องจากหนองแตกทะลุเยื่อแก้วหูออกมาเปรียบเสมือนการระบายหนอง ผู้ป่วยอาจมีปัญหาทางการได้ยินบกพร่องได้
ทั้งนี้ พญ.นภัสถ์ กล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงของโรคหูติดเชื้อทั่วไปว่ามาจากหลายสาเหตุ ได้แก่ “น้ำเข้าหู” อาจจะมาจากการอาบน้ำ หรือว่ายน้ำ, "บาดเจ็บในหู" ซึ่งเกิดจากการแคะหู หรือปั่นหูรุนแรงเกินไป, “สิ่งแปลกปลอม” เข้าไปในหู รวมทั้งการมีขี้หูอุดตันมากเกินไป, “การเป็นหวัด” เนื่องจากหูชั้นกลาง กับจมูกมีท่อที่เชื่อมกัน เรียกว่าท่อปรับความดัน ทำให้เวลาเราเป็นหวัด เชื้อโรคในจมูกผ่านเข้าสู่หูชั้นกลางได้
“วิธีการสังเกตอาการเบื้องต้นโรคหูติดเชื้อ คือ หากมีอาการปวดหู มีน้ำหนอง หรือน้ำขุ่นๆ ไหลออกจากหู ประสิทธิภาพในการได้ยินลดลง เมื่อมีอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษา และป้องกันอาการที่รุนแรงมากขึ้นโดยความรุนแรงของโรคหูติดเชื้อนี้ อาจส่งผลให้มีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยิน หรืออาจสูญเสียการได้ยิน หากการติดเชื้อจากหูชั้นกลางรุนแรงลามไปถึงหูชั้นในและไม่ได้ทำการรักษาที่ถูกต้อง อาจลุกลามเข้าสู่สมอง ทำให้เกิดอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือฝีในสมอง ทำให้มีอาการปวดศีรษะรุนแรง จนนำไปสู่การเสียชีวิตได้” แพทย์ชำนาญการด้าน โสต ศอ นาสิก กล่าว
ดังนั้น เมื่อสงสัยว่ามีการติดเชื้อของหู แนะนำมาพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัย ว่าสาเหตุเป็นจากหูชั้นนอก หรือชั้นกลาง หรือชั้นใน โดยทั่วไป เมื่อมีการติดเชื้อของหูชั้นนอกหรือชั้นกลาง แพทย์จะจ่ายยาหยอดหู เพราะยาหยอดจะเข้าไปถึงบริเวณที่มีการติดเชื้อโดยตรง ทำให้การติดเชื้อทั้งในหูชั้นนอกและชั้นกลางหายสนิทได้ กรณีที่เป็นการติดเชื้อในหูชั้นกลาง หรือหูน้ำหนวก เมื่อหยอดยาจนแห้งสนิทดีแล้ว แพทย์อาจจะแนะนำการผ่าตัดเพื่อปิดเยื่อแก้วหูที่ทะลุ ซึ่งจะผ่าตัดด้วยการใช้กล้องขยาย หลังผ่าตัด จะมีผ้าและสำลีแพ็กไว้ในหูชั้นนอกและหูชั้นกลาง ทำให้การได้ยินยังไม่ปกติ ซึ่งแพทย์จะนัดมาเอาผ้าและสำลีออกให้หลังผ่าตัด 2 สัปดาห์ ระหว่างนี้ ควรระวังไม่ให้น้ำเข้าหู งดการแคะ หรือปั่นหู โดยแพทย์จะนัดตรวจอาการเป็นระยะๆ จนหายเป็นปกติ
นอกจากนี้ พญ.นภัสถ์ ยังให้คำแนะนำถึงการดูแลสุขภาพหู อย่างง่ายๆ ถ้าน้ำเข้าหูแล้ว ใช้ไม้พันสำลีเข้าไปซับได้ ไม่ปั่นหู หลีกเลียงการใช้ของแข็งแคะ หรือปั่นหูรุนแรง เพื่อลดอาการบาดเจ็บในรูหู ซึ่งอาจนำไปสู่การติดเชื้อของหูชั้นนอกได้ ดูแลความสะอาดภายในรูหู เมื่อเป็นหวัดมีน้ำมูก ปวดหู ควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันการเกิดหูน้ำหนวก
“ศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้าน โสต ศอ นาสิก โรงพยาบาลราชวิถี ตรวจรักษาผู้ป่วยโรคหูเป็นเวลากว่า 60 ปี รวมทั้งเป็นศูนย์รับส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ ปัจจุบันมีพื้นที่อำนวยความสะดวกค่อนข้างจำกัด จึงทำให้เกิดความแออัดที่ห้องตรวจอย่างมาก ปัจจุบันโรงพยาบาลกำลังสร้างอาคารศูนย์การแพทย์ เพื่อขยายพื้นที่ในการรองรับ และรักษาผู้ป่วยที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคต เมื่ออาคารศูนย์การแพทย์ เสร็จก็จะสามารถเปิดรักษาผู้ป่วยได้มากขึ้น และลดระยะเวลาของการรอรับการรักษาของผู้ป่วยได้ จึงขอเชิญผู้มีจิตศรัทธาร่วมแบ่งปันน้ำใจสมทบทุนซื้อเครื่องมือแพทย์ผ่านมูลนิธิ รพ.ราชวิถี สอบถามรายละเอียดได้ที่โทร.0-2354-7997-9” พญ.นภัสถ์ ธนะมัย กล่าวฝากทิ้งท้าย