ไลฟ์สไตล์

 เชิดชู 3 นายตำรวจ EOD จาก 3 จังหวัดภาคใต้

 เชิดชู 3 นายตำรวจ EOD จาก 3 จังหวัดภาคใต้

20 มี.ค. 2561

 ม.รามคำแหง เชิดชู 3 นายตำรวจ EOD จาก 3 จังหวัดภาคใต้ อนุมัติปริญญา "นิติศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์"

 

          การเสียสละเป็นพื้นฐานการทำความดีที่เราทุกคนสามารถทำได้โดยง่าย ซึ่งแต่ละบุคคลมีความเสียสละที่แตกต่างกัน บางคนเสียสละเงินทอง บางคนเสียสละพละกำลัง หรือบางคนเสียสละชีวิต ดังจะเห็นจากการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ที่เสี่ยงชีวิตเพื่อประชาชนโดยไม่คำนึงถึงสิ่งตอบแทน

          หน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิด (Explosive Ordnance Disposd) หรือ EOD เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ป้องกันและเก็บกู้ระเบิดเพื่อความสงบสุขของคนในพื้นที่และประชาชนทุกคน เป็นการทำงานที่มีความเสี่ยงถึงชีวิตสูงและเป็นผู้เสียสละ

          ด้วยเหตุผลที่ผู้ปฏิบัติงานหน่วย EOD เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละ สภามหาวิทยาลัยรามคำแหงจึงมีมติเอกฉันท์อนุมัติปริญญานิติศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เพื่อเป็นเกียรติแก่ 3 นายตำรวจ EOD จาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ ร้อยตำรวจเอกพงษ์ศักดิ์ เพชรกำโต ดาบตำรวจเอกชัย สมอคำ และดาบตำรวจกฤตธนา เอกกิตติขจร

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่าการมอบปริญญานิติศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ให้กับตำรวจหน่วย EOD ทั้ง 3 นาย เป็นเพราะเล็งเห็นถึงความเสียสละ ความรับผิดชอบ และการอุทิศตนที่ได้ปฏิบัติหน้าที่อันก่อให้เกิดเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ เพื่อเป็นกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ ทั้งที่ผ่านมาและสืบไป

           จากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 3 นาย ผู้ผ่านการปฏิบัติงานสำคัญที่เสี่ยงอันตราย อาทิ เก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด ตรวจสอบวัตถุต้องสงสัย ตรวจสถานที่เกิดเหตุตรวจสอบพื้นที่ปลอดภัย ถวายอารักขาแด่พระบรมวงศานุวงค์ ตลอดจนรักษาความปลอดภัยแก่บุคคลสำคัญ ทุกนายเอ่ยถึงการเสียสละในแนวทางเดียวกันคือ “เพียงได้ทำความดี ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ ผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นประโยชน์แก่ประชาชนก็มีความสุขแล้ว”

        ร้อยตำรวจเอกพงษ์ศักดิ์ เพชรกำโต รอง.ส.ว.ตรวจพิสูจน์และเก็บกู้วัตถุระเบิด บก.สส.จชต. ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าชุดเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด จังหวัดปัตตานี เล่าถึงประสบการณ์ทำงาน ว่าครั้งหนึ่งเคยไปยืนบนระเบิดขนาดใหญ่ ระเบิดที่พร้อมระเบิดได้ทุกเมื่อและมีอนุภาพร้ายแรง แต่โชคดีที่ไม่เกิดการระเบิดจนมีผู้บาดเจ็บ ซึ่งหน่วย EOD ได้ทำการเก็บกู้ระเบิดได้ทัน พร้อมทั้งยังให้กำลังใจผู้ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละและเต็มใจ เป็นความสุขที่หาได้รอบตัวเรา

          “ผมสมัครตำรวจหลังจากปลดประจำการทหารเกณท์ ผมคิดว่าการเสียสละเป็นความสุขในการทำงาน แม้ไม่ได้ทำในพื้นที่ใกล้บ้านแต่ที่นี่ก็เป็นเหมือนบ้านของผมไปแล้ว ด้วยอายุทำงาน 20 ปี ทำให้มีความผูกพันและประสบการณ์ที่มากพอจะช่วยเหลือผู้คนต่อไปได้ ผมคิดว่ายังมีอีกหลายคนกำลังปฏิบัติงานด้วยความเสียสละและตั้งใจ ขอให้กำลังใจและยึดมันความดี ความเสียสละเป็นที่ตั้ง จะทำให้ชีวิตเรามีความสุขในทุกๆวัน”

          ดาบตำรวจเอกชัย สมอคำ ผู้บังคับหมู่กองกำกับการปฏิบัติการพิเศษ สถานีตำรวจภูธรจังหวัดยะลา ปฏิบัติหน้าที่เก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมพ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบัน เล่าถึงประสบการณ์ทำงานว่า เคยได้รับอุบัติเหตุจากการเก็บกู้ระเบิด ต้องใช้เวลารักษากว่า 6 เดือน และปัจจุบันยังคงใส่เหล็กดามที่แขนอยู่ ทว่าความเจ็บปวดครั้งนี้ไม่ได้สร้างความหวัดกลัว แต่เป็นความภาคภูมิใจที่ได้เสียสละเพื่อประชาชนอีกหลายคน และยังคงปฏิบัติหน้าที่ของตนเองเช่นเดิมในทุกๆ วัน

       “ผมตัดสินใจสมัครตำรวจเพราะอยากทำให้ทุกชีวิตปลอดภัยด้วยความรู้ความสามารถที่มี ทั้งยังได้รับใช้บ้านเกิดที่ยะลาในช่วงที่เกิดเหตุการณ์รุนแรงอย่างเต็มที่..จากสิบตำรวจจนถึงตำแหน่งดาบตำรวจในปัจจุบัน การได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า ม.รามคำแหงเห็นความสำคัญของผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างตั้งใจ ขอบคุณและดีใจมากๆที่ได้รับรางวัลแห่งความภาคภูมิใจทั้งของผมและครอบครัว”

         ดาบตำรวจกฤตธนา เอกกิตติขจร ผู้บังคับหมู่กองกำกับการปฏิบัติการตำรวจชายแดนใต้ส่วนหน้า ปฏิบัติหน้าที่เก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด จังหวัดนราธิวาส เล่าถึงประสบการณ์ทำงานว่า ครั้งหนึ่งได้เข้าเก็บกู้ระเบิดน้ำหนักรวม 120 กิโลกรัมในรถโดยสารที่ถูกขโมยมา เป็นการกู้ระเบิดในเขตชุมชนที่มีความเสี่ยงและอันตรายแก่คนบริเวณนั้นเป็นอย่างมาก ด้วยประสบการณ์ที่สะสมมา สามารถกู้ระเบิดได้สำเร็จ และตั้งใจจะอยู่ช่วยเหลือคนในพื้นที่ต่อไป แม้จะไม่ใช่บ้านเกิดก็ตาม

        “หน่วย EOD จังหวัดนราธิวาส รวมถึงจังหวัดอื่นชายแดนภาคใต้ ไม่มีวันทิ้งประชาชนแน่นอน ผมไม่ได้ทำดีเพื่อใคร แต่จะใช้ใจทำดีทุกวัน ฝากถึงทุกคนให้ที่ทำความดีโดยไม่เดือดร้อนคนอื่น และมีความสุขในการทำสิ่งนั้น การลงมือทำโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนจะทำให้เราสบายใจ วันนี้ผมภูมิใจมากที่ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ เหมือนได้รับกำลังใจจากสังคม เพราะการทำงานของผมมีความเสี่ยง ไม่มีใครคาดเดาเหตุการณ์ในอนาคตได้ มีเพียงสติ ความรู้ ประสบการณ์ และความตั้งใจในการทำงานเท่านั้น”

          มหาวิทยาลัยรามคำแหง เชิดชูการทำความดีของทุกคน และพร้อมยกย่องการเสียสละและอุทิศตนเพื่อความสงบสุขของประชาชนในพื้นที่ของนายตำรวจ EOD ทั้ง 3 นาย ให้เป็นตัวอย่างและแรงบันดาลใจของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในการทำความดีเพื่อสังคมต่อไป