ปูแสมในบ่อกุ้งร้าง
ในยุคที่การเลี้ยงกุ้งเฟื่องฟู มีการขุดบ่อกันมากมายเพื่อเลี้ยงกุ้ง แต่พอถึงช่วงที่ราคาตกอย่างมาก และสู้ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไม่ไหวก็เลยทำให้บ่อกุ้งเหล่านี้กลายเป็นบ่อร้าง และใช้ทำประโยชน์อื่นไม่ได้ ดังนั้นจึงมีความพยายามหาทางใช้ประโยชน์จากบ่อกุ้งเหล่านี้ เช่
บ่อกุ้งร้างที่อยู่ในป่าชายเลนที่เคยถูกบุกรุกโดยนายทุนเพื่อเลี้ยงกุ้งช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา มีอยู่ไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นไร่ ดังนั้นหากนำมาใช้ในการเลี้ยงปูแสมก็จะได้ปริมาณปูแสมที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ตอบสนองความต้องการของตลาดได้ และที่สำคัญคือเนื่องจากเป็นปูเลี้ยงดังนั้นเรื่องของคุณภาพและความสะอาดจึงดีกว่าที่จับจากธรรมชาติ
ดร.บรรจง เทียนส่งรัศมี เขียนไว้ในหนังสือเรื่องปูแสม เกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงปูแสมในบ่อกุ้งค่อนข้างละเอียด ทั้งในเรื่องของบ่อที่เหมาะสม การเพาะพันธุ์ การให้อาหาร รวมทั้งผลผลิตที่ได้ หากจะนำมาเล่าต่อคร่าวๆ ก็คือ ถ้ามีบ่อประมาณ 1 ไร่ ก็จัดหาแม่ปูมาประมาณ 30 ตัวต่อรุ่น เมื่อเลี้ยงไปประมาณ 45 วันก็จะได้ลูกปูแสมขนาดประมาณ 2 เซนติเมตร ประมาณ 2 แสนตัว
ส่วนอาหารที่ใช้ก็มีทั้งพืชและเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นใบไม้เน่าเปื่อยผุพัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งใบไม้จากชายเลนอย่าง แสม โกงกาง ไปจนถึงซากสัตว์ที่เปื่อยเน่า หรือแม้แต่อาหารเม็ดที่ใช้เลี้ยงกุ้งหรือปลาดุก ก็สามารถนำมาเลี้ยงปูแสมได้เหมือนกัน หากไม่ต้องการเสียค่าใช้จ่ายสูงสำหรับอาหารสำเร็จรูป ก็สามารถผสมอาหารขึ้นมาใช้เองได้เช่นกัน
มีการประเมินกันว่ารายได้จากการเลี้ยงปูแสมในบ่อกุ้งร้าง 1 ไร่ จะตกประมาณ 4 หมื่นบาท และเมื่อหักค่าใช้จ่ายทั่วไปแล้วจะเหลือประมาณ 36,900 บาท ซึ่งก็นับว่าสูงมาก ปกติปูแสมสามารถนำมาเลี้ยงได้ตลอดปี แต่การเลี้ยงในแต่ละรุ่นใช้เวลาเพียง 8 เดือนเท่านั้น โดยเริ่มจากการปล่อยแม่ปูลงบ่อประมาณ 45 วัน ก็จะได้ลูกปูขนาด 2 เซนติเมตร ประมาณ 1.6 แสนตัว เลี้ยงด้วยปลาเป็ด ผสมรำข้าวและจุลินทรีย์เป็นอาหารเสริม
หลังจากนั้นก็ทยอยจับปูขึ้นมาขายได้โดยเลือกขนาดประมาณ 20-30 ตัวต่อกิโลกรัม โดยปูที่เลี้ยงนั้นมีอัตราการรอดตายประมาณ 15% จากลูกปูทั้งหมดในบ่อ ก็เท่ากับว่าลูกปูที่ปล่อย 1.6 แสนตัว จะเหลือประมาณ 2.4 หมื่นตัว หรือประมาณ 800 กิโลกรัม ขายได้กิโลกรัมละ 50 บาท นอกจากนี้ในบ่อเลี้ยงปูก็ยังสามารถเลี้ยงปลา หรือปูทะเล ให้อยู่ร่วมกันได้อีก ก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากของแถมเหล่านี้พอประมาณ ถึงแม้รายได้จากการเลี้ยงปูแสมในบ่อแบบนี้จะสู้การเลี้ยงกุ้งไม่ได้ แต่เมื่อธุรกิจกุ้งไม่สามารถดำเนินได้ต่อไป การใช้ประโยชน์จากที่รกร้างเหล่านี้ให้เกิดรายได้ก็เป็นทางเลือกที่น่าทำเช่นกัน
พูดถึงปูแสมที่นำมาขายไปทำปูเค็มอย่างที่คุ้นเคยกันแล้ว ยังมีอีกช่องทางหนึ่งในการเพิ่มมูลค่า ก็คือการทำปูแสมนิ่ม เพราะอย่างที่รู้ว่าปูแสมจริงๆ แล้วแทบหาเนื้อไม่ค่อยได้ ดังนั้นถ้านำมาทำปูนิ่มแล้วกินได้ทั้งตัว ก็น่าจะเป็นวิธีการเพิ่มมูลค่าที่น่าสนใจเช่นกัน
มีข้อสังเกตคือ การทำปูแสมนิ่มยังง่ายกว่าการทำจากปูม้าหรือปูทะเล ซึ่งวิธีการทำปูแสมนิ่มก็มีเขียนไว้ค่อนข้างละเอียด โดย ดร.บรรจง หากมีโอกาสอาจนำมาเล่าสู่กันฟังในคราวต่อๆ ไปครับ
รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ