ไลฟ์สไตล์

 นักวิจัยมข.ผลิตแผ่นแปะ"ว่านชักมดลูก"ช่วยหน้าเด้ง

นักวิจัยมข.ผลิตแผ่นแปะ"ว่านชักมดลูก"ช่วยหน้าเด้ง

27 เม.ย. 2561

นักวิจัยมข.นำว่านชักมดลูกพืชสมุนไพร มาผลิตเป็นแผ่นแปะหน้า เพิ่มฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้หน้าเด้ง เตรียมต่อยอดเชิงพาณิชย์ผลิตจำหน่าย มุ่งเป้ากลุ่มวัยหมดประจำเดือน

 

         เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2561-ที่อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข.) ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญา มข. ได้จัดงาน IP DAY KKU Alumni หรืองานทรัพย์สินทางปัญญาดี ๆ ของ มข.

 

 

        พร้อมถ่ายทอดในเงื่อนไขพิเศษแก่บรรดาศิษย์เก่าที่จะนำเอางานวิจัยไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ โดยมีนักวิจัย อาจารย์และผู้เชี่ยวชาญ นำผลงานวิจัยทั้งด้าน วิศวกรรมศาสตร์ สุขภาพความงาม อุตสาหกรรมเกษตร อาหารและเครื่องดื่ม ซอฟแวร์คอมพิวเตอร์ และหนังสือมาเผยแพร่เป็นจำนวนกว่า 40 ชิ้นงาน

 

         โดยในกลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม ดร.ศรัญญา ตันติยาสวัสดิกุล คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ทำการศึกษาวิจัยด้วยการนำเอาว่านชักมดลูก ที่คุ้นเคยในการผลิตเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและความงามมาทำเป็นแผ่นแปะเพื่อเพิ่มความงาม เหมาะกับกลุ่มสตรีวัยหมดประจำเดือนและวัยสูงอายุที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง

 

 

     

       เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.ศรัญญา กล่าวว่า ด้วยคุณสมบัติของว่านชักมดลูก ที่มีคุณสมบัติคล้ายฮอร์โมนเพศหญิง ที่ผ่านมามีคนคิดค้นเอามาทำเป็นเครื่องดื่มเพื่อเสริมความงาม แต่พอไปวิจัยพบว่าตัวยาในว่านชักมดลูกนี้ดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้ไม่ค่อยดีนัก เพราะไม่ค่อยละลายน้ำ จึงได้คิดทดลองใหม่ หาวิธีการดูดซึมที่ดีกว่า

 

        "เลยคิดว่าถ้าสามารถดูดซึมทางผิวหนังได้คงจะดีและให้ดูดซึมเข้ากระแสเลือดอีกที แต่พอวิจัยกลับพบว่า ว่านตัวนี้พอแปะตามผิวหนังแล้วไม่ดูดซึมเข้ากระแสเลือด แต่กลับมีการดูดซึมได้ดีที่ชั้นผิวหนังและเก็บกักเอาไว้เยอะ เลยคิดอยากจะทำเป็นเวชสำอาง จนกลายมาเป็นนวัตกรรมใหม่คือแผ่นแปะเสริมฮอร์โมนทำให้ผิวเด้ง"ดร.ศรัญญา  กล่าวด้วยรอยยิ้ม

 

นักวิจัยมข.ผลิตแผ่นแปะ\"ว่านชักมดลูก\"ช่วยหน้าเด้ง

ดร.ศรัญญา  ตันติยาสวัสดิกุล

         ดร.ศรัญญา  กล่าวอีกว่า ในขั้นตอนการทดลอง เราทดลองกับผิวของหูหมู เพราะผิวบริเวณหูของหมูนั้นจะมีลักษณะคล้ายผิวคน พบว่าเมื่อแปะแผ่นแปะลงไปแล้ว มีปริมาณฮอร์โมนสะสมในผิวมากขึ้นตามปริมาณของการแปะ จากนั้นจึงได้คิดพัฒนาเข้าไปสู่คน ด้วยการทดลองกับอาสาสมัครผู้หญิง ด้วยการให้แปะแผ่นนี้ก่อนนอนบริเวณหางตาและหลังมือ ทดลองเป็นเวลา 2 กับ 4 สัปดาห์ พบว่าผิวหนังทั้งสองบริเวณชุ่มชื้นมากและมีความยืดหยุ่นกว่าแต่เดิม รอยเหี่ยวย่นที่เคยมีก็ลดลง และกำลังต่อยอดขยายกลุ่มอาสาสมัครมากยิ่งขึ้น

 

        ดร.ศรัญญา กล่าวอีกว่า สำหรับว่านชักมดลูกมีคุณสมบัติในการกระตุ้นให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน และในตัวของว่านชักมดลูกเองมีฮอร์โมนเอสโตรเจนอยู่ด้วย จึงเหมาะแก่การเอาไปใช้กับกลุ่มผู้สูงอายุหญิง ที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ผิวหนังเสื่อมสภาพ และมีริ้วรอยมาก จึงได้คิดนำเอาตัวนี้มาประยุกต์ใช้ เพราะหากดูในตลาดเวชสำอางประเทศไทยจะมีการนำเอาสารเคมีเข้ามาใช้เป็นจำนวนมาก หากเราสามารถผลิตเวชสำอางจากพืชสมุนไพรในบ้านเรา น่าจะลดต้นทุนและตอบโจทย์เรื่องความปลอดภัยและยั่งยืนได้ดีกว่า

 

       

        เช่นกันกับ ผศ.ดร.นภภัค ใจภักดี จากคณะเภสัชศาสตร์ มข. ที่ได้ทำการวิจัยด้วยการเอาต้นพันซาด ซึ่งเป็นต้นไม้พื้นถิ่นในภาคอีสานมาสกัดทำเป็นเจลแต้มสิว ซึ่งมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย โดยพิสูจน์กับเจลแต้มสิวที่มีอยู่ในท้องตลาดพบว่าเจลแต้มสิวที่สกัดจากต้นลำพันซาดมีคุณภาพดีกว่า

 

      ผศ.ดร.นภภัค กล่าวว่า งานวิจัยที่ทำส่วนใหญ่ เป็นการต่อยอดจากงานวิจัยของอาจารย์ท่านอื่น ๆ ที่เคยวิจัยพบต้นไม้ในอีสานหลายต้นมีสรรพคุณทางยาเสริมในด้านความงาม และพบว่าต้นพันซาดมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระได้มากคือโปรตีนเอคเน่ ที่ยับยั้งการเกิดสิวเลยคิดค้นเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นมา

 

นักวิจัยมข.ผลิตแผ่นแปะ\"ว่านชักมดลูก\"ช่วยหน้าเด้ง

ผศ.ดร.นภภัค ใจภักดี 

       “ในขั้นตอนการวิจัยเป็น ขั้นแรกในการยืนยันฤทธิ์พบว่าสารสกัดมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิวได้ดีมาก และได้ทดลองทำผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่าง ๆ จนกระทั่งมาลงตัวในรูปแบบเจลแต้มสิว และมีการเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์กับผลิตภัณฑ์ในท้องตลาด พบว่าของเรามีฤทธิ์และสรรพคุณรักษาสิวได้ดีกว่า ซึ่งส่วนของต้นพันซาดที่นำมาใช้คือบริเวณกิ่ง ที่นำมาสกัดเป็นยา”ผศ.ดร.นภภัค กล่าว

 

       โดยเมื่อมีการเผยผลการวิจัยออกมา พบว่ามีบริษัทเอกชนหลายแห่งสนใจติดต่อ เพื่อนำไปต่อยอดทำเป็นผลิตภัณฑ์จำหน่ายในท้องตลาด แต่ติดปัญหาเพียงวัตถุดิบคือต้นพันซาด ที่อาจจะหายากแม้จะพบในป่าทั่วไป แต่หากมีความต้องการปริมาณมาก อาจจะทำให้ต้องมีการตัดกิ่งต้นพันซาดมากขึ้น จึงทำให้ขณะนี้กำลังหาวิธีการแก้ปัญหาเรื่องนี้อยู่ ก่อนจะผลิตออกสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์

---***---