ไลฟ์สไตล์

Precision Medicine การแพทย์เฉพาะเจาะจง

Precision Medicine การแพทย์เฉพาะเจาะจง

26 มิ.ย. 2561

39 ปี สมิติเวช เดินหน้าใช้นวัตกรรมวินิจฉัยถึงระดับยีน วิเคราะห์โปรแกรมดูแลสุขภาพแบบเฉพาะบุคคล รู้เท่าทันโรคที่จะเกิดในอนาคต

 

             วันที่ 26 มิ.ย. 2561 ที่ รพ.สมิติเวช สุขุมวิท นพ.ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม รพ.สมิติเวช และ รพ.บีเอ็นเอช กล่าวในการแถลงข่าวสมิติเวช ครบรอบ 39 ปี ภายใต้แนวคิด "เราไม่อยากให้ใครป่วย" และ SCB & Samitivej : The First Prestige Health & Wealth Experienceว่า สมิติเวชในปีที่ 39 อยากให้ทุกคนมีสุขภาพดี ซึ่งสมิติเวชได้พัฒนานวัตกรรมที่สามารถค้นหาโรคในตัวคุณและเตรียมวางแผนก่อนเกิดโรคในอนาคต โดยมีการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ อาทิ Precision Medicine ที่เน้นการดูแลวินิจฉัยถึงระดับพันธุกรรม(ยีน) สามารถรู้เท่าทันโรคที่จะเกิดในอนาคตเฉพาะบุคคล มีโปรแกรม divine ซึ่งเป็นนวัตกรรมในการยกระดับสุขภาพ เป็นโปรแกรมเฉพาะบุคคล เพื่อการดูแลแบบรู้เท่าทันโรค ด้วยการนำเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ล้ำหน้าอย่าง การแพทย์เฉพาะเจาะจง (Precision Medicine) ตรวจลึกถึงระดับยีน และนำมาวิเคราะห์เป็นโปรแกรมการดูแลในแบบเฉพาะบุคคล (Personal Health Mapping) โดยมีทีมแพทย์เป็นเทรนเนอร์ ด้านสุขภาพอย่างใกล้ชิด

 

 

 

             ในโปรแกรมนี้สามารถตรวจพันธุกรรมเพื่อหาความเสี่ยงต่อโรคร้ายต่างๆมากมาย รวมถึง เทโลเมียร์หาความยาวของปลายโครโมโซม ที่จะรู้ถึงอายุเซลล์ภายในร่างกายอย่างแท้จริง และความสัมพันธ์กับการเกิดโรคร้ายต่างๆ เพื่อการดูแลก่อนเกิดโรคร้ายแรง อีกครั้งได้พัฒนาซอฟต์แวร์ Total Health solution โดยจะมีโปรแกรมแนะนำการตรวจเชิงป้องกันที่เหมาะสมในแต่ละช่วงอายุ เป็นการเตรียมวางแผนไม่ให้เกิดโรค

 

 

Precision Medicine การแพทย์เฉพาะเจาะจง

 

 

             "การที่สามารถตรวจลงลึกในระดับยีน ทำให้รู้โอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคนั้นๆในเฉพาะบุคคลนั้น ซึ่งหากพบว่ามีความเสี่ยงต่อโรคใด จะได้วางแผนเพื่อสกัดการป่วยหรือบรรเทาการป่วยให้เบาบางลง อย่างเช่น มะเร็งปอด หากตรวจพบว่าคนๆนั้นมีโอกาสป่วย ก็จะมีการวางแผนการดูแลก่อนป่วย เช่น ฝึกให้ผู้ป่วยหายใจลึก หรือวางแผนออกกำลังด้วยการว่ายน้ำ เพื่อเพิ่มออกซิเจนให้ร่างกาย เพราะออกซิเจนจะเข้าไปช่วยทำลายมะเร็ง เป็นต้น ก็เป็นการวางแผนสกัดไม่ให้คนนั้นป่วยด้วยโรคที่เสี่ยง" นพ.ชัยรัตน์ กล่าว

 

 

             นพ.ชัยรัตน์ กล่าวอีกว่า สมิติเวชยังมีการร่วมมือทางการแพทย์กับต่างประเทศ อาทิ โรงพยาบาลซาโน ประเทศญี่ปุ่น ในการใช้เทคโนโลยีค้นหาและล่วงรู้การเกิดโรคมะเร็งลำไส้และกระเพาะอาหารได้ล่วงหน้า และการร่วมมือกับ Oregon Health & Science University (OHSU) และ Doernbecher Children's Hospital ในสหรัฐอเมริกา เข้ามาแลกเปลี่ยนเทคนิคการดูแลผู้ป่วยเด็ก ทั้งด้านการรักษาและการป้องกันการเกิดโรค ตั้งแต่ทารกแรกเกิดจนถึงเด็กโต เพื่อให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต นอกจากนี้ ร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ ผ่านดิจิทัล เวนเจอร์สพัฒนาแอพพลิเคชั่น สมิติเวช พลัส บริการระบบดิจิทัลที่เชื่อมโยง ข้อมูลการให้บริการ ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการรอคิว เพิ่มความสะดวกสบายในการเข้าถึงโรงพยาบาล และการเข้ารับบริการต่างๆภายในโรงพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว และมีห้องรับรองระดับพรีเมียมในสวน เดอะ เฟิร์ส เลานจ์ ให้บริการเรื่องของสุขภาพแบบ one stop service

 

 

Precision Medicine การแพทย์เฉพาะเจาะจง

 

 

 

             พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล รองผู้อำนวยการ รพ.สมิติเวช สุขุมวิท กล่าวว่า รพ.สมิติเวช นำการแพทย์แบบเฉพาะเจาะจงมาดูแลคนไข้ อาทิ ทางสูตินรีเวช ในการวางแผนตั้งครรภ์และการป้องกันภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ โดยสามารถตรวจหายีนที่จะเสี่ยงทำให้เกิดโรคทางพันธุกรรมได้ 200-300 โรค และมะเร็งวิทยา ในการรักษามะเร็งแบบตรงจุด การป้องกันดูแลสุขภาพแบบองค์รวมทั้งบุคคลและครอบครัว และจะมีเพิ่มเติมในส่วนสาขาการแพทย์อื่นๆอีกในอนาคต

 

 

Precision Medicine การแพทย์เฉพาะเจาะจง

 

 

             ด้านนายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ความร่วมมือกับกลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวชในครั้งนี้ ถือเป็นการพัฒนาระบบนิเวศ หรือ Ecosystem ในโรงพยาบาลร่วมกัน โดยมีดิจิทัลเทคโนโลยี และ Big Data เป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญผ่าน 2 ดิจิทัลโซลูชั่น ได้แก่ สมิติเวช พลัส แอพพลิเคชัน ซึ่งมีจุดเด่นที่เป็นระบบแรกของโลกที่เชื่อมกับระบบคิว ทำให้ผู้ป่วยสามารถดูคิวพบแพทย์ได้แบบ Real Time และขั้นตอนการรับบริการตลอดกระบวนการตั้งแต่ลงทะเบียนจนกระทั่งรับยา และชำระเงิน และสมิติเวช ฟาสต์เพย์ ระบบการชำระเงินที่ให้ความสะดวกและรวดเร็วในการจ่ายเงิน เนื่องจากผู้ใช้บริการสามารถดำเนินการชำระเงินได้ด้วยตัวเองง่ายๆโดยการสแกน QR Code ที่ Fast Pay Station ไม่ต้องรอคิวจ่ายเงินที่หน้าเคาน์เตอร์ นับเป็นหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์สำหรับแวดวงโรงพยาบาลไทย ที่จะเห็นการประสานกันระหว่างเรื่องของสุขภาพ การเงิน และดิจิทัลเทคโนโลยีอย่างลงตัว ที่จะช่วยยกระดับการให้บริการด้านสุขภาพของผู้ใช้บริการ