ไลฟ์สไตล์

7 กลุ่มเสี่ยงไวรัสตับอักเสบบี-ซีสธ.เปิดคัดกรองฟรีรพ.83 แห่ง 

7 กลุ่มเสี่ยงไวรัสตับอักเสบบี-ซีสธ.เปิดคัดกรองฟรีรพ.83 แห่ง 

24 ก.ค. 2561

7 กลุ่มเสี่ยงไวรัสตับอักเสบบี-ซีสธ.เปิดคัดกรองฟรีรพ.83 แห่ง  : รายงาน โดย...  พวงชมพู ประเสริฐ / [email protected] 

 

          คาดไทยมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี-ซีราว 2.5-3.7 ล้านคน หลุดจากระบบรักษากว่า 1 ล้านคน เสี่ยงเกิดมะเร็งตับ หากพบเร็วการรักษาได้ผลมากกว่า 95% เปิดตรวจคัดกรองฟรีในรพ.รัฐ 83 แห่ง ระหว่าง 31 ก.ค.-3 ส.ค.นี้ โดยเฉพาะ 7 กลุ่มเสี่ยง

          นพ.สมบัติ แทนประเสริฐสุข นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวสัปดาห์รณรงค์ตับอักเสบโลก “ตรวจเร็ว รักษาได้ ห่างไกลมะเร็งตับ” ว่า โรคไวรัสตับอักเสบ เป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคตับแข็งและมะเร็งตับ ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบบ่อยในคนไทย โดยทั่วไปไวรัสตับอักเสบมี 5 ชนิด ได้แก่ ชนิด เอ บี ซี ดี และอี แต่ที่เป็นปัญหาสาธารณสุขในไทย คือ ไวรัสตับอักเสบบีและซี ซึ่งคาดว่าในไทยจะมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง ประมาณ 2.2-3 ล้านราย ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังประมาณ 3-7 แสนราย ที่ผ่านมา สธ.ได้ดำเนินนโยบายเพื่อป้องกันควบคุมโรคไวรัสตับอักเสบมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดอัตราการติดเชื้อ ลดการป่วยตาย และลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งตับผ่านมาตรการต่างๆ อย่างบูรณาการ

          “เชิญชวนประชาชนเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี ได้ฟรี ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม ถึง 3 สิงหาคม 2561 ที่โรงพยาบาลในสังกัดของสธ.ที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 83 แห่ง ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422” นพ.สมบัติ กล่าว

 

7 กลุ่มเสี่ยงไวรัสตับอักเสบบี-ซีสธ.เปิดคัดกรองฟรีรพ.83 แห่ง 

 

          รศ.พญ.วัฒนา สุขีไพศาลเจริญ นายกสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ในประเทศไทยมีอุบัติการณ์การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีประมาณร้อยละ 5-8 และไวรัสตับอักเสบซีประมาณร้อยละ 1-2 พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน)และภาคเหนือ จากการทำงานที่ผ่านมาพบว่า ประเทศไทยยังมีผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบที่อยู่นอกระบบอีกกว่า 1 ล้านคน สาเหตุเพราะกลุ่มเหล่านี้ไม่แสดงอาการ ก็จะไม่รู้ตัว ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก หรือฮู ได้กำหนดนโยบายให้ทุกประเทศในโลกร่วมมือกันกำจัดไวรัสให้หมดไปในปี 2573 จึงจำเป็นต้องจัดระบบค้นหาด้วยการตรวจคัดกรองเพิ่มขึ้น เนื่องจากไวรัสตับอักเสบเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งตับได้ ซึ่งปัจจุบันอัตราตายสูงสุดของประเทศไทย คือ มะเร็ง ในเพศชายมะเร็งตับพบเป็นอันดับที่ 1 เพศหญิงพบเป็นอันดับที่ 3 แต่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบมะเร็งตับมากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ของทั้งหญิงและชาย

          “ในอดีตผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งตับจะมีอัตราการเสียชีวิตในช่วง 6 เดือน-1 ปี เฉลี่ยที่ 3 เดือน โดยจะเจอในระยะ 3-4 ถึง 50% แต่ปัจจุบันเริ่มมีการตรวจคัดกรองมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบมากกว่า 2% จะถือว่าการตรวจคัดกรองมีความคุ้มค่า ทำให้ตรวจเจอผู้ป่วยมะเร็งตับในระยะเริ่มต้น 40-50% ทำให้การรักษาได้ผลมากขึ้น ทั้งการผ่าตัดตับ เปลี่ยนตับ หรือจี้ตับ อัตราการรอดชีวิตใน 2 ปีมีมากกว่า 80% และผลการรักษาได้ผลมากกว่า 95% หมายความว่าหลังเสร็จสิ้นการรักษา 12 สัปดาห์หรือ 3 เดือนจะตรวจไม่พบไวรัสตับอักเสบมากกว่า 95% และเมื่อติดตามต่อไปจะพบไวรัสกลับคืนมาไม่เกิน 10% โดยมาจากการติดเชื้อใหม่ ทั้งนี้ การรักษาไวรัสตับอักเสบบีและซีได้สิทธิรักษาฟรีในทุกระบบประกันสุขภาพภาครัฐ” รศ.พญ.วัฒนา กล่าว

 

7 กลุ่มเสี่ยงไวรัสตับอักเสบบี-ซีสธ.เปิดคัดกรองฟรีรพ.83 แห่ง 

 


          รศ.พญ.วัฒนา กล่าวอีกว่า หลายคนไม่เคยรู้ตัวเลยว่าตนเองมีปัจจัยเสี่ยงอยู่ในร่างกาย จึงจำเป็นที่ต้องคัดกรองไวรัสตับอักเสบบีและซี โดยเฉพาะประชากรกลุ่มเสี่ยง ประกอบด้วย 1.คนที่ติดเชื้ออยู่แล้ว ที่มีญาติหรือคนในครอบครัวที่ใกล้ชิด สามารถบอกเขาให้มาตรวจเชื้อได้ 2.กลุ่มที่ได้รับเลือด ซึ่งมาจากการรับบริการก่อนปี 2535 เนื่องจากสภากาชาดไทยมีการจัดระบบการตรวจเลือดหาเชื้อไวรัสตับอักเสบตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นไป 3.กลุ่มที่มีการสัก เจาะที่อาจมีการปนเปื้อนเลือดก็ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง 4.กลุ่มผู้ที่ใช้สารเสพติด 5.คนที่อยู่ในคุก 6.กลุ่มที่มีประวัติครอบครัวป่วยโรคมะเร็งตับ หรือตับอักเสบหรือมีภาวะตัวเหลือง และ 7.คนตั้งครรภ์ก็ต้องตรวจด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มที่ไปตรวจสุขภาพแล้วพบตับอักเสบ ต้องรีบรักษา

          ด้าน ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบบริการปฐมภูมิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2561 สปสช.ได้กำหนดสิทธิประโยชน์และดำเนินการจัดหายาเพิ่มเติม สำหรับให้บริการผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพิ่มขึ้นอีก 2 สูตร คือ 1.ยาเม็ดรับประทานโซฟอสบูเวียร์(Sofosbuvir) 400 มิลลิกรัม(มก.) เพื่อใช้ร่วมกับยาฉีด เพกอินเตอร์เฟอรอน(Peginterferon) และยาเม็ดรับประทานไรบาวิริน (Ribavirin) สำหรับการรักษาการติดเชื้อตับอักเสบซีเรื้อรังสายพันธุ์ที่ 3 และ 2.ยาเม็ดสูตรผสมโซฟอสบูเวียร์ 400 มก. และเลดิพาสเวียร์(Ledipasvir) 90 มก. สำหรับการรักษาการติดเชื้อตับอักเสบซีเรื้อรังสายพันธุ์อื่นทั้งที่มีหรือไม่มีภาวะตับแข็งร่วมด้วย

          “สูตรยาที่เพิ่มมานี้ จะสามารถลดระยะเวลาในการรักษาลง จาก 24 สัปดาห์ เป็น 12 สัปดาห์ และมีประสิทธิผลการรักษาที่ดีขึ้นกว่าการใช้ยาฉีดเพกอินเตอร์เฟอรอน และยาไรบาวิริน สูตรเดิมอย่างเดียว ทั้งนี้ สปสช.ได้ร่วมมือกับเครือข่ายหน่วยบริการโรงพยาบาลราชวิถีและองค์การเภสัชกรรม ดำเนินการจัดหาและกระจายให้แก่หน่วยบริการตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 เป็นต้นมา คิดเป็นมูลค่ายาเม็ดทั้งสิ้น 66,360,000 บาท ซึ่งเป็นการจัดหายาระดับประเทศ ทำให้มีอำนาจในการต่อรองและได้ยาในราคาที่ถูกลงกว่ากระจายให้หน่วยบริการจัดหาเอง” ภก.คณิตศักดิ์ กล่าว

 

7 กลุ่มเสี่ยงไวรัสตับอักเสบบี-ซีสธ.เปิดคัดกรองฟรีรพ.83 แห่ง 

 

          อนึ่ง ข้อมูลกรมควบคุมโรค ระบุว่าการติดต่อของไวรัสตับอักเสบบีและซี ผู้ป่วยอาจติดเชื้อผ่านการสัมผัสเลือด สารคัดหลั่ง และเพศสัมพันธ์ การใช้เข็มร่วมกัน นอกจากนี้ในอดีตโรคไวรัสตับอักเสบบี ยังสามารถแพร่จากแม่สู่ลูกได้มากอีกด้วย โดยผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีและซี จะมีอาการไวรัสตับอักเสบเฉียบพลัน มีไข้ เบื่ออาหาร ปวดจุกชายโครงขวา ตัวเหลือง ตาเหลือง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ซึ่งพาหะไวรัสตับอักเสบ ถึงไม่มีอาการแต่สามารถแพร่เชื้อได้

          83 รพ.ตรวจคัดกรองฟรี 
          ภาคเหนือ 1.รพ.นครพิงค์ 2.รพ.แพร่ 3.รพ.ศรีสังวาลย์ 4.รพ.ลำพูน 5.รพ.เชียงคำ 6.รพ.น่าน 7.รพ.ลำปาง 8.รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ 9.รพ.อุตรดิตถ์ 10.รพ.สุโขทัย 11.รพ.ศรีสังวรสุโขทัย 12.รพ.เพชรบูรณ์ 13.รพ.พุทธชินราช 14.รพ.แม่สอด
               
          ภาคกลาง 15.รพ.ชัยนาทนเรนทร 16.รพ.อุทัยธานี 17.รพ.พิจิตร 18.รพ.กำแพงเพชร 19.รพ.สวรรค์ประชารักษ์ 20.รพ.สิงห์บุรี 21.รพ.อ่างทอง 22.รพ.นครนายก 23.รพ.พระนารายณ์มหาราช 24.รพ.สระบุรี 25.รพ.พระนครศรีอยุธยา 26.รพ.พระนั่งเกล้า 27.สถาบันบำราศนราดูร 28.รพ.ปทุมธานี 29.รพ.สมเด็จพระพุทธเลิศหล้า 30.รพ.พระจอมเกล้า 31.รพ.ประจวบคีรีขันธ์ 32.รพ.เจ้าพระยายมราช 33.รพ.นครปฐม 34.รพ.มะการักษ์ 35.รพ.ราชบุรี 36.รพ.สมุทรสาคร

 

7 กลุ่มเสี่ยงไวรัสตับอักเสบบี-ซีสธ.เปิดคัดกรองฟรีรพ.83 แห่ง 

 

          ภาคตะวันออก 37.รพ.ตราด 38.รพ.สมเด็จพระยุพราชสระแก้ว 39.รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร 40.รพ.พระปกเกล้า 41.รพ.พุทธโสธร 42.รพ.ระยอง 43.รพ.สมุทรปราการ 44.รพ.ชลบุรี 

          ภาคอีสาน 45.รพ.ขอนแก่น 46.รพ.มหาสารคาม 47.รพ.กาฬสินธุ์ 48.รพ.ร้อยเอ็ด 49.รพ.บึงกาฬ 50.หนองบัวลำภู 51.รพ.หนองคาย 52.รพ.สมเด็จพระยุพราชธาตุพนม 53.รพ.เลย 54.รพ.สมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดิน 55.รพ.กุมภวาปี 56.รพ.ชัยภูมิ 57.รพ.สุรินทร์ 58.รพ.พุทไธสง 59.รพ.ปากช่องนานา 60.รพ.อำนาจเจริญ 61.รพ.มุกดาหาร 62.รพ.ยโสธร 63.รพ.ศรีสะเกษ 64.รพ.สรรพสิทธิประสงค์ 65.คลินิกรักปลอดภัย (สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 อุบลราชธานี)  
  
          ภาคใต้  66.รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช 67.รพ.ระนอง 68.รพ.พังงา 69.รพ.ชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ 70.รพ.กระบี่ 71.รพ.วชิระภูเก็ต 72.รพ.สุราษฎร์ธานี 73.รพ.สตูล 74.รพ.พัทลุง 75.รพ.ตรัง 76.รพ.ยะลา 77.รพ.ปัตตานี 78.รพ.แว้ง 79.รพ.สุไหงโก-ลก 80.รพ.นราธิวาสราชนครินทร์ 81.รพ.สงขลา 82.รพ.จะนะ กรุงเทพฯ 83.รพ.เวชการุณย์รัศมิ์