
ตลาดเกมไทยโตต่อเนื่องเร่งปั้นคนป้อน"อีสปอร์ต"
ตลาดเกมไทยโตต่อเนื่องเร่งปั้นคนป้อน"อีสปอร์ต" : รายงาน โดย... ชุลีพร อร่ามเนตร [email protected]
มีการประเมินว่าภายในปี 2020 อุตสาหกรรมเกมในส่วนของอีสปอร์ต(eSport) เพียงอย่างเดียวจะมีมูลค่าสูงถึง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 46.7 ล้านล้านบาท ขณะที่มูลค่าการเติบโตของตลาดเกมในประเทศไทยปี 2559 อยู่ที่ 8.7 พันล้านบาท และเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2560 ที่ 10.3 พันล้านบาท ทำให้ประเทศไทยมีความต้องการบุคลากรที่เข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจเกม ธุรกิจอีสปอร์ต ผลิตเกม นักสร้างเกม หรืออาชีพที่เกี่ยวข้องกับเกมจำนวนมาก
นายชัชชัย หวังวิวัฒนา หัวหน้าหลักสูตรธุรกิจเกมและอีสปอร์ต คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (มกค.) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการบุคลากรที่เข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจเกม ธุรกิจอีสปอร์ต ผลิตเกม นักสร้างเกม หรืออาชีพที่เกี่ยวข้องกับเกม อย่าง นักกราฟฟิก นักพัฒนาแอพพลิเคชั่นเกมในอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ มกค.จึงได้ร่วมมือกับบริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท นีโอลูชั่น เทคโนโลยี คอร์ปอเรชั่น จำกัด พัฒนาหลักสูตรธุรกิจเกมและ eSports ซึ่งเป็นหลักสูตรแรกในประเทศไทย เน้นการเรียนบริหารธุรกิจด้านเกมโดยเฉพาะ เป็นการสร้างบุคลากรพร้อมทั้งมาตรฐานและคุณภาพ
“หลักสูตรธุรกิจเกมและ eSports ผลิตนักธุรกิจเกมและนักธุรกิจอีสปอร์ต ไม่ใช่ผลิตนักสร้างเกม การจัดการเรียนการสอน ทั้ง 129 หลักสูตร มุ่งผลิตนักศึกษามีศักยภาพเริ่มธุรกิจดิจิทัลยุคใหม่ที่มีความคล่องตัว ยืดหยุ่นสูง มีความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นผู้นำ แก้ปัญหาเฉพาะหน้า และสามารถปรับตัวให้เข้ากับโลกดิจิทัล รองรับอาชีพใหม่ เน้นปฏิบัติจริง เรียนรู้ในสถานประกอบการตั้งแต่ชั้นปีที่ 2 โดยต้องเริ่มธุรกิจตั้งแต่อยู่ในหลักสูตร แต่นักศึกษาคนใดไม่อยากทำธุรกิจ เข้าสู่บริษัท สถานประกอบการธุรกิจเกมสามารถดำเนินการได้ ซึ่งมหาวิทยาลัยมีเครือข่ายกับบริษัทเกม ธุรกิจเกมที่เอื้อต่อการทำงานของบัณฑิต” นายชัชชัย กล่าว
ม.รังสิตปั้นคนเกมครบวงจร
นายเชฏฐเนติ ศรีสอ้าน คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศ ม.รังสิต กล่าวว่า การเปิดหลักสูตรของ ม.รังสิต จะมองไปถึงการผลิตบุคลากรเพื่อรองรับอุตสาหกรรมต่างๆ ในระดับโลก ซึ่งอุตสาหกรรมเกมเป็นอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง ทางวิทยาลัยจึงได้เปิดสาขาคอมพิวเตอร์เกมมัลติมีเดีย เพื่อผลิตบุคลากรรองรับตลาดด้านนี้ โดยเปิดรับประมาณ 100 คน เด็กที่เข้ามาเรียนส่วนใหญ่มีความชื่นชอบเกม อยากสร้างตัวละคร สร้างเกมของตนเอง กระบวนการเรียนการสอนเน้นให้เด็กมีความรู้ ความสามารถ พัฒนาเกมคอมพิวเตอร์ได้ สามารถไปประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมได้จริง
ทั้งนี้ เป็นการผลิตผู้สร้างเกม ไม่ใช่ผู้เสพเกม ดังนั้น รายวิชาต่างๆ ที่นักศึกษาจะได้เรียน เป็นการสร้างผู้ผลิตเกม นักพากย์เกม หรือเป็นเจ้าของบริษัท ผู้ประกอบการที่อยากทำเกม คิดเกม ผลิตเกมเอง โดยเน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง การจัดการเรียนการสอนจึงไม่ได้จำกัดเฉพาะในห้องเรียน แต่นักศึกษาจะต้องร่วมมือกับสถานประกอบการ บริษัทเกมต่างๆ ในการทำผลงานหรือไปฝึกปฏิบัติจริง เพื่อจะได้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเกม
เนื่องจากแต่ละเกมมีความแตกต่างกัน นักศึกษาต้องไปเรียนรู้การคิด การสร้างเกม และผลิตเกมให้ได้ อีกทั้ง ส่งเสริมให้นักศึกษาเข้าร่วมการแข่งขันเกี่ยวกับเกมต่างๆ เปิดโอกาสให้เขาได้พัฒนาทักษะและเห็นมุมมอง มีเครือข่ายของกลุ่มนักพัฒนาเกม นักสร้างเกมด้วยกัน ซึ่งนักศึกษาที่จบจากสาขาดังกล่าว สามารถไปประกอบอาชีพ นักพัฒนาเกม, นักวิเคราะห์ ออกแบบ และพัฒนาเกม, นักพัฒนาสื่อดิจิทัลมัลติมีเดีย, นักคอมพิวเตอร์กราฟฟิก, ผู้ประกอบการด้านคอมพิวเตอร์เกมมัลติมีเดีย มีอาชีพหลากหลายให้ได้เลือกทำ หรือเป็นผู้ประกอบการ
“อยากทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง ให้มุมมองเกี่ยวกับเกมใหม่ อย่าไปยึดติดภาพลบของเกม เพราะขณะนี้โลกเปลี่ยนไป อุตสาหกรรมเกมมีขนาดใหญ่มากกว่าในประเทศไทย หากมีลูกหลานที่ชอบการเล่นเกม และเขาอยากเป็นผู้ผลิตเกม อยากให้ส่งเสริมเป็นผู้สร้างเกม เนื่องจากเด็กไทยมีความเก่ง ความสามารถ เขาจะทำได้ดีหากได้ทำในสิ่งที่ชอบและรัก และอุตสาหกรรมเกมกำลังต้องการบุคลากรด้านนี้ค่อนข้างมาก” นายเชฏฐเนติ กล่าว
ม.ศรีปทุมสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์
ผศ.ดร.กมล จิราพงษ์ คณบดีคณะดิจิทัลมีเดีย ม.ศรีปทุม กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีด้านดิจิทัลมาผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์และก่อให้เกิดมูลค่าในเชิงพาณิชย์ เห็นได้ชัดจากอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ด้านดิจิทัลคอนเทนต์ เช่น ภาพยนตร์ ภาพยนตร์โฆษณา ภาพยนตร์การ์ตูน เกมออนไลน์ วิดีโอเกม เกมมือถือ และสื่อผสม (Multimedia) ต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีความต้องการผลงานดิจิทัลในรูปแบบเหล่านี้เป็นจำนวนมากจากการบริโภคสื่อด้านดิจิทัลทั้งในและต่างประเทศ
“มหาวิทยาลัยศรีปทุม มีการเตรียมการรองรับสังคมยุคดิจิทัลมากว่า 10 ปีแล้ว โดยเริ่มแรกเปิดสอนหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดิจิทัลอาร์ตส์ เมื่อปีการศึกษา 2547 และต่อมาได้ตั้งเป็นคณะดิจิทัลมีเดีย เปิดสอนทั้งหมด 4 สาขา คือดิจิทัลอาร์ตส์, คอมพิวเตอร์แอนิเมชันและวิชวลเอฟเฟกต์, การออกแบบอินเทอร์แอ็กทีฟและเกม, การออกแบบกราฟฟิก และปี 2551 ได้เปิดสอนสาขาเกมและแอนิเมชั่นเพิ่มอีกหนึ่งสาขาเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ด้านดิจิทัลคอนเทนต์ที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง” คณบดีคณะดิจิทัลมีเดีย ม.ศรีปทุม กล่าว
ผศ.ดร.กมล กล่าวว่าปัจจุบันคณะดิจิทัลมีเดีย ม.ศรีปทุม มีนักศึกษาปี 1 ประมาณ 550 คน ถือได้ว่าจะเป็นกำลังสำคัญในอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ด้านดิจิทัลคอนเทนต์ในโลกอนาคตได้เป็นอย่างดี เพราะหลังจากที่นักศึกษาเรียนจบแล้วคณะจะเป็นตัวกลางในการประสานกับภาคธุรกิจไม่ว่าจะเป็นบริษัท การีนาออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือบริษัทอื่นๆ จากต่างประเทศในการจับคู่ให้นักศึกษาได้ทำงานร่วมกันในศาสตร์ที่ถนัด ที่ผ่านมามีทั้งที่ร่วมทุนทำธุรกิจ หรือรวมกลุ่มกันตั้งบริษัทขึ้นมาทำงานในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกมีความต้องการบุคลากรเกี่ยวกับดิจิทัลคอนเทนต์มาก นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาไปแล้วมีอาชีพหลากหลายที่เกี่ยวเนื่องจากอุตสาหกรรมดังกล่าวให้ได้เลือกทำ ไม่ว่าจะเป็นนักพัฒนาเกม, นักวิเคราะห์ ออกแบบและพัฒนาเกม, นักพัฒนาสื่อดิจิทัลมัลติมีเดีย, นักคอมพิวเตอร์กราฟฟิก, ผู้ประกอบการด้านคอมพิวเตอร์เกมมัลติมีเดีย มีอาชีพหรือเป็นผู้ประกอบการ เนื่องจากอุตสาหกรรมเกมและสื่อมัลติมีเดียที่กำลังเติบโตนั่นเอง
เพราะนักศึกษาที่มาเรียนที่นี่สามารถนำความรู้ที่ได้จาก สาขาดิจิทัลอาร์ตส์ เกี่ยวกับการออกแบบงานศิลปะ ในรูปแบบของจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพเคลื่อนไหวด้วยสื่อดิจิทัล โดยใช้คอมพิวเตอร์และเครื่องมือในโปรแกรม เช่น การวาดรูปแบบ Digital Paint การออกแบบโมเดล แบบ 3 มิติ (3D Sculpture) การวาดภาพประกอบ (Illustration) และงานศิลปะในเกม ไปประกอบอาชีพได้
รวมทั้งสาขา คอมพิวเตอร์แอนิเมชันและวิชวลเอฟเฟกต์ ที่สามารถสอนศิลปะให้คนที่ไม่มีพื้นฐานการวาดรูปสามารถเรียนขั้นตอนการผลิตแอนิเมชันและวิชวลเอฟเฟกต์ตั้งแต่ต้นจนจบเพื่อนำไปประกอบอาชีพต่อไปได้ในอนาคตเช่นกัน
ส่วนคนที่ชอบสร้างสรรค์เกมใหม่ๆ การแคสติ้ง ออกแบบสร้างสรรค์คอสเพลย์ การจัดการธุรกิจเกม ก็สามารถเรียนสาขาการออกแบบอินเทอร์แอ็กคทีฟและเกมด้วยการเรียนรู้กับแอพพลิเคชั่น(Application) เว็บไซต์(Web Site) อินสตอลเลชัน(Installation) สื่อการเรียนการสอน(e-Learning) ดิจิทัลแม็กกาซีน(Digital Magazine)
รวมถึงการพัฒนาเกมซึ่งจะเรียนรู้การออกแบบเกม(Game Design) การออกแบบวิธีการเล่นเกมและการเขียนโปรแกรม(Game Programming) และการพัฒนาเกมหรือแอพพลิเคชันเพื่อธุรกิจดิจิทัล(Tech Startup) ไปต่อยอดด้าน E-Sports ได้
หรือหากจะทำงานด้าน การออกแบบงานกราฟฟิกสู่การเป็นดีไซเนอร์ในดิจิทัลเอเยนซี่ และกราฟฟิกเฮ้าส์ ก็เลือกสาขาการออกแบบกราฟฟิกที่เน้นสอนเกี่ยวกับการสร้างแบรนด์ การออกแบบเว็บไซต์ ออกแบบแพ็กเกจจิ้ง สร้างสรรค์งานโฆษณา ออกแบบ e-Magazine ออกแบบ Info Graphic และ Motion Graphic เรียนรู้แนวทางการทำธุรกิจดิจิทัลแบบผสมผสานได้อย่างลงตัวเช่นกัน
“ที่นี่เหมือนเป็นตะกร้าที่มีทุกอย่างหากจะปรุงอาหารประเภทไหนก็สามารถหาวัตถุดิบที่มีอยู่มาผสมกันได้อย่างลงตัวออกมาเป็นเมนูอาหารที่สามารถรับประทานได้อย่างมีรสชาติ และเชื่อว่าไม่ว่าโลกอนาคตจะเปลี่ยนไปแค่ไหนดิจิทัลมีเดียก็จะสามารถพัฒนาและอยู่ร่วมไปได้กับแพลตฟอร์มที่เปลี่ยนไปอย่างแน่นอน” ผศ.ดร.กมล กล่าวทิ้งท้าย