
คณะวิทย์โต้ขอแยกสอบPAT2ยันไม่ได้ดึงเด็ก
คณะวิทย์ โต้ขอแยกสอบPAT2 ไม่ได้ต้องการดึงเด็กเข้าเรียนทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ แจงรู้ตัวดีว่าไม่ใช่คณะยอดนิยม ฝากทปอ.ทำความเข้าใจ พร้อมทำตามมติทปอ.เช่นเดียวกับคณะศิลปกรรมไม่เพิ่มPAT6 ขอหารือสทศ.ปรับข้อสอบเน้นความคิดสร้างสรรค์
เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2552 รศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย( ทปอ.) มีมติไม่แยกสอบ การทดสอบทางความถนัดทางวิทยาศาสตร์ หรือ PAT 2 ในการรับสมัครบุคคลนิสิตนักศึกษาเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา(แอดมิชชั่นส์กลาง) ปี 2553 -2554 เนื่องจากไม่ต้องการให้เด็กต้องสอบมากเกินไป และปัญหาของคณะวิทยาศาสตร์นั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องของระบบการสอบคัดเลือก แต่อยู่ที่ค่านิยมของเด็กที่ไม่สนใจเรียนด้านวิทยาศาสตร์ ว่า โดยส่วนตัว การที่คณะวิทยาศาสตร์ เสนอให้แยกสอบPAT2 เป็น 3 วิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ไม่ได้ต้องการแก้ปัญหาของคณะวิทยาศาสตร์ หรือต้องการดึงให้เด็กหันมาเรียนคณะวิทยาศาสตร์มากขึ้น แต่เป็นการเสนอทางออกในการแก้ปัญหาของประเทศ
“คณะวิทย์ ทุกมหาวิทยาลัยรู้ดีว่าคณะวิทย์ ไม่ใช่คณะยอดนิยมที่เด็กอยากมาเรียน แต่การที่เสนอให้แยกสอบวิทย์ เพื่อกระตุ้นให้เด็กหันมาเห็นความสำคัญของแต่ละวิชา และสนใจเรียนวิทยาศาสตร์ จึงอยากให้ทปอ.เข้าใจด้วยว่า เหตุผลที่คณะวิทย์ขอแยกสอบ ไม่ได้ทำเพื่อดึงเด็กมาเรียน หรือเพิ่มภาระให้แก่เด็ก แต่เสนอเพื่อสร้างบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์ และความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติ”รศ.ดร.สุพจน์กล่าว
คณบดีคณะวิทย์ จุฬาฯ กล่าวอีกว่า สำหรับการเพิ่มค่าน้ำหนักของPAT2 นั้น เป็นเรื่องที่ดี แต่ทั้งนี้ หากเพิ่มค่าน้ำหนักแล้ว ควรเพิ่มเวลา และจำนวนข้อสอบด้วย เพื่อที่จะได้วัดความรู้ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ และครอบคลุมทุกเนื้อหาที่สอนในชั้นเรียน ส่วนแนวทางในการแก้ปัญหาเด็กเรียนวิทย์ หรือการเพิ่มความรู้ให้แก่เด็กนั้น คณะวิทย์ทุกมหาวิทยาลัยต่างมองหาช่องทาง และจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความรู้ของเด็กอยู่แล้ว
"สัดส่วน ค่าน้ำหนักหรือองค์ประกอบในการสอบแอดมิชชั่นส์นั้น ทปอ.มีมติออกมาเช่นใด สาขาคณะคงต้องดำเนินการ แต่คณะวิทยาศาสตร์ คงต้องหาแนวทางในการแก้ปัญหาต่อไป ส่วนจะเปิดรับตรงมากขึ้นหรือไม่นั้น โดยส่วนตัวมองว่าคณะวิทย์ คงไม่รวมตัวกันรับตรงอย่างคณะแพทยศาสตร์ เพราะคณะวิทย์ไม่ใช่คณะยอดนิยม ฉะนั้นต่อให้เปิดรับตรงก็ใช่ว่าจะได้เด็กหัวกะทิมาเรียน" รศ.ดร.สุพจน์ กล่าว
รศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า คณะศิลปกรรมคงต้องดำเนินการตามมติทปอ.ที่ไม่ให้มีการเพิ่ม PAT6 ความถนัดทางด้านศิลปกรรม ในการรับแอดมิชชั่นส์ปี 2553-2554 ส่วนการจัดตั้งสำนักมาตรฐานวิชาชีพก็ต้องหยุดไว้ก่อน เพราะมีการเพิ่มPAT6 ทั้งนี้ ในการออกข้อสอบ ตนเองจะไปหารือร่วมกับสำนักงานทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.) เพื่อปรับข้อสอบที่เน้นวัดความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น