จาก Ernesto ถึง อาจินต์ (ตอนที่ 3)
จาก Ernesto ถึง อาจินต์ (ตอนที่ 3) : คอลัมน์... ตำข่าวสารกรอกหม้อ โดย... จักรกฤษณ์ สิริริน
4 ปีใน “เหมืองแร่” เปรียบได้กับการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยของ “อาจินต์ ปัญจพรรค์”
ดังที่ “จิระ มะลิกุล” ได้นำชุดเรื่องสั้น “ตะลุยเหมืองแร่” จำนวน 142 เรื่องไปสร้างเป็นภาพยนตร์ และตั้งชื่อว่า “มหา’ลัยเหมืองแร่”
จึงถือได้ว่า การเผชิญหน้ากับชะตาชีวิตใน “มหา’ลัยเหมืองแร่” ของ “อาจินต์ ปัญจพรรค์” เสมือนการสำเร็จปริญญาจากสถาบันอุดมศึกษา “เหมืองแร่” วิทยาเขตพังงา
และหลังจากที่ “อาจินต์” กลับจาก “เหมืองแร่” ไม่เพียงสังคมไทยจะได้วรรณกรรมชั้นดีที่ชื่อ “เหมืองแร่” วงการนักเขียนยังได้สำนักพิมพ์คุณภาพที่ชื่อ “โอเลี้ยงห้าแก้ว” แถมยังได้นิตยสารแถวหน้าที่ขึ้นชั้น “คลาสสิก” ไปแล้ว นั่นคือ “ฟ้าเมืองไทย”
งานวรรณกรรมและนิตยสาร ที่ “อาจินต์” กลั่นจากประสบการณ์ชีวิตวัยหนุ่มที่ “เหมืองแร่” มีส่วนเปลี่ยนแปลงแวดวงวรรณกรรมไทยและวงการนิตยสารไทยอย่างมากมาย
เมื่อเปรียบเทียบกัน หนังเรื่อง “มหา’ลัยเหมืองแร่” ไม่ต่างไปจากภาพยนตร์เรื่อง The Motorcycles Diaries หรือ “บันทึกลูกผู้ชายชื่อเช”
The Motorcycles Diaries สร้างจากหนังสือชื่อเดียวกันของ Ernesto Guevara หรือที่โลกรู้จักกันในนาม “เช”
“บันทึกลูกผู้ชายชื่อเช” คล้ายหนังสารคดีชีวประวัติ “เช เกวารา” นักปฏิวัติอันดับหนึ่งของโลก ดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์จากหนังสือ The Motorcycles Diaries (มีการแปลเป็นภาษาไทย จัดทำโดยสำนักพิมพ์ “สามัญชน” ชื่อปกว่า “บันทึกมอเตอร์ไซค์”)
จุดร่วมระหว่าง “มหา’ลัยเหมืองแร่” กับ The Motorcycles Diaries มีส่วนที่ตรงกัน นั่นคือ การปรับปรุงมุมมองความคิด จากประสบการณ์วัยรุ่น ซึ่งได้ผ่านพบเหตุการณ์อันยิ่งใหญ่หรือสถานการณ์ที่แหลมคม อันนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติในการมองโลกมองชีวิตของเด็กหนุ่มสองคน
หากวัยหนุ่มของ “อาจินต์ ปัญจพรรค์” ไปปรากฏตัวที่ “เหมืองแร่” จังหวัดพังงา หลังจากที่ถูกคุณพ่อส่งไปดัดนิสัยเพราะ “อาจินต์” ถูกรีไทร์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วัยหนุ่มของ “เช เกวารา” ก็เป็นการใช้ชีวิตช่วงปิดเทอมของนักศึกษาแพทย์ ขี่มอเตอร์ไซค์ตระเวนไปในหมู่ประเทศอเมริกาใต้
ทั้ง “อาจินต์” และ “เช” ต่างก็ได้เผชิญหน้ากับสภาพแวดล้อมที่ไม่เคยเจอมาก่อน ทั้งบรรยากาศบ้านป่าเมืองเถื่อน ทั้งการกรำงานหนัก และทั้งผู้คนหลากหลายพื้นฐาน
สำหรับคนทั่วไปซึ่งวัยใกล้เคียงกับ “อาจินต์” และ “เช” คือมีอายุราว 18-22 ปี ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตวัยรุ่นก่อนก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ คนหนุ่มในช่วงนี้หลายคนค้นพบอาชีพ มากคนค้นพบความชอบ และมีไม่น้อยที่ค้นพบตัวเอง
หลังจาก “อาจินต์” กลับจาก “เหมืองแร่” เขาไม่กลับไปสู่เส้นทาง “วิศวกร” อีกเลย
เช่นเดียวกับ “เช” ที่ก็ละทิ้งเสื้อกาวน์ “แพทย์” มุ่งสู่การเป็น “นักปฏิวัติ”
“เหมืองแร่” ของ “อาจินต์” และผู้คนบนเส้นทางของ “เช” คือจุดเปลี่ยนสำคัญของวัยรุ่นทั้งสองคน
และดูเหมือนจะสามารถสรุปได้ว่า “จุดเปลี่ยน” ที่ว่าก็คือ “การเดินทาง”