ไลฟ์สไตล์

"กลิ่น"พาทุกคนไปหาศิลปะความงามในความไม่สมบูรณ์

"กลิ่น"พาทุกคนไปหาศิลปะความงามในความไม่สมบูรณ์

25 ธ.ค. 2561

รายงาน  :  โดย...  ปาริชาติ บุญเอก [email protected]


 

          The Nose Thailand โครงการที่เกิดจากการรวมตัวของผู้ที่คลุกคลีกับผู้พิการทางสายตา นักศิลปะบำบัด และนักออกแบบกลิ่น เปิดโอกาสให้ศิลปินผู้พิการทางสายตาและศิลปินตาดีร่วมเวิร์กช็อป แบ่งปันความรู้สึกผ่านผลงานศิลปะจาก “สีมีกลิ่น” ครั้งแรก เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาเข้าถึงและพัฒนาศักยภาพทางศิลปะ

 

 

          มาริสา ธเนศวงศ์ หัวหน้าคณะผู้จัดตั้งโครงการ The Nose Thailand ศิลปะสร้างและสัมผัสได้จากกลิ่น กล่าวในงานเปิดนิทรรศการ “Everyone can do art” ศิลปะสร้างและสัมผัสได้จากกลิ่น ณ บริเวณชั้น 2 Lifestyle Hall ศูนย์การค้าสยามพารากอน ว่า นิทรรศการนี้ จัดขึ้นภายใต้คอนเซปต์ “Imperfect ความไม่สมบูรณ์” ด้วยการรวมตัวของสมาชิกผู้ก่อตั้งและจัดงาน ทั้งผู้ที่คลุกคลีกับผู้พิการทางสายตา นักศิลปะบำบัด และผู้เชี่ยวชาญด้านกลิ่น ซึ่งเราเล็งเห็นว่า “กลิ่น” คือเคล็ดลับตั้งต้นที่จะทำให้คนตาบอดสร้างงานศิลปะได้เหมือนทุกคน เป้าหมายหลักไม่ใช่สร้างคนตาบอดเป็นศิลปินเท่านั้น แต่คือการเปิดโอกาสให้คนตาบอดเลือกอาชีพที่หลากหลายขึ้น โดยโปรเจกท์นี้ เราให้ทั้งศิลปินตาดีและศิลปินผู้พิการทางสายตาร่วมเวิร์กช็อปกันถึง 6 ครั้ง ใช้เวลาในการทำโปรเจกท์กว่า 1 ปี

 

 

\"กลิ่น\"พาทุกคนไปหาศิลปะความงามในความไม่สมบูรณ์

 


          สร้างศิลปะจาก “กลิ่น”
          ชลิดา คุณาลัย Scent Designer ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกลิ่น กล่าวว่า สำหรับคนที่สามารถมองเห็น คงไม่มีใครสังเกตว่าประสาทสัมผัสที่ทรงพลังมากที่สุดคือ “กลิ่น” เพราะกลิ่นสามารถบอกอันตราย มอบความทุกข์ สร้างความสุข สุนทรีย์ เพิ่มรสชาติ และสร้างความสุข ดังนั้น กลิ่นจึงมีพลัง และทำให้คนตาบอดใช้ประสาทสัมผัสอื่นๆ ทำงานได้มากขึ้น ในโลกของศิลปะ คือ การใช้ตาเห็น ทุกอย่างใช้ทฤษฎีสีเหลือง แดง น้ำเงิน ขาว ดำ เราเลยคิดว่า เราสามารถใช้กลิ่นบ่งบอกสีได้หรือไม่ จึงทำงานร่วมกับนักศิลปะบำบัด เพื่อให้รู้ความหมายของแต่ละสี นอกจากนี้ยังทำงานกับ Givaudan บริษัทครีเอทน้ำหอมระดับโลก มั่นใจได้ว่ากลิ่นหอมที่นำมาใช้ได้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของสมาคมน้ำหอมนานาชาติ (IFRA) ตอนนี้เราได้สร้างกลิ่นที่หลากหลายครบทั้งแม่สีและสีพิเศษเพิ่มขึ้น มากกว่า 30 สี

 

 

 

\"กลิ่น\"พาทุกคนไปหาศิลปะความงามในความไม่สมบูรณ์



          “น้องๆ ผู้พิการทางสายตา สามารถสร้างงานศิลปะออกมาได้ดี ในโลกมืดและสว่าง กลิ่นพาทุกคนไปหาศิลปะ โครงการนี้ จึงทำให้ผู้พิการทางสายตา ได้ฝึกงานปั้น หรือทำงานศิลปะจากกระดาษได้สม่ำเสมอ โดยใช้กลิ่นเป็นตัวนำพาจินตนาการ” ชลิดา กล่าวเพิ่มเติม

 

          ขรรค์ ประจวบเหมาะ ประธานมูลนิธิช่วยคนตาบอด กล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้กลิ่นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะพอเขาพิการทางสายตา เขาต้องมีวิธีอื่นที่จะเรียนรู้ ดังนั้น เด็กๆ ส่วนใหญ่จะมีความสามารถในการใช้จมูก ในการดมกลิ่น ใช้หู ในการเล่นดนตรี ร้องเพลง และใช้ชีวิตประจำวัน ผู้พิการทางสายตาทำอะไรได้มากกว่าที่ทุกคนคิด เช่น ถักโครเชต์ ทำงานศิลปะ วาดรูป ทำอาหาร เพราะฉะนั้น อย่าไปคิดว่าพวกเขาทำอะไรไม่ได้ บางคนสามารถทำได้มากกว่าคนตาดีด้วยซ้ำ เราต้องให้โอกาสเขา เพื่อให้เขาสามาถช่วยเหลือตัวเอง และกลับมาช่วยเหลือสังคม

 

 

 

\"กลิ่น\"พาทุกคนไปหาศิลปะความงามในความไม่สมบูรณ์

 


          เช่นเดียวกับ รณยุทธ อิงสา ผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันดนตรีคนตาบอด ตัวแทนจากสมาคมคนตาบอด กล่าวว่า ผู้พิการทางสายตาไม่ต้องการให้คนในสังคมมองพวกเราแตกแยก เพราะทุกคนไม่ว่าจะพิการหรือไม่พิการ ล้วนแล้วแต่เป็นคนในสังคมเดียวกันทั้งนั้น การเดินทางของโปรเจกท์นี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกว่าจะผลิตกลิ่น สร้างสรรค์ ลักษณะต่างๆ และทำให้ศิลปินตาบอด รวมถึงศิลปินตาดีเข้าใจ สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่า ถ้าเราไม่ปิดตัวเอง ไม่มีกรอบให้ตัวเอง พวกเราสามารถทำอะไรก็ได้ เห็นได้จากศิลปะในวันนี้ เป็นงานที่สวยงาม เพราะออกมาจากจิตวิญญาณของศิลปินทุกคน แสดงให้เห็นว่าทุกอยางสามารถเกิดขึ้นได้ถ้าทุกคนเปิดใจยอมรับ

 

 

\"กลิ่น\"พาทุกคนไปหาศิลปะความงามในความไม่สมบูรณ์

 


          จินตนาการในความมืด
          อมีนา ทรงศิริ ตัวแทนศิลปินผู้พิการทางสายตา กล่าวว่า มีโอกาสเข้ามาร่วมโครงการนี้ เนื่องจากสนใจเรื่องราวของโครงการ ที่บอกว่าอยากให้คนตาบอดทำงานศิลปะได้โดยใช้จมูกดมกลิ่น และสร้างงานให้คนได้เห็น ก่อนหน้านี้เราคิดว่าเราไม่มีความสามารดด้านศิลปะเลย แต่พอเข้ามาทำ ถึงรู้ว่าศิลปะมันอยู่ในตัวเราทุกคน แต่เราอาจจะไม่เคยรู้มาก่อน พอได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง ทำให้เราสามารถเดินไปในทางที่ถูก เกิดความหลงใหลในงานศิลปะ อยากทำเรื่อยๆ และอยากให้คนมาดูเกิดความชื่นชมและเกิดแรงบันดาลใจ

 

 

\"กลิ่น\"พาทุกคนไปหาศิลปะความงามในความไม่สมบูรณ์

 

 


          ทั้งนี้ ผลงานชิ้นแรกของอมีนา คือ รูปปั้นที่ได้รับแรงบันดาลใจจากแมวสุดที่รักของเธอ เธอเล่าว่า ความจริงแล้วมันถูกสร้างขึ้นผิดหลักจากงานปั้นทั่วไปซึ่งต้องมีรูกลวงตรงกลาง ขณะที่ผลงานของเธอชิ้นนี้ไม่มี ทำให้น้ำหนักมากกว่าชิ้นอื่นๆ แต่เธอภูมิใจในความไม่สมบูรณ์ของมัน เพราะต้องการสื่อให้ทุกคนรู้ว่า “โลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ”


          หรือเรากันแน่ที่ไม่สมบูรณ์
          สุภัทรชัย เชื่อธรรมสอน ปัจจุบันทำงานทางด้านออกแบบ ตัวแทนอาสาสมัคร ศิลปินมองเห็น เล่าว่า เข้าร่วมในโปรเจกท์นี้เนื่องจากสนใจว่า กลิ่นกับคนตาบอดหรือเรื่องราวของศิลปะจะเข้ามาเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร เราทำงานกับคนที่มองเห็นมาตลอด เราใช้ตามอง แต่โปรเจกท์นี้ทำให้เราได้ใช้ใจมากขึ้นเพราะต้องปิดตา ใช้ความรู้สึกและประสาทสัมผัสต่างๆ ที่บางครั้งเราอาจจะลืมไป ทำให้เราละเอียดอ่อนกับสิ่งรอบข้างมากขึ้น ผลงานที่ทำใช้สีขาว ดำ เพราะอยากให้คนตาดี ได้ลองหลับตาแล้วสัมผัส ใช้ใจให้มากกว่าการมองเห็น

 

 

 

\"กลิ่น\"พาทุกคนไปหาศิลปะความงามในความไม่สมบูรณ์

 


          “ตอนแรกทำงานร่วมกับผู้พิการทางสายตาก็รู้สึกเกร็ง แต่พอได้เริ่มเวิร์กช็อปกลับรู้สึกว่า เราหรือเปล่าที่ไม่สมบูรณ์ เพราะพวกเขาสอนเราในเรื่องความรู้สึกและเราได้เปิดใจและรับฟัง เห็นมนุษย์ในมุมมองต่างๆ มากขึ้น มันยิ่งกว่าศิลปะ แต่เป็นศิลปะในการใช้ชีวิตมากขึ้น” สุภัทรชัย กล่าวทิ้งท้าย