5 วิธี ผู้สูงอายุรับมืออากาศเปลี่ยน
ต้องสังเกตอาการของผู้สูงอายุเป็นพิเศษ หากไม่รีบรักษาหรือร่างกายไม่แข็งแรงอาจติดเชื้อแทรกซ้อนจนเป็นอันตรายได้
ช่วงที่อุณหภูมิเดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาวเปลี่ยนแปลงบ่อย ร่างกายปรับตัวไม่ทันส่งผลให้ป่วยง่าย โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจอย่างโรคไข้หวัด และโรคไข้หวัดใหญ่ ยิ่งในผู้สูงอายุที่มีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าคนทั่วไปร่างกายติดเชื้อได้ง่าย จึงอาจเสี่ยงเป็นโรคปอดบวม ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต
นพ.ปุณพงศ์ หาญศิริพันธุ์ โรงพยาบาลพญาไท 2 กล่าวว่า โรคปอดบวมในผู้สูงอายุรุนแรงและน่ากลัวกว่าใน วัยอื่นๆ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน โรคระบบทางเดิน หายใจเรื้อรัง หากมีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด หรือระบบทางเดินหายใจล้มเหลว จะทำให้การรักษาเป็นไปได้อย่างยากลำบาก และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตเลยก็ได้ จากสถิติพบว่าผู้สูงอายุที่เสียชีวิตด้วยโรคนี้มีสูงถึง 50 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
นพ.ปุณพงศ์ หาญศิริพันธุ์
โรคปอดบวมเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อทางเดินหายใจ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อราก็ได้ มักเป็นอาการต่อเนื่องมาจากโรคไข้หวัดใหญ่ โดยปกติแล้วผู้ป่วยจะมีไข้สูง ไอมีเสมหะ คลื่นไส้อาเจียน เหนื่อยหอบ แต่ในผู้สูงอายุอาจจะแสดงอาการไม่ชัดเจน อาจมีไข้ และมีอาการซึมลงเท่านั้น จึงจำเป็นต้องสังเกตอาการของผู้สูงอายุเป็นพิเศษ เพราะหากไม่รีบรักษาหรือร่างกายไม่แข็งแรงอาจติดเชื้อแทรกซ้อนจนเป็นอันตรายได้ หากสังเกตพบอาการผิดปกติ ควรรีบพาไปพบแพทย์
“แม้ว่าการรักษาโรคปอดบวมจะสามารถหายได้ด้วยการใช้ยาฆ่าเชื้อ แต่ปัจจุบันเชื้อมีการดื้อยามากขึ้น ทำให้การรักษายากและซับซ้อนขึ้น อาจไม่ค่อยได้ผลเท่าที่ควร การดูแลตัวเองให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันเพื่อเป็นการป้องกันก่อนป่วยจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด” นพ.ปุณพงศ์ หาญศิริพันธุ์ กล่าว
ทั้งนี้ คุณหมอแนะนำ 5 วิธีผู้สูงอายุรับมืออากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยไว้ดังนี้ 1.ดูแลร่างกายให้แข็งแรง สร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้ร่างกายอ่อนแอ ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ตามที่ร่างกายต้องการ และดื่มน้ำให้พอเพียง 2.สวมใส่เสื้อผ้าที่หนาเพียงพอ โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืนที่มีอากาศหนาวเย็น เพื่อให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ ในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวจัดต้องระวังอาจเกิดภาวะอุณหภูมิของร่างกายลดลง มากผิดปกติเนื่องจากผิวหนังของผู้สูงอายุมีความไวของประสาทรับรู้อากาศที่หนาวเย็นลดลง ร่างกายจึงไม่สามารถตอบสนองด้วยการหนาวสั่น หรือการหดตัวของกล้ามเนื้อให้เกิดความอบอุ่นได้ดีเหมือนคนหนุ่มสาว
3.ล้างมือเป็นประจำให้ติดเป็นนิสัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นหวัด ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อ บริเวณจมูก ปาก ตา เนื่องจากเชื้อไข้หวัดใหญ่อาจปนเปื้อนอยู่ จะเป็นการแพร่กระจายเชื้อ 4.หลีกเลี่ยงการอยู่ในฝูงชนที่มีการระบายอากาศไม่ดี เพราะอาจรับเชื้อไวรัสไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่จากผู้อื่นได้ง่าย และ 5.ฉีดวัคซีนเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันในโรคที่มีวัคซีนป้องกัน เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนปอดอักเสบ