ไลฟ์สไตล์

อี-คอมเมิร์ซ "อาเซียน" รุ่งยาวถึงปี 2568

อี-คอมเมิร์ซ "อาเซียน" รุ่งยาวถึงปี 2568

12 ม.ค. 2562

ผยในผลการสำรวจธุรกิจอาหารและค้าปลีกสมัยใหม่ฉบับล่าสุดว่า ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกสมัยใหม่ 10 อันดับแรกของโลก ตกเป็นของค้าปลีกสัญชาติเอเชียถึง 4 ราย

          ปี 2561 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป นับเป็นปีทองของธุรกิจ อี-คอมเมิร์ซ หรือ ‘Year of E-commerce’ ของภูมิภาคอาเซียน ด้วยอานิสงส์ทั้งจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น มีจำนวนผู้ใช้มือถือมากขึ้น และระบบโลจิสติกส์ดีขึ้น โดยมีตัวเลขจากรายงาน “e-Conomy Southeast Asia 2018 Report” ที่จัดทำร่วมกันระหว่างกูเกิล กับบริษัท เทมาเส็ก มือลงทุนรายหลักของรัฐบาลสิงคโปร์ เปิดเผยขนาดเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคนี้ว่าจะแตะหลัก 240 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568

 

          รายงานฉบับนี้ ยังให้เครดิตกับอุตสาหกรรมในกลุ่มอี-คอมเมิร์ซและดิจิทัล ว่าเป็นกลไกขับเคลื่อนที่หนุนการเติบโตให้แก่เศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน ได้แก่ อี-คอมเมิร์ซ สื่อออนไลน์ การท่องเที่ยวออนไลน์ และการใช้รถร่วมกัน (ride-sharing) ที่พุ่งแรงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งบริการเหล่านี้เฟื่องฟูตามจำนวนการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือนั่นเอง และอาเซียนก็เป็นตลาดใหญ่อันดับต้นๆ ของโลกทั้งในแง่จำนวนประชากรรวมกว่า 600 ล้านคน และตัวเลขผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมือถือ สะท้อนผ่านมูลค่าเศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 72 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยับขึ้น 2 เท่าตัวนับตั้งแต่ปี 2558

 

อี-คอมเมิร์ซ \"อาเซียน\" รุ่งยาวถึงปี 2568

          ศักยภาพการเติบโตของตลาดอี-คอมเมิร์ซในอาเซียน ยังไปเข้าตา ‘อาลีบาบา’ ยักษ์อี-คอมเมิร์ซจีนที่เป็นผู้นำระดับโลกในอุตสาหกรรมนี้ จนเปิดกว้างให้ลาซาด้า (Lazada) ที่เข้ามาซื้อกิจการไปช่วงไตรมาสแรกปี 2561 นำแคมเปญ ‘ลดราคา’ สนั่นโลกวันคนโสด หรือวันที่ 11 เดือน 11 มาระเบิดความปังในพื้นที่การตลาดของลาซาด้า ทั้ง 6 ประเทศภูมิภาคอาเซียนด้วย ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง เพราะแค่วันนั้นวันเดียว มียอดผู้ซื้อคลิกเข้ามาช็อปสินค้าในเว็บลาซาด้าถึง 20 ล้านคน สินค้าท็อปฮิตในแคมเปญนี้ คือ เครื่องสำอางแบรนด์ Maybelline และ L’Oréal Paris ตามมาด้วยผลิตภัณฑ์สำหรับทารก Enfa และสมาร์ทโฟนแบรนด์ RealMe.

          อาลีบาบา ยังได้ออกแถลงการณ์ย้ำความเชื่อมั่นตลาดอี-คอมเมิร์ซในอาเซียนว่า เห็นสัญญาณบวกชัดเจนจากจำนวนประชากรวัยหนุ่มสาว สัดส่วนการใช้มือถือ และยังมีค้าปลีกจำนวนน้อยรายมากๆ หรือแค่ 3% ที่เข้าสู่ช่องทางออนไลน์แล้ว

          นอกจากนี้ รัฐบาลหลายประเทศในอาเซียน กำลังเดินหน้าสู่การพาณิชย์ยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย ที่รัฐบาลประกาศเป้าหมายว่าจะเพิ่มมูลค่าการซื้อขายสินค้าผ่านออนไลน์, ประเทศไทย ที่มีนโยบายด้านดิจิทัลเพื่อหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเปิดบริการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัลในชื่อ “บริการพร้อมเพย์”, เวียดนาม รัฐบาลประกาศแผนไว้ต้งแต่ปี 2559 ว่าจะเพิ่มปริมาณธุรกรรมอี-คอมเมิร์ซ ภายใน 4 ปี

อี-คอมเมิร์ซ \"อาเซียน\" รุ่งยาวถึงปี 2568

 

4 ขาใหญ่ค้าปลีกออนไลน์เอเชีย

          บริษัทวิจัยการตลาดของอังกฤษ Institute of Grocery Distribution (IDG) เปิดเผยในผลการสำรวจธุรกิจอาหารและค้าปลีกสมัยใหม่ฉบับล่าสุดว่า ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกสมัยใหม่ 10 อันดับแรกของโลก ตกเป็นของค้าปลีกสัญชาติเอเชียถึง 4 ราย ซึ่งแนวโน้มจะยังคงรักษาตำแหน่งไว้ต่อเนื่องได้ถึงปี 2566 โดยมีค้าปลีกจีนรั้งตำแหน่งผู้นำ และตามมาด้วย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย ขณะเดียวกัน ยังมีตลาดที่น่าจับตามอง ได้แก่ อินเดีย และอินโดนีเซีย ซึ่งคาดว่าจะเติบโตสูงถึง 87% และ 85% ตามลำดับ

          รวมทั้งประมาณการมูลค่าการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ในเอเชียไว้ที่ 176 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2565 ขยายตัว 194% เป็นภูมิภาคที่เติบโตเร็วสุด อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยพิจารณาควบคู่กันด้วยว่า การโตของซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์แต่ละประเทศนั้นขึ้นกับปัจจัยสำคัญ ได้แก่ สัดส่วนการใช้มือถือต่อประชากร จำนวนประชากร และการเติบโตของค้าปลีกสมัยใหม่ออนไลน์ พร้อมทั้งเสนอแนะว่า อินเดีย และประเทศในภูมิภาคอาเซียน ต้องเร่งพัฒนาระบบการชำระเงิน และโลจิสติกส์ เพื่อเพิ่มการเติบโตให้แก่ตลาดนี้

 

อี-คอมเมิร์ซ \"อาเซียน\" รุ่งยาวถึงปี 2568

 

"ไพรซ์ซ่า’ ชี้ 4 เทรนด์อี-คอมเมิร์ซในไทย

          นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ผู้ให้บริการเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น “Priceza” เครื่องมือค้นหาสินค้าและเปรียบเทียบราคา (Shopping Search Engine) อันดับต้นๆ ของประเทศ กล่าวระหว่างงานสัมมนา “Priceza E-Commerce Trends : The Infinity of E-Commerce Wars 2019” ว่าในรอบปี 2561 ที่สิ้นสุดไป มีจำนวนสินค้าที่รวบรวมไว้บนเว็บไซต์ของ Priceza เพิ่มจาก 28 ล้านชิ้น เป็น 51 ล้านชิ้น และสมมุติว่าถ้ามีใครเข้ามาค้นหาสินค้าทุกชิ้นโดยใช้เวลา 5 นาทีต่อชิ้น จะต้องใช้เวลาถึง 8 ปีก่อนจะดูสินค้าได้ครบทุกชิ้น

          ทั้งนี้ เขาได้คาดการณ์แนวโน้มหลักๆ สำหรับอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทยไว้ 4 เรื่อง ได้แก่ สำหรับสถานการณ์ธุรกิจอีคอมเมิร์ซปี 2562 นั้น มีเรื่องหลักที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 4 เรื่อง ได้แก่ 1.ถนนทุกสายจะมุ่งสู่การค้าออนไลน์ 2.การค้าขายบน E-Marketplace จะเผชิญทั้งโอกาสและความท้าทายมากขึ้น 3.การจ่ายเงินชำระค่าสินค้าผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์จะเติบโตแบบก้าวกระโดด และ 4.การค้าหลากหลายช่องทาง (Omni Channel) จะมีบทบาทมากขึ้น

          ด้านภาพรวมธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทยปี 2561 มีการเติบโตอย่างน่าสนใจ เนื่องจากมีมาร์เก็ตเพลสรายใหม่จากต่างประเทศหลายรายเข้ามาดำเนินธุรกิจอย่างเป็นทางการทั้งในไทยและอาเซียน และมีสินค้ากลุ่มข้ามพรมแดน (Cross Border) เข้ามาในไทยมากขึ้น ขณะเดียวกัน สถานการณ์ดังกล่าว ก็ส่งผลให้การแข่งขันดุเดือดมากขึ้นด้วย

          ขณะที่ สถานการณ์อี-คอมเมิร์ซในปี 2562 ยังคงมีปัจจัยบวกและสัญญาณที่ดี เช่น การเติบโตและปรับตัวของช่องทางฟินเทคและอี-เพย์เมนต์ต่างๆ แคมเปญโปรโมชั่นของผู้เล่นในตลาด พฤติกรรมผู้บริโภคที่เริ่มนิยมการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น

         ผู้บริหารของไพรซ์ซ่า ยังเปิดเผยข้อมูลเชิงลึก (Insights) ที่รวบรวมจากกิจกรรมบนแพลตฟอร์ม Priceza ในรอบปีผ่านมาว่า สถานการณ์ยอดซื้อต่อตะกร้า (Average Basket Size) บนช่องทาง-อีคอมเมิร์ซ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม–12 พฤศจิกายน 2561 อยู่ที่ 1,469 บาทต่อตะกร้า โดยกลุ่มสินค้าที่เป็นที่นิยมมากที่สุด ยังคงเป็นกลุ่มสินค้าหมวดเสื้อผ้าและแฟชั่น โทรศัพท์และอุปกรณ์สื่อสาร เครื่องใช้ไฟฟ้า รถและยานพาหนะ ตามลำดับ

 

อี-คอมเมิร์ซ \"อาเซียน\" รุ่งยาวถึงปี 2568

 

Wrap-up ตลาดอี-คอมเมิร์ซอาเซียน

         ก่อนหน้านี้ Singtel MyBusiness ได้ประมวลสถานการณ์ของอี-คอมเมิร์ซในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้หลักๆ ดังนี้ 1.เศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตของอาเซียน เติบโตในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และคาดว่าจะทะลุหลัก 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2568 2.สัดส่วนการใช้มือถือต่อจำนวนประชากร กระตุ้นยอดธุรกรรมอี-คอมเมิร์ซ โดยมีมูลค่าเกิน 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ มาตั้งแต่ปี 2560 แล้ว 3.สิงคโปร์ เป็นประเทศในอันดับ 1 ในกลุ่มอาเซียนที่มีปริมาณการซื้อสินค้าออนไลน์ด้วยบัตรเครดิตสูงสุด และยังมีแนวโน้มโตต่อเนื่องอีก 3 ปีข้างหน้า

          3.แม้มีทางเลือกในการชำระเงินหลากหลาย ซึ่งรวมถึงบริการฟินเทค แต่รูปแบบการเก็บเงินปลายทาง (Cash-on-delivery : COD) ก็ยังได้รับความนิยมมากสุดถึง 80% 4.การซื้อสินค้ามูลค่าสูงๆ ทางออนไลน์ยังนิยมทำธุรกรรมผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์มากกว่าบนโทรศัพท์มือถือ ขณะที่ ในแง่ปริมาณ(ครั้ง)การทำธุรกรรมเกิดบนช่องทางมือถือมากกว่า คิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 และ 6.ธุรกิจขนาดเล็กและสตาร์ทอัพ นิยมใช้บริการจากแพลตฟอร์มของผู้ให้บริการที่มีอยู่แล้วในตลาด ซึ่งสามารถสนับสนุนด้านเครื่องมือ และเสนอบริการเพิ่มมูลค่าเพื่อช่วยเพิ่มฐานลูกค้า และกระตุ้นยอดขาย

/////////////

จากคอลัมน์ อินโนสเปซ โดย บัซซี่บล็อค หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันเสาร์ อาทิตย์ 12-13 มกราคม 2562