ไลฟ์สไตล์

'ออนไอที วัลเลย์' หุบเขาเกษตรอัจฉริยะแห่งล้านนา

'ออนไอที วัลเลย์' หุบเขาเกษตรอัจฉริยะแห่งล้านนา

19 ม.ค. 2562

"ออนไอที วัลเลย์"นับเป็นชุมชนต้นแบบที่มีการผสมผสานเรื่องของไอทีเข้ากับวิถีในแบบล้านนาได้อย่างลงตัว

          ตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา หลายคนคงคุ้นหูกับชื่อของ ซิลิกอน วัลเลย์ แหล่งกำเนิดบริษัทไอทีระดับโลกจำนวนมาก ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ทางตอนใต้ของอ่าวซานฟรานซิสโก และได้รับการยกย่องเป็นแหล่งบ่มเพาะนวัตกรรมแถวหน้าของโลก รูปแบบการจัดโซนที่ส่งเสริมการสร้างสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศน์ทางธุรกิจดังกล่าว กลายเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการรุ่นต่อๆ มา และต่อยอดสู่สาขาอื่นๆ ที่นำความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมไป “ต่อยอด” เพิ่มมูลค่า และขยายผลสู่นวัตกรรมใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาอีก

 

          ในประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อด้านเกษตรกรรม ล่าสุดก็ได้ริเริ่มโครงการที่ชื่อว่า ‘Oon IT Valley (ออนไอที วัลเล่ย์)’ บนเนื้อที่ราว 100 ไร่ ริมถนนสันกำแพงสายใหม่-เชียงใหม่ ต.ออนใต้ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ด้วยมูลค่าการลงทุนราว 300 ล้านบาท ซึ่งเจ้าของโครงการคือ บริษัท โปรซอฟท์ คอมเทค จัดตั้งขึ้นโดยยึดคอนเซ็ปต์ให้เป็น “เมืองไอที วิถีล้านนา” ซึ่งมุ่งพัฒนาขีดความสามารถทางด้านไอทีให้กับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในกลุ่มเอสเอ็มอี และเกษตรกร มุ่งสร้างสังคมให้เป็นวิถีอยู่ดี กินดี มีสุข เกษตรปลอดสารเคมี

          และแม้จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการได้ราว 1 ปี ก็เป็นที่กล่าวถึงอย่างกว้างขวางว่าเป็น ‘ชุมชนต้นแบบเกษตรอัจฉริยะ’ ที่ผสานไอทีเข้าไปในโครงการได้อย่างกลมกลืน โดยไม่ทิ้งวิถีในแบบล้านนา จนล่าสุดเข้าตา ครม. สัญจร เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา

 

ดีอี ชูเป็นต้นแบบเกษตรอัจฉริยะ

          ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีกล่าวถึงโครงการ "พัฒนาพื้นที่เพื่อระบบนิเวศสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลเชียงใหม่ Smart Agriculture” ซึ่งตั้งอยู่ใน ‘ออนไอที วัลเลย์’ ว่าเป็นโครงการที่ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ได้แก่ สำนักส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และบริษัท โปรซอฟท์ โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการที่เป็น เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ และเกษตรกร ให้มีความรู้ ความสามารถในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อยกระดับสินค้าและบริการให้มีขีดความสามารถของการแข่งชันภายใต้สภาวะที่มีการแข่งขันสูง สามารถพึ่งพาตนเองและสร้างรายได้อย่างยั่งยืน เป็นรากฐานที่ต่อยอดสู่ความเป็น Smart City ของจังหวัดเชียงใหม่ต่อไปในอนาคต

\'ออนไอที วัลเลย์\' หุบเขาเกษตรอัจฉริยะแห่งล้านนา

 

          “ออนไอที วัลเลย์”นับเป็นชุมชนต้นแบบที่มีการผสมผสานเรื่องของไอทีเข้ากับวิถีในแบบล้านนาได้อย่างลงตัว ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะ สร้างสรรค์นวัตกรรมและพัฒนาให้กับ เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ และเกษตรกร และชุมชน ให้มีความรู้ นำเทคโนโลยีเข้าไปส่งเสริมการทำเกษตร สร้างรายได้อย่างยั่งยืน จึงเป็นต้นแบบการเกษตรอัจฉริยะ ที่ประสบความสำเร็จด้านเกษตรนวัตกรรมที่นำมาปฎิบัติได้จริงอย่างหลากหลาย”

          กิจกรรมด้านการเกษตรที่ปฎิบัติได้จริงภายในศูนย์ฯ “ออนไอที วัลเลย์” ต้นแบบการเกษตรอัจฉริยะนั้น มีการนำนวัตกรรมการเพาะปลูกข้าวสมัยใหม่แบบแม่นยำ เพื่อลดการใช้น้ำในการเพาะปลูกข้าวด้วยหลักการการแกล้งข้าว ประกอบด้วย การจัดทำโปรแกรมพัฒนาระบบ และแอพพลิเคชั่นต้นแบบ ระบบฟาร์มอัจฉริยะ (Smart Farming) สำหรับการปลูกข้าวอินทรีย์ ติดตั้งโครงข่ายอุปกรณ์ตรวจวัดปัจจัยสภาพอากาศ (Weather Station) แบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถตรวจวัดปัจจัยต่างๆในแปลงนาได้แบบ real-time และส่งข้อมูลผ่านระบบเครือข่าย โทรศัพท์ ซึ่งสามารถตรวจวัดปัจจัยสภาพอากาศได้ ประกอบด้วย อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์อากาศ ความเข้มแสงและชั่วโมงแสงแดด ปริมาณน้ำฝน ความเป็นกรดด่างของน้ำฝน ความเร็วลมและทิศทางลม เพื่อพัฒนาไปสู่การทำคลังข้อมูลสำหรับใช้ในการพยากรณ์สภาวะต่างๆ เช่น การเกิดโรคพืช เป็นต้น

 

\'ออนไอที วัลเลย์\' หุบเขาเกษตรอัจฉริยะแห่งล้านนา

 

          ในแปลงนาทดลองของโครงการ มีการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดระดับน้ำในนาข้าวแบบไร้สายในพื้นที่แปลงนาโดยเซ็นเซอร์เป็นแบบ Stand alone พร้อมแหล่งพลังงานงานได้เองจากพลังงานแสงอาทิตย์ รับ-ส่งข้อมูลด้วยสัญญาณวิทยุ (หรือเทียบเท่าในต้นทุนที่เท่ากัน) มายังอุปกรณ์ประมวลผลและควบคุมการเปิด-ปิดน้ำเข้าแปลงนาอัตโนมัติ ตลอดจนสามารถแสดงผลสถานการณ์ทำงานผ่านแอพพลิเคชั่นได้แบบ real-time ซึ่งอาศัยความสามารถของระบบเซ็นเซอร์เพื่อตรวจวัดระดับน้ำในนาข้าวแบบไร้สาย โดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เข้ามาสนับสนุนในรูปแบบ “Smart Farm” เป็นการพัฒนาทั้งในส่วนฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เพื่อเสริมศักยภาพให้กับอาชีพเกษตรกรรายย่อย เป็นเครื่องมือที่มีราคาถูก เกษตรกรสามารถเข้าถึงและเรียนรู้ได้ง่าย

 

ติดอาวุธไอทีให้‘คนตัวเล็ก’ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

          นายอภินันท์ ศิริโยธิพันธุ์ ประธานโครงการ ‘ออนไอที วัลเลย์’เล่าถึงแรงบันดาลใจในการทำโครงการนี้ว่า ทั้งตัวเขา และนายวิโรจน์ เย็นสวัสดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โปรซอฟท์ คอมเทค จำกัด ผู้ผลิตซอฟต์แวร์บัญชี และเจ้าของโครงการฯ ได้ทำงานกับสมาคมส่งเสริมเอสเอ็มอีไทย อีกทั้งผู้บริหารโปรซอฟท์ ยังเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภาคเหนือ ทำให้พบว่า เกษตรกรและผู้ประกอบการกลุ่มเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศไทย อีกทั้งมีจำนวนมาก ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงการอบรมในเชิงปฏิบัติการ เพื่อให้นำความรู้ไปสร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้จริง ในการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มมูลค่าผลผลิต-ผลิตภัณฑ์ สร้างความเข้มแข็ง สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

 

\'ออนไอที วัลเลย์\' หุบเขาเกษตรอัจฉริยะแห่งล้านนา

          “ทั้งสองกลุ่มนี้มีความสำคัญ เพราะเกษตรกรถือเป็นฟาก supply หลักของประเทศ ป้อนผลผลิตการเกษตรที่เป็นอาหารและผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นๆ ขณะที่ เอสเอ็มอี มีบทบาทช่วยกระจายสินค้า ช่วยให้เกษตรกรมีสินค้าที่มีประสิทธิภาพ เพิ่มมูลค่าผลผลิตผ่านการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ดังนั้น ถ้าเราสามารถทำให้ทั้ง 2 กลุ่มเติบโตได้ ก็จะกลายเป็นฐานสำคัญให้กับประเทศ”

          จึงเป็น “จุดเริ่มต้น” ชองการลงทุนจัดตั้งโครงการศูนย์เรียนรู้เชิงปฏิบัติการด้านไอทีให้กับเอสเอ็มอีและเกษตรกร ซึ่งออนไอที วัลเลย์ เกิดขึ้นด้วยการลงทุนโดยบริษัทภาคเอกชนล้วนๆ ภายใต้แนวคิดหลักคือ ก้าวสู่ Social Enterprise ด้วยหัวใจ “ร่วมแรงและแบ่งปัน” หนึ่งในความรู้เชิงปฏิบัติการที่สำคัญของศูนย์ฯ นี้คือ การอบรมและเสริมสร้างทักษะด้านการใช้ไอที ให้กับกลุ่มเกษตรกร และเอสเอ็มอี ซึ่งถือเป็น “คนตัวเล็ก” ของสังคมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในเชิงการประกอบการได้จริง เพราะมองว่า “ไอที” จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างทางรอด และพัฒนาศักยภาพให้กับทุกคนได้ในโลกยุคใหม่นี้

 

\'ออนไอที วัลเลย์\' หุบเขาเกษตรอัจฉริยะแห่งล้านนา

 

          ทั้งนี้ มีข้อมูลจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ระบุถึงจำนวนเกษตรกรในประเทศไทยว่า ครอบคลุมจำนวนครัวเรือนถึง 6.4 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นสมาชิกครัวเรือนเกษตรมากกว่า 15 ล้านคน ขณะที่ ตัวเลขจำนวนเอสเอ็มอีในประเทศไทย จากรายงานของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และข้อมูลสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม 2560 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ประเมินเอสเอ็มอีไทยไว้ที่กว่า 2.4 ล้านราย

          ประธานโครงการฯ กล่าวอีกว่า “เราเปิดกว้างให้เกษตรกร เอสเอ็มอี รวมทั้งสถาบันการศึกษาที่สนใจ รวมกลุ่มและติดต่อเข้ามาดูงาน โดยจะจัดวิทยากรอบรมทักษะความรู้ให้ตามความสนใจที่แต่ละกลุ่มแสดงความประสงค์เข้ามา เราได้รับความร่วมมือจากองค์กรที่เข้ามาสนับสนุน ได้แก่ การอบรมเกษตรอัจฉริยะ จะมีวิทยากรจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้, การตลาดออนไลน์ มีวิทยากรจากดีป้า, การใช้งานซอฟต์แวร์ระบบบัญชีออนไลน์ มีวิทยากรจากโปรซอฟท์ ของคุณวิโรจน์ ที่เชี่ยวชาญด้านนี้อยู่แล้ว เป็นต้น ซึ่งรูปแบบให้เข้ามาดูงานเป็นกลุ่ม จะช่วยเพิ่มความเข้มแข็งให้เกิดการรวมตัวของผู้ประกอบการรายเล็กๆ อีกทั้งเสริมสร้างให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือและแบ่งปัน ซึ่งเป็นแนวคิดหลักของการทำออนไอที วัลเลย์อีกด้วย”

 

\'ออนไอที วัลเลย์\' หุบเขาเกษตรอัจฉริยะแห่งล้านนา

 

คาดหวังเป็นต้นแบบบันดาลใจรัฐ-เอกชนขยายผลในจว.อื่นๆ

          เขายังพูดถึงความคาดหวังในระยะยาวว่า ต้องการให้ ‘ออนไอที วัลเลย์’ เป็นต้นแบบให้เกิดโครงการลักษณะนี้ในประเทศไทยหลายๆ จังหวัดต่อไป โดยยอมรับว่า คงเป็นไปไม่ได้ที่จะเห็นงบประมาณของรัฐบาลมาใช้กับการลงทุนลักษณะนี้ในทุกจังหวัด แต่โครงการนี้ สามารถเป็นแรงบันดาลใจ ให้เอกชนรายอื่นๆ ลงทุนริเริ่มโครงการ และอยากให้หน่วยงานรัฐมองเห็น และเข้ามาทำงานร่วมกัน เพื่อประโยชน์ของสังคม และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

 

\'ออนไอที วัลเลย์\' หุบเขาเกษตรอัจฉริยะแห่งล้านนา

 

          “เราสร้างระบบนิเวศน์ธุรกิจและสภาพแวดล้อมที่อยากเชิญชวนให้คนไอทีเข้ามาทำงานที่นี่ มีพื้นที่ Co-Working Space ที่ไม่จัดเก็บค่าเช่า ให้เขานำความรู้ไอทีมาแบ่งปันให้เกษตรกร และเอสเอ็มอีที่เข้ามาเรียนรู้ ล่าสุดยังมีการสอนการใช้โดรนเพื่อการฉีดพ่นปุ๋ยและสารป้องกันศัตรูพืชให้กับเกษตรกร ที่สำคัญไม่มีการใช้สารเคมีในการทำเกษตร ทุกอย่างมาจากกระบวนการผลิตที่เป็นชีวภาพ"

          ทั้งนี้ การฝึกอบรมเกษตรกรในการฝึกหัดการใช้ อากาศยานไร้คนขับเพื่อการเกษตร (UAV for Agriculture) เพื่อเป็นการสร้างความรู้เบื้องต้นให้เกษตรกรที่สนใจเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถช่วยลดปัญหาเรื่องแรงงานที่จะต้องใช้ในการฉีดพ่นยา ลดภาวะเจ็บป่วยจากการพ่นสารเคมีที่เสี่ยงอันตราย ช่วยประหยัดเวลาในการทำงานของเกษตรกร ช่วยประหยัดเรื่องสารเคมี ปุ๋ย ยา มีการอบรมไปแล้ว 1 รุ่น 30 รายและคาดว่าจะมีการขยายผลไม่น้อยกว่า 100 รายในปี 2562

 

\'ออนไอที วัลเลย์\' หุบเขาเกษตรอัจฉริยะแห่งล้านนา

 

          ปัจจุบัน ภายในพื้นที่ 100 ไร่ของโครงการ จัดสรรพื้นที่ดำเนินกิจกรรมต่างๆ เป็น 5 เฟส ได้แก่ เฟส 1 ซึ่งเป็นหัวใจหลัก ได้แก่ อาคารศูนย์เรียนรู้เชิงปฏิบัติการด้านไอทีให้กับเอสเอ็มอีและเกษตรกร และจัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นศูนย์บ่มเพาะเอสเอ็มอี เฟส 2 แปลงสาธิตวิถีเกษตรอินทรีย์ โดยมีมหาวิทยาลัยแม่โจ้เข้ามาให้การสนับสนุนด้านองค์ความรู้ เฟส 3 ร้านค้าออฟไลน์/ออนไลน์ และศูนย์กระจายสินค้า เน้นผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ มีร้านค้าต้นแบบชื่อว่า Pony Tales จำหน่ายผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ สินค้าแปรรูป ได้แก่ กาแฟจากพื้นที่เพาะปลูกในจ.เชียงใหม่ และเบเกอรี่เพื่อสุขภาพ เป็นต้น

          เฟส 4 โซนท่องเที่ยวในชื่อ Dutch Farm มีม้าแคระนำเข้าจากต่างประเทศ และสัตว์เลี้ยงหลากหลายสายพันธุ์ เลี้ยงอยู่ในพื้นที่เปิดให้คนเข้าไปใกล้ชิดได้ และเฟส 5 เป็นโครงการที่ต้องการสร้างให้เป็น ‘เมืองไอที วิถีล้านนา” เปิดพื้นที่ให้ชุมชนและเยาวชนเข้ามาทำกิจกรรมต่างๆ นำร่องด้วยกิจกรรมกีฬา และแนววัฒนธรรมท้องถิ่น