
ยุคแห่งความโง่เขลา
ยุคแห่งความโง่เขลา (The Age of Stupid) เป็นชื่อภาพยนตร์ที่จะถูกนำไปฉายต่อหน้าผู้นำโลกในการประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ค เดือนธันวาคมที่จะมาถึงนี้ เพื่อหวังกระตุ้นให้ผู้นำโลกตระหนักถึงภัยพิบัติของโลกร้อน
นักวิทยาศาสตร์คาดว่ามนุษย์มีเวลาอีกไม่กี่ปีจนถึง ปี 2015 อีก 6 ปี ในการร่วมมือกันเพื่อลดระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศให้ต่ำลงถึงระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ถ้าทำไม่ได้ สภาพการณ์ของโลกก็จะเป็นอย่างที่หนังเรื่องนี้ได้จำลองให้เห็น
ภาพยนตร์ ยุคแห่งความโง่เขลาบรรยายถึงโลกในปี 2055 คือโลกในอีก 46 ปีข้างหน้า ขณะนั้นผู้คนบนโลกอยู่กับความหนาวเย็น อดอยากยากแค้น ความสวยงามของธรรมชาติเป็นเพียงอดีตไปแล้ว สถานที่สำคัญของโลก เช่น ทัชมาฮาลในอินเดียกลายเป็นสุสานร้างท่ามกลางทะเลทราย โอเปร่าเฮ้าส์ในซิดนีย์อยู่กับกองเพลิงที่กำลังลุกไหม้แผดเผาประเทศออสเตรเลียอยู่ ชิงช้าสวรรค์ลอนดอนอายสัญลักษณ์ประเทศอังกฤษอยู่โผล่เหนือน้ำเพียงไม่กี่เมตร ชายวัยกลางคนที่เป็นพระเอกของเรื่องได้เข้ามาในพิพิธภัณฑ์ที่เก็บรวบรวมเรื่องราวของมนุษย์ในยุคต่างๆ ได้ย้อนรอยให้เราเห็นว่า มนุษย์เดินทางมาสู่โลกที่หนาวเย็นในปี 2055 ได้อย่างไร เริ่มต้นการเดินทางด้วยการฉายสถานการณ์โลกให้เราเห็นตั้งแต่ปี 2004 2005 2006 2007 2008 และ 2009
เหตุการณ์ต่างๆ ความขัดแย้ง สัญญาณเตือนภัยธรรมชาติทั้งเฮอริเคน แคทรีนาที่คร่าชีวิตชาวอเมริกันไปหลายพันคน คลื่นควานร้อนที่ทำให้คนในทวีปยุโรปตายไปเป็นเรือนหมื่น คลื่นยักษ์สึนามิปลิดชีวิตมนุษย์เป็นเรือนแสน พายุนาร์กีส อีกทั้งไฟป่าในออสเตรเลียที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ด้านหนึ่งธรรมชาติกำลังโหมกระหน่ำคร่าชีวิตผู้คน แต่ในอีกซีกโลกหนึ่งทางประเทศอินเดีย ผู้คนกำลังตื่นเต้นกับ “การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ” มีการขยายเส้นทางการบินขนานใหญ่ ในขณะที่อีกซีกโลกหนึ่งในประเทศแอฟริกาที่ผู้คนไร้ทางเลือกต้องจมกับชีวิตเสี่ยงท่ามกลางมลพิษ อันเกิดจากความไม่รับผิดชอบของอุตสาหกรรม
ภาพของหญิงชาวไนจีเรียที่ต้องล้างปลาที่เธอจับได้ด้วยผงซักฟอกโอโม่ก่อนเอามาทำเป็นอาหารมื้อเย็นเพราะปลานั้นปนเปื้อนคราบน้ำมัน ภาพท่อน้ำมันขนาดใหญ่หลายร้อยท่อที่ไม่มีการผลิตน้ำมันแล้ว แต่กำลังเผาไหม้น้ำมันเป็นเปลวไฟพวยพุ่งส่งควันพิษขึ้นในชั้นบรรยากาศโลกตลอด 24 ชั่วโมงไม่มีวันหยุด ส่งคลื่นความร้อนไปซ้ำเติมภาวะเรือนกระจก
เมื่อถูกทวงถามว่าทำไมไม่แก้ปัญหา หรือปิดท่อน้ำมันนี้เสีย คำตอบที่ได้รับจากบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่เจ้าของสัมปทาน ว่า “ค่าใช้จ่ายมากเกินไป ไม่คุ้ม” รัฐบาลไนจีเรียก็อ่อนแอเกินไปที่จะจัดการปัญหา หรืออีกนัยหนึ่ง ผู้นำรัฐบาลอาจมีส่วนซูเอี๋ยกับบริษัทน้ำมันข้ามชาติรายนี้จนไม่สนใจความเดือดร้อนของประชาชน ไม่สนใจว่าสิ่งแวดล้อมจะกระทบอย่างไร ซึ่งก็ดูจะเป็นเรื่องปกติของผู้นำประเทศโลกที่สามในปัจจุบัน
ภาพทั้งหมดสะท้อน ความเห็นแก่ตัว ความโลภ และ ความไม่ใส่ใจของมนุษย์ในยุคนี้ และนี่คือคำตอบว่าโลกเดินทางมาสู่ความวิบัติในปี 2055 ได้อย่างไร
“น่าเสียดายที่เรามีโอกาสช่วยตัวเอง ให้รอดจากภัยพิบัติ แต่เราไม่ได้ทำ” นี่คือประโยคปิดท้ายของคนในปี 2055 ที่พูดกับคนดูหนังในปี 2009 ไม่รู้ว่าคนในปี 2009 ที่กำลังดำเนินชีวิตอยู่ใน ยุคแห่งความโง่เขลา จะสำเหนียกและลุกขึ้นมาช่วยตัวเองให้รอดพ้นจากภัยพิบัติได้หรือเปล่า!
"อาจารย์ยักษ์ ณ มหา’ลัยคอกหมู"