จุดเช็กอินใหม่-เรียนรู้วิถีพื้นบ้านแบบเรียบง่าย
พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ
แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ในจังหวัดที่ 77 ของประเทศไทย ที่จะชวนคุณมาเช็กอิน พร้อมซึมซับวิถีชีวิตแบบชาวบ้านสมัยก่อนที่เรียบง่ายแบบมีสไตล์ นั่นก็คือ พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ พิพิธภัณฑ์นี้ตั้งอยู่ที่ หมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่ ต.หนองพันทา อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ หมู่บ้านเล็กๆ 50 ครัวเรือนที่เงียบสงบ โดยบ้านเรือนไทยอีสานหลังนี้เป็นบ้านของครอบครัวนักออกแบบภาพลักษณ์อาหารและการเกษตร เจ้าของ Karb Studio “ขาบ” สุทธิพงษ์ สุริยะ ด้วยความมุ่งหมายให้เยาวชนและเด็กๆ รุ่นใหม่ได้เรียนรู้วิถีชีวิตที่เรียบง่ายของครอบครัวชาวอีสานในสมัยก่อน ผ่านข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องจักสาน เครื่องครัว และเครื่องแต่งกาย รวมทั้งการสร้างรายได้ที่ยั่งยืนเข้าสู่ชุมชนผ่านการท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรมในวิถีพื้นบ้าน จึงตัดสินใจนำบ้านเรือนไทยอีสานหลังนี้ มาปรับปรุงให้เป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต
เรือนไม้อีสานเก่าแก่อายุกว่า 60 ปี
ครัวอีสานแบบดั้งเดิม
สุทธิพงษ์ สุริยะ เล่าว่า พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิตแห่งนี้ ได้นำศิลปะเข้ามาจัดการอย่างมีระบบ เพื่อให้เข้ากับวิถีเกษตรชุมชน ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้คนมาเจอกันและมีรายได้เกื้อกูลกัน มีการเปิดตลาดเพื่อจำหน่ายสินค้าเกษตรของชุมชน จุดเด่นของที่นี่ คือ “ศิลปะ” โดยนำแนวคิดการออกแบบร่วมสมัยเข้ามาผสมผสานให้ดูสวยงามและมีอัตลักษณ์ของชุมชน ทำให้เกิดชุมชนเกื้อกูล บอกเล่าเรื่องวิถีความเป็นอยู่ดั้งเดิมให้คนอยู่ใกล้ชิดและอบอุ่นกัน โดยมีแนวทางเกษตรเป็นตัวเชื่อมทำให้เกิดความยั่งยืน มีการเปิดตลาดเพื่อจำหน่ายสินค้าเกษตรของชุมชน ภายในมีพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ โดยแบ่งออกเป็น 3 โซน คือ
พิธีบายศรีสู่ขวัญตามแบบฉบับอีสานสไตล์
โซน “พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต” เรือนไม้อีสานเก่าแก่อายุกว่า 60 ปี ที่นับวันจะหายไปตามกาลเวลา ลักษณะโดยทั่วไปของบ้านอีสานจะมีระเบียงกว้างไว้สำหรับทำกิจกรรมส่วนรวม เมื่อเปิดประตูเข้าไปข้างในบ้าน จะมีห้องโถงกลางใหญ่ แบ่งเป็นห้องปีกซ้ายและปีกขวา ที่พิพิธภัณฑ์นี้ได้รับการปรับปรุงโดยนำดีไซน์ที่อิงธรรมชาติเข้ามาใช้ แต่ละห้องประดับประดาด้วยภาพขาวดำของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ทรงมีต่อประชาชนชาวอีสานและชาวไทยทั้งปวง นอกจากนี้ตามมุมห้องจะจัดแสดงและตกแต่งด้วยผ้าซิ่นไหมของบรรพบุรุษที่คนอีสาน ส่วนอีกฝั่งของบ้านพื้นที่เชื่อมติดกันเป็นครัวอีสานแบบสมัยก่อน มีข้าวของในครัวที่เคยใช้งานจริงจัดแสดงให้ดู ส่วนอีกฟากด้านหลังของห้องครัวได้ปรับเป็นมุมรับแขกโทนสีขาวเขียวและน้ำตาล ฉากแผ่นไม้สีน้ำตาลที่ผ่านการใช้งานมานาน ตัดกับสีเขียวของข้าวของที่ตกแต่งสมัยใหม่ เป็นการผสมผสานที่แตกต่างแต่ลงตัว ในตัวบ้านสมัยก่อนจะมีบายศรีซึ่งทำจากใบตองและตกแต่งด้วยดอกดาวเรืองและดอกพุดตูมสีขาว ซึ่งเป็นดอกไม้ที่คนอีสานนำไปไหว้พระและกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์...โซนนี้เก็บค่าเข้าชม 50 บาท ต่อคน สำหรับเป็นค่าบำรุงรักษา
หลากกิจกรรมในลานอเนกประสงค์
ในบริเวณพื้นที่โดยรอบของพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วยโซนต่างๆ อาทิ “กรีน แอคทิวิตี้” ลานอเนกประสงค์ติดกับพิพิธภัณฑ์มุ่งเน้นในเชิงบูรณาการชุมชุมให้ยั่งยืนในการสร้างอาชีพ โดยการสร้างเครือข่ายกับมหาวิทยาลัยและบุคลากรในสาขาต่างๆ หมุนเวียนมาสร้างองค์ความรู้และคำแนะนำให้กับชุมชน นอกจากนี้สถานที่แห่งนี้ยังถูกปรับเป็น ห้องจัดประชุม งานสัมมนาแบบนอกสถานที่ให้กับผู้สนใจทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่ต้องการฉีกรูปแบบการประชุมไปจากโรงแรม รูปแบบอาหารเดิมๆ เพื่อก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนเข้าสู่ชุมชน
ผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่นของตระกูลใส่เสื้อสีขาวในตลาดชุมชนพอเพียง
“ตลาดชุมชนพอเพียง” เน้นส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยทุกอำเภอในจังหวัดบึงกาฬ นำวัตถุดิบท้องถิ่น พืชผักพื้นบ้าน อาหารการกิน งานหัตถกรรม เครื่องจักสาน มาวางจำหน่ายโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ไฮไลท์คือการแต่งกายสำหรับผู้ซื้อและผู้ขาย ช่วยกันรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสาน ธีมเข้าวัดเข้าวา ผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่นของตระกูลใส่เสื้อสีขาว ผู้ชายนุ่งโสร่งใส่เสื้อสีขาว นุ่งกางเกงใส่เสื้อสีขาวมีผ้าขาวม้ามัดเอว โดยตลาดจะเปิดให้บริการฟรี ทุกวันเสาร์ และวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 13.00-17.00 น.
มุมนี้เพื่อนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบวาดรูป
“พื้นที่ศิลปะและชมดอกไม้ริมทุ่ง” สำหรับสร้างจินตนาการให้กับนักท่องเที่ยวที่อยากจะมาเดินเล่นดูทุ่งดอกไม้ที่เปลี่ยนไปตามฤดูกาล เหมาะสำหรับนักปั่นจักรยานมาปั่นเล่นริมท้องทุ่งแวะอาบน้ำท่ามกลางธรรมชาติใต้สวนยางพารา ขณะเดียวกันในลานมีภาพวาดศิลปะแนวธรรมชาติกระจายอยู่ทั่วไป ซึ่งนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบวาดรูป มักจะมานั่งวาดภาพตอนเย็นๆ บนขอนไม้สีเขียวสัญลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์
กิจกรรมตักบาตรยามเช้า
โซน “พิพิธภัณฑ์วัด พุทธหัตถศิลป์” วัดเล็กๆ ในชุมชน มีพระจำพรรษาเพียง 4 รูป ทุกเช้าจะมีนักท่องเที่ยวที่มาพักโฮมสเตย์ลุกขึ้นมาตักบาตร ทำตัวกลมกลืนกับชุมชนและเดินตามพระเข้าวัด ไปสำรวจว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งในวัดก็จะมีพระประธานที่ชาวบ้านกราบไหว้ ที่นี่ชาวชุมชนพร้อมใจกันกราบไหว้พระด้วยหมากเบ็ง หรือบายศรีขนาดเล็กๆ ที่ทำจากใบตองธรรมชาติเท่ากำปั้น เป็นงานฝีมือของหลวงปู่และผู้สูงวัยช่วยกันทำ เมื่อมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมสนใจอยากไหว้พระก็ไหว้ด้วยหมากเบ็งดอกพุดแบบเรียบง่าย ไม่ต้องจุดธูปเทียนก่อให้เกิดมลพิษได้ และรายได้ก็หมุนกลับมาช่วยชุมชน
มุมถ่ายรูปเช็คอินเก๋ๆ ภายในชุมชน
พญานาคสีสันสดใสตามฝาบ้านทั่วชุมชน
และโซน “เช็กอินภาพวาดเขียนสีพญานาคกับอาชีพชุมชน” จากหมู่บ้านที่ไม่มีผู้คนมาเยี่ยมเยียนเพราะไม่มีอะไรดึงดูด หลังจากที่มีภาพวาดพญานาคจุดเช็กอิน 22 จุด ทั่วหมู่บ้าน ทำให้เกิดความสนุกและเด็กๆ มีชีวิตสดใส ผู้คนจากต่างถิ่นเดินทางมาชมและได้พูดคุยกับชาวบ้าน ทำให้เกิดความคุ้นเคยกัน โดยแนวคิดภาพวาดพญานาคเกิดจากความร่วมมือระหว่าง พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ กับ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จัดทำโครงการ “วาดบ้านแปลงเมือง” ขึ้นโดยทำการลงพื้นที่สำรวจอาชีพ ความสนใจและสิ่งที่ชาวบ้านต้องการจริงๆ ซึ่งทั้งชุมชนมีความเชื่อและศรัทธาพญานาค ภาพวาดเขียนสีพญานาคกับอาชีพหรือความสนใจจึงเกิดขึ้นกระจายตามฝาบ้านแต่ละหลังทั่วทั้งชุมชนกว่า 20 ภาพ อาทิ ภาพพญานาคตัดผม อาชีพเจ้าของบ้านคือช่างตัดผม ภาพพญานาครดน้ำต้นไม้ อาชีพเจ้าของบ้านคือทำสวนเกษตร ภาพพญานาคขับรถไถนา อาชีพเจ้าของบ้านมีรถไถนารับจ้าง เป็นต้น