ละครเวทีสะท้อนการศึกษาไทยเตรียมเด็กไทยรับ"แอดมิชชั่น"
โดย... ปาริชาติ บุญเอก [email protected]
โรงเรียนสาธิตพัฒนาเตรียมจัดละครเวทีครั้งแรก Youthful Dreams ความฝันแห่งวัย เนื้อหาสะท้อนระบบการศึกษาไทย หวังชี้ทางป้องกันเด็กเครียดจากระบบแอดมิชชั่น ด้วยหลักสูตรการเรียนการสอนทำให้เด็กค้นพบตนเอง ตอกย้ำสังคมเด็กเล็กต้องเรียนรู้ผ่านการเล่น รวมพลังนักเรียนเตรียมอนุบาลถึง ม.6 นับพันคนทำละครฝึกทักษะชีวิต
รศ.ลัดดา ภู่เกียรติ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตพัฒนา กล่าวว่า โรงเรียนสาธิตพัฒนาร่วมกับสมาคมผู้ปกครองและครู โรงเรียนสาธิตพัฒนา จัดละครเวทีที่จะชวนผู้ปกครองมาสำรวจระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันที่ใช้เกณฑ์เดียวเพื่อตัดสินเด็กทุกคนนั้นว่า เหมาะสมหรือไม่ และส่งผลอย่างไรต่อทิศทางของชาติ เมื่อที่จริงเราต้องการบุคลากรที่พร้อมไปด้วยทักษะที่แตกต่างตามความถนัดของตนเองและความหลากหลายทางวิชาชีพ ละครเวทีเรื่องนี้จะให้คำตอบว่าความเครียดจากสอบเข้ามหาวิทยาลัยมีทางออกได้จากหลักสูตรและรูปแบบการเรียนรู้แบบใดที่จะทำให้เด็กๆ สามารถค้นพบความถนัดของตนเอง
รศ.ลัดดา ภู่เกียรติ
“ละครดำเนินเรื่องโดยใช้แนวคิดการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนสาธิตพัฒนา เริ่มตั้งแต่ในเด็กเล็ก การเรียนรู้ผ่านการเล่น เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับวัยของเขา ที่ต้องสนุกสนาน จัดกิจกรรมบูรณาการความรู้และทักษะต่างๆ พอเริ่มโตขึ้นรูปแบบการเรียนรู้จะต้องมีหลากหลายให้เด็กๆ ได้เลือก ลองผิด ลองถูก เพื่อค้นหาความชอบของตนเอง พอทราบแล้วเด็กจะเริ่มโฟกัสในสิ่งตนเองสนใจมากขึ้น เมื่อเด็กมีความชัดเจนแล้วก็จะสามารถเดินไปถึงเป้าหมายได้เร็วกว่าเด็กที่ยังไม่รู้จักตนเอง ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดผ่านละครเรื่องนี้” รศ.ลัดดา กล่าว
ว่ากันเป็นครั้งแรกของโรงเรียนที่เด็กสาธิตพัฒนาทุกคนมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะอยู่ในส่วนเบื้องหน้าหรือเบื้องหลัง เด็กจะได้เรียนรู้หมดทุกคน ละครเวทีเรื่องนี้จึงเป็นโอกาสดีที่เด็กทุกคนจะได้ฝึกทักษะด้านต่างๆ ในงานใหญ่ระดับนี้ ซึ่งหาโอกาสได้ไม่ง่ายนัก ไม่ว่าจะเป็นการทำงานร่วมกับผู้อื่น การทำงานเป็นทีมที่ประกอบไปด้วยทักษะความรู้ในอาชีพหลายด้าน ทั้งการทำพร็อพ การทำเครื่องแต่งกายนักแสดง ทำฉาก ถ่ายภาพ การจัดการร้านค้า ไปจนถึงนักแสดงที่เราได้ทีมผู้กำกับและครูฝีมือดีระดับประเทศมาออดิชั่นและฝึกซ้อม ทั้งหมดเป็นเหมือนเหตุการณ์จำลองให้เด็กๆ ได้สัมผัสและทดลองทำอาชีพที่สนใจ ซึ่งสามารถพัฒนาไปสู่อาชีพที่ต้องการในอนาคตได้
จันทิมา กำปั่นทอง นายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสาธิตพัฒนา เสริมว่าปีนี้โรงเรียนมีการจดทะเบียนสมาคมผู้ปกครองฯ ขึ้นเป็นครั้งแรก จึงมีการคุยกันในสมาคม และปรึกษาผู้อำนวยการโรงเรียนถึงความต้องการจัดกิจกรรมให้แก่เด็กๆ จึงได้รับโจทย์มาเป็นละครเวที ซึ่งทางสมาคมเห็นว่าเป็นกิจกรรมที่ทุกส่วนจะได้ทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น ผู้ปกครอง ครู และเด็กๆ เองก็ได้เรียนรู้ ได้ประสบการณ์ จึงกลับมาคิดกันเรื่องธีมละคร และออกมาเป็นละครเวทีสะท้อนสังคมเรื่องนี้
จันทิมา กำปั่นทอง
“การทำละครเวที เป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างบ้านและโรงเรียน ยังมีประเด็นที่เป็นการให้ข้อมูลผู้ปกครองหรือคนในสังคมเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาได้ ซึ่งตอนนี้มีการพูดกันเยอะว่าระบบการศึกษาไทยทำร้ายเด็ก และ เราเห็นว่าแนวทางการสอนของโรงเรียนเด็กเล็กได้เรียนอย่างมีความสุข และรูปแบบการสอนหลากหลายทำให้เด็กค้นพบตัวตนคือคำตอบ เพราะเมื่อเด็กเรียนไปถึงระดับชั้นที่สูงขึ้นจะเริ่มรู้แล้วว่าอยากเป็นอะไร จะเรียนทางไหน พอถึงเวลาสอบแอดมิชชั่นก็จะมุ่งมั่นไปในทิศทางของตนเอง
ไม่ใช่พยายามสอบหลายๆ คณะเพื่อให้สอบติดจนกลายเป็นความเครียดและโทษระบบ” จันทิมา กล่าว
ขณะที่ วิทยา อภินันท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารการตลาดศูนย์การค้า แฟชั่น
วิทยา อภินันท์
ไอส์แลนด์ กล่าวว่า ในฐานะผู้ปกครองเห็นว่าการจัดการแสดงละครเวที ที่โรงเรียนจัดขึ้นครั้งนี้เป็นกิจกรรมที่ดี โดยเฉพาะเด็กๆ ได้เล่นละครเกือบทั้งโรงเรียนบน
เวทีใหญ่ เด็กบางคนได้ทำงานเบื้องหลัง ทำโปรดักชั่น เชื่อว่าเป็นครั้งหนึ่งในชีวิตที่ทุกคนจะได้รับประสบการณ์ที่ดี และไอส์แลนด์ ฮอลล์ ศูนย์การค้าแฟชั่น ไอส์แลนด์ เป็นสถานที่ที่เหมาะสม สามารถรองรับการจัดการแสดงได้เป็นอย่างดี และอยู่ไม่ไกลจากโรงเรียน
ด้านทีมกำกับและผู้ฝึกซ้อม น้ำมนต์ จ้อยรักษา ผู้กำกับการแสดง กล่าวว่า เป็นความท้าทายของทีมที่ได้รับโจทย์จากโรงเรียนในการทำละครเวทีที่ต้องฝึกซ้อมเด็กๆ เป็นจำนวนมาก และยังมีช่วงวัยที่หลากหลายตั้งแต่อายุประมาณ 3–18 ปี การทำงานของทีมจะเป็นการพบกับครึ่งทางระหว่างครูกับเด็กๆ ที่เป็นนักแสดง คือครูจะเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้สร้างสรรค์มุก และออกแบบท่าเต้น ซึ่งค้นพบว่าเด็กๆ มีความน่าสนใจ มีศักยภาพที่สามารถพัฒนาได้ ละครเรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องแค่ให้เด็กๆ ได้มาทำกิจกรรมสนุกสนานแต่ยังได้แสดงออกและค้นพบตัวตนด้วย
"จากที่ได้สัมผัสเด็กๆ ตั้งแต่ออดิชั่นจนมาถึงช่วงฝึกซ้อม พบว่าเด็กแต่ละคนมีความสามารถที่แตกต่างกัน โดดเด่นทั้งเรื่อง การ ร้อง การเต้น และการแสดง และมีศักยภาพที่สามารถพัฒนาได้ ซึ่งประโยชน์ที่เด็กๆ ทุกคนได้เลยคือการได้ฝึกสมาธิ ฝึกการแสดง การเต้น การใช้เสียง การพูด และความกล้าแสดงออก อยากให้ทุกคนได้มาดูความตั้งใจของเด็กๆ ทุกคน และอาจพบความสามารถที่ซ่อนอยู่ก็เป็นได้" น้ำมนต์ กล่าว
ด.ญ.วาดตะวัน รัตนเชษฐากุล หรือ เมจิ นักเรียนชั้น ม.4 รับบทเป็นสุดสาคร เล่าว่า การซ้อมละครทำให้ได้เจอกับรุ่นพี่รุ่นน้อง ทีมผู้กำกับและคุณครูที่มาฝึกซ้อมให้มีความเป็นมืออาชีพมากๆ ช่วยสอนเทคนิคการแสดงต่างๆ เช่น การพูด การสื่อความรู้สึกจากภายใน การสะท้อนอารมณ์ ภาพลักษณ์ การถ่ายทอดอารมณ์ไปถึงคู่แสดง ฯลฯ ทำให้สามารถกลับไปพัฒนาทักษะการแสดงต่อได้ และยังฝึกให้เป็นคนมีวินัยมากขึ้น เพราะต้องมาซ้อมละครให้ตรงเวลาทุกครั้ง
ด.ญ.วาดตะวัน รัตนเชษฐากุล
“สนใจอาชีพในวงการบันเทิงอยู่แล้ว การที่ได้มาร่วมแสดง มาซ้อมละคร ได้เรียนรู้ทักษะต่างๆ กับครูมืออาชีพ ทำให้รู้สึกว่าเราก็สามารถทำได้นะ ครูได้ให้คำปรึกษาด้วยว่าถ้าอยากเข้าวงการบันเทิง มีแคสติ้งงานที่ไหนบ้าง ต้องทำอย่างไร ทำให้มีแรงบันดาลใจและรู้สึกมั่นใจมากขึ้นว่าเราสามารถทำได้”
ร่วมให้กำลังใจเด็กๆ และเรียนรู้ไปพร้อมกัน ใน “Youthful Dreams ความฝันแห่งวัย” ละครเวทีสะท้อนสังคม วันที่ 9 กุมภาพันธ์ ณ ไอส์แลนด์ฮอลล์ ชั้น 3 ศูนย์การค้าแฟชั่น ไอส์แลนด์ รอบ 12.00 น. และ 14.30 น. สอบถามได้ที่ห้องสมาคมผู้ปกครองฯ ชั้น 2 ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โรงเรียนสาธิตพัฒนา โทร.09-8904-9808 วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-16.00 น.