"มีลูกยาก"ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
คู่สามีภรรยาที่มีเพศสัมพันธ์กันตามปกติสัปดาห์ละ 2-3 วัน โดยไม่ได้คุมกำเนิดจะมีการตั้งครรภ์ 50 เปอร์เซ็นต์
อยากมีลูกไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป!! ถ้าใช้วิธีธรรมชาติไม่สำเร็จ ควรจูงมือกันไปพบแพทย์ หรือปรึกษาศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าและทันสมัย ช่วยเข้ามาเติมเต็มความสมบูรณ์ของครอบครัวยุคใหม่ได้
อย่างที่ ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากโรงพยาบาลวิภาวดี พญ.อัญชุลี พฤฒิวรนันทน์ สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากและผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช เผยว่า ปัจจุบันในบรรดาคู่สามีภรรยาทั้งหลายจะมีปัญหามีบุตรยากประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ในที่นี้หมายความว่ามีโอกาสมีบุตรน้อยกว่าปกติหรือช้ากว่าปกติ
พญ.อัญชุลี พฤฒิวรนันทน์ ให้คำปรึกษาคู่สมรส
“เราพบว่าคู่สามีภรรยาที่มีเพศสัมพันธ์กันตามปกติสัปดาห์ละอย่างน้อย 2-3 วัน โดยไม่ได้คุมกำเนิดจะมีการตั้งครรภ์ 50 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 5 เดือนและการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นเป็น 80-90 เปอร์เซ็นต์ ในเวลา 1 ปีส่วนที่เหลือจะมีโอกาสตั้งครรภ์น้อยลงและจัดอยู่ในกลุ่มภาวะมีบุตรยาก สำหรับปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากเกิดจากผู้หญิงร้อยละ 40 ผู้ชายร้อยละ 40 ร้อยละ 10 เจอทั้งคู่ และอีกร้อยละ 10 ไม่ทราบสาเหตุ โดยคนไข้ที่เข้ามาปรึกษาที่พบบ่อยได้แก่ กลุ่มผู้หญิงที่มีอายุเกิน 35 ปี และมีความกังวลนอก จากนี้ยังพบว่ากลุ่มผู้หญิงที่เป็นช็อกโกแลตซีสต์ ฮอร์โมนผิดปกติที่มีภาวะทำให้ไข่ไม่ตกก็เสี่ยงในการมีบุตรยากเช่นกัน แต่สำหรับผู้ชายไม่ค่อยมีใครรู้มาก่อนและไม่พบปัญหา นอกเสียจากว่าต้องตรวจน้ำเชื้อเพื่อหาความผิดปกติ” พญ.อัญชุลี กล่าว
มดลูก
ส่วนขั้นตอนการรักษานั้น พญ.อัญชุลี เล่าต่อว่าต้องตรวจเลือดทั้งผู้ชายและผู้หญิงดูเรื่องความเข้มข้นเลือด เม็ดเลือดมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องพันธุกรรม โรคธาลัสซีเมียหรือไม่ ตรวจความเข้มข้นของเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง เกล็ดเลือด ตรวจเรื่องของซิฟิลิส เอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี ตรวจกรุ๊ปเลือดว่ามีความเสี่ยงตอนตั้งครรภ์หรือไม่ ตรวจภูมิคุ้มกันหัดเยอรมัน ส่วนผู้ชาย นอกจากมีปัญหาเรื่องน้ำเชื้อผิดปกติก็ต้องไปตรวจฮอร์โมน แต่น้อยมากส่วนของผู้หญิงที่ตรวจเพิ่มคือ ตรวจฮอร์โมนการทำงานของรังไข่
การตรวจอัลตร้าซาวด์
ถ้าเจอความผิดปกติที่สงสัยเรื่องต่อมไร้ท่ออื่นๆที่เกี่ยวข้องกับรังไข่ ก็ต้องมีการตรวจฮอร์โมนต่อมไร้ท่อนั้นๆ ด้วย ของผู้หญิงจะมีตรวจภายใน เช็คมะเร็งปากมดลูก ตรวจอัลตร้าซาวด์ดูมดลูก รังไข่ หลังตรวจเสร็จก็ประเมินว่าสาเหตุเกิดจากอะไร แก้ไขตามสาเหตุ ถ้าบางคนเจอโรคก็รักษาโรคก่อน ถ้าบางคนทำได้เลยก็มีตั้งแต่ นับวันตกไข่ให้ อาจต้องใช้ยากระตุ้นไข่ช่วย บางคนก็อาจจะต้องใช้เทคโนโลยี มีตั้งแต่ฉีดเชื้อผสมเทียม และทำเด็กหลอดแก้ว
การทำเด็กหลอดแก้ว
ถ้าพบคนไข้คู่ที่มีปัจจัยเสี่ยงเยอะและไม่น่าจะตั้งครรภ์ง่าย ก็อาจจะข้ามมาเป็นเด็กหลอดแก้ว ซึ่งปัจจุบันมีคนไข้ที่เลือกการรักษาด้วยวิธีนี้เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ บางคนมาพบแพทย์บอกว่าอยากมีลูกแฝดคือ ท้องทีเดียวให้คุ้มไปเลย ตรงนี้แพทย์คงไม่สามารถที่จะทำให้ได้ เพราะจริงๆ แล้วการท้องลูกแฝดถือเป็นการตั้งครรภ์เสี่ยงในรูปแบบหนึ่ง ในการใช้เทคโนโลยีช่วยเรื่องการมีบุตรยากหลักๆ ยังคงเป็นการทำเด็กหลอดแก้ว โดยการย้ายตัวอ่อน กลับเข้าไปในโพรงมดลูก ซึ่งมีเพียง 2-3 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นที่จะได้ลูกแฝด 2 คน และมีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่จะมีแฝดเกินกว่า 2 คน
การย้ายตัวอ่อนทำผ่านอัลตราซาวด์ดูโพรงมดลูกและย้ายเข้าตำแหน่งที่พร้อมฝังตัว
การทำเด็กหลอดแก้วไม่ว่าจะด้วยวิธีใดต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ชัดเจนว่า มีภาวะของการมีบุตรยากด้วยปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งจึงจะทำได้ ในยุโรปมีกฎชัดเจนว่า ห้ามย้ายตัวอ่อนเกินกว่า 2 ตัวอ่อน ส่วนในเอเชียไม่มีกฎตายตัว ส่วนใหญ่เป็นการย้ายตัวอ่อนในระยะวันที่ 3 ถึงวันที่ 5 ใส่เข้าไปในโพรงมดลูก ซึ่งโอกาสที่จะตั้งครรภ์มีประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ หลายคนจึงต้องทำอยู่หลายครั้งจึงประสบความสำเร็จ